เรื่อง : 10วิธีแก้เด็กติดเกม "พ่อแม่"กุญแจสำคัญ

 

เรื่อง : 10วิธีแก้เด็กติดเกม "พ่อแม่"กุญแจสำคัญ สถานการณ์เด็กติดเกมเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายๆ ครอบครัวกำลังเผชิญ ทางชมรมครอบครัว มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กจึงจัดกิจกรรม "ค่ายครอบครัวสุขสันต์ รู้เท่าทันเกม" เพื่อหาทางให้พ่อแม่เข้าใจและร่วมหาวิธีการจัดสรรเวลาที่เหมาะสมในการเล่นเกมให้กับเด็ก ในช่วงเวลา 2 วัน 1 คืน ระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค. 2550 ที่แสนปาล์ม เทรนนิ่งโฮม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยเชิญวิทยากรผู้ประสบการณ์ในการที่มีเด็กที่สนใจเล่นเกมหรือคลั่งไคล้การเล่นเกมอย่างมาก จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และทีมงานมูลนิธิ

ผู้ที่มีบุตรหลานอายุระหว่าง 9-15 ปี ที่กำลังเผชิญปัญหาลูกติดเกม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ชมรมครอบครัว มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร.0-2412-0738, 0-2412-9834

ในเบื้องต้น น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ ติดเกม เนื่องมาจากประเด็นหลักๆ ดังนี้

- ครอบครัว การเลี้ยงดู มีเวลาให้กันน้อยลง เวลาเด็กอยากได้อะไรพ่อแม่ก็ให้เพื่อเป็นการทดแทนที่ไม่มีเวลาให้ ซึ่งพบได้ในครอบครัวทั่วไป หรือที่รุนแรงกว่านั้นคือครอบครัวที่มีความขัดแย้ง เด็กเห็นแม่ถูกตวาด เห็นพ่อเมาเหล้า ทำให้เด็กรู้สึกว่าชีวิตของตนเองไม่มั่นคงหรือสั่นคลอน

อีกประการคือ เด็กๆ ทุกคนต้องการความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเป็นความรู้สึกว่าตัวเองมีอะไรดี แต่ถ้าเด็กรู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะอวดตัวเองกับคนอื่น เด็กจะไปสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ซิ่งมอเตอร์ไซค์ ยกพวกตีกัน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เพื่อให้เพื่อนยอมรับ การสร้างให้เด็กมองตัวเองในมุมดีจึงเป็นเรื่องจำเป็น

- เกมทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเก่ง ชนะก็ได้คะแนนเพิ่ม ให้รางวัลกับเด็กตลอดเวลา จนทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองดีและแสวงหาสิ่งเหล่านั้นจากเกม

- การศึกษา ในปัจจุบันการเรียนมีการแข่งขันสูงมาก ในห้องหนึ่งจะมีเด็กที่ได้ที่หนึ่งเพียงคนเดียว ท่ามกลางเด็กที่เป็นผู้แพ้ถึง 50 คน ระบบแข่งขันที่เป็นพีระมิดจะทำให้เกิดผู้แพ้ขึ้นเรื่อยๆ หากระบบการศึกษาเพิ่มเติมให้เด็กค้นพบความถนัดในตัวเอง เพราะคนทุกคนมีของดีบางอย่างอยู่ในตัวเอง ถ้าค้นพบแล้วภูมิใจในตรงนั้นควบคู่ไปกับการเรียน เรียนดีก็ยิ่งดี แต่ถ้าเรียนไม่ดีอย่างน้อยเด็กก็ยังได้มีความภาคภูมิใจบางอย่าง เมื่อพลังใจดีเด็กก็จะดึงพลังกายและพลังสมองออกมาใช้เต็มที่

- ชุมชน ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านเกมเกิดขึ้นมากมาย แต่ชุมชนจัดการอะไรไม่ได้

- สังคม วัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมหรือการมีเงินจำนวนมาก ไม่รู้สึกภาคภูมิใจกับคุณธรรมจริยธรรมภายใน ถ้าเด็กมีความภาคภูมิใจกับคุณธรรมภายในใจ เด็กจะไม่แกว่งง่าย ไม่ว่าเพื่อนจะมาชวนไปลองสูบบุหรี่ กินเหล้า ซิ่งรถ หรือเล่นเกมก็ตาม เพราะเด็กจะรู้ว่าคุณค่าของเขายังอยู่ แม้ว่าเขาจะไม่ทำตามที่เพื่อนชวนก็ตาม

- เกมและอินเตอร์เน็ต ยั่วยวนเข้าถึงง่าย เพราะตัวเกมพัฒนาและวิจัยให้ตรงกับความชื่นชอบของเด็ก ไม่ว่าจะภาพ กติกา ของรางวัล ผู้ผลิตจะวิจัยตลอดเวลา

เมื่อเด็กแสวงหาความภาคภูมิใจและการยอมรับ โดยใช้เกมเป็นเครื่องมือ หากไม่มีการดูแล จนทำให้การเล่นเกมเมื่อครั้งเริ่มต้นเพียงแค่การผ่อนคลาย กลายเป็นการหลงใหล จนทำให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น ขาดความรับผิดชอบต่อการเรียน หากพ่อแม่ไม่เข้าใจใช้วิธีการรุนแรงในการแก้ไขปัญหาอาจทำให้บรรยากาศภายในบ้านเต็มไปด้วยความทุกข์ ความเครียด

ดังนั้น ครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง ถือเป็นบุคคลสำคัญและมีบทบาทอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็ก น.พ.บัณฑิตให้ข้อคิดหรือหลักปฏิบัติ 10 ข้อ เพื่อช่วยเหลือเด็กติดเกม ดังนี้

1.สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก เช่น ให้รับผิดชอบงานบางอย่างภายในบ้าน เพราะถ้าไม่เริ่มการฝึกวินัยมาตั้งแต่เด็กแล้วจะมาเริ่มตอนโตจะยาก ซึ่งถือเป็นการป้องกันให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง

2.ลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต หากที่บ้านมีคอมพิวเตอร์เท่ากับจำนวนของลูกและอยู่ในห้องส่วนตัว จะแก้ปัญหาการเล่นเกมได้ยากกว่าบ้านที่มีคอมพิวเตอร์อยู่เครื่องเดียวแต่มีลูกใช้หลายคน เพราะเด็กจะต้องสลับกันเล่น การลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ทำได้โดยนำคอมพิวเตอร์มาไว้ในห้องโถงของบ้าน ไม่วางไว้ในห้องส่วนตัว จะทำให้พ่อแม่สอดส่องได้ง่ายว่าเขากำลังเล่นอะไรอยู่ เล่นมานานหรือยัง และจะทำให้เขาเล่นเกมได้ยากขึ้นโดยปริยาย และเด็กจะเห็นว่าพ่อแม่ไม่ใช่ศัตรูของตนด้วย

3.ใช้มาตรการทางการเงิน โดยให้เงินแต่พอดีเพื่อลดโอกาสในการเล่นเกมของเด็กโดยเฉพาะการออกไปเล่นตามร้าน แต่พ่อแม่บางคนใจอ่อนเวลาที่เห็นเด็กหิวโซกลับบ้านเนื่องจากเอาเงินไปเล่นเกมหมดเลยเพิ่มเงินให้ การแก้ปัญหาเลยไม่ได้ผล พ่อแม่ควรให้เด็กรับกรรมจากการกระทำของตนเอง แต่ด้วยความรักความสงสารของพ่อแม่ทำให้พ่อแม่บางคนยอมรับกรรมแทน เนื่องจากกลัวว่าลูกจะลำบาก หรือบางคนตวาดหรือดุเด็ก จนเด็กพาลโกรธเกลียดพ่อแม่

ฉะนั้นในบางครอบครัวที่ให้เงินลูกเป็นรายอาทิตย์ พอวันพฤหัสฯ เงินหมดแล้วพ่อแม่ก็ไปให้เงินเพิ่มก็จะยิ่งเป็นการให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ไม่ดี ดังนั้นถ้าเด็กไม่มีวินัยทางการเงินก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการให้รายวัน หรือราย 3 วันแทน เด็กก็จะมีเงินที่กระตุ้นให้อยากเล่นน้อยลง

4.ฟังและพูดด้วยดีต่อกัน หลายครั้งที่พ่อแม่มีอารมณ์แล้วพูดในเชิงตำหนิ ไม่ได้ใช้ภาษาดอกไม้ในการสื่อสาร จะยิ่งทำให้การสื่อสารพูดคุยกันทำได้ยาก

5.ชื่นชมให้กำลังใจ คนเราจะถนัดกับการจับผิดมากกว่าจับถูก ดังนั้นพ่อแม่จะต้องฝึกการจับถูกในตัวลูก ชื่นชมและให้กำลังใจเมื่อเขาทำดี ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะได้ใจหรือว่าเหลิงเพราะการจับถูก การชื่นชมจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กหันมาฟังพ่อแม่ เพราะถ้าพ่อแม่เอาแต่ตำหนิอย่างเดียว ดังนั้นพ่อแม่ควรพยายามมองเห็นสิ่งดีและพูดในสิ่งดีๆ ที่เราเห็นบ้าง เด็กจะเริ่มฟังพ่อแม่ บางครั้งการทำดีของคนเราก็ไม่ใช่เพราะเหตุผล แต่เป็นเพราะเรารู้สึกชอบคนๆ นั้น เราจึงอยากทำดีด้วย พ่อแม่ก็ควรจะทำให้ลูกชอบตัวพ่อแม่เองเหมือนกัน

6.ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกติการ่วมกัน เพราะยิ่งเด็กโตพ่อแม่ก็จะใช้อำนาจต่อเขาได้ลดลง ไม่เหมือนกับตอนที่ยังเล็กๆ ที่พ่อมีจะสั่งให้ทำอะไรก็ได้ เมื่อเด็กโตขึ้นพ่อแม่ควรใช้การเจรจาพูดคุยและตกลงกัน เช่น ถามว่าลูกคิดว่าเล่นกี่ชั่วโมงต่อวันถึงจะเหมาะ แล้วก็ให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและหาจุดที่เหมาะสมร่วมกัน

7.มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก มนุษย์ต่างต้องการการยอมรับ การยกย่อง และความภาคภูมิใจในตัวเอง การที่เกมมีรางวัลให้กับเด็กเป็นหมวก เป็นดาบ ทำให้ใครๆ เห็นว่าเขาเก่ง เอาชนะได้คะแนนสูงๆ ดังนั้นถ้าให้เด็กได้ไปเล่นดนตรี หรือกีฬา หรือทำอะไรก็ตามที่เด็กถนัด เมื่อเด็กทำได้ดีและมีคนชมก็จะทำให้มีความภูมิใจและอยากที่จะทำอีก ก็จะทำให้ลดการเล่นเกมลงไปได้

8.สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ในครอบครัว บรรยากาศในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สมาชิกในบ้านรู้สึกดี มีความสุขเวลาที่อยู่บ้าน พ่อแม่ควรจัดการบรรยากาศโดยรวมของบ้านให้ดี เช่น มีการชมกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกันในวันพิเศษอย่างวันเกิด เป็นต้น

9.ควบคุมอารมณ์และสร้างความสุขเล็กๆ ในใจของพ่อแม่เอง พ่อแม่ให้รางวัลและสร้างความสุขในใจด้วยการมองตัวเองในแง่ดี มองความสำเร็จในมิติอื่นๆ ของชีวิตบ้าง

10.เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราทันที อย่าไปคาดหวังให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลง ถ้าอยากให้ลูกเปลี่ยนแปลง พ่อแม่ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อน เด็กเล่นเกม ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะทำอย่างไรให้การเล่นเกมของเด็ก เป็นเพียงแค่การผ่อนคลาย และเสริมสร้างทักษะในการคิดทางสร้างสรรค์ รวมถึงไม่ทำให้บรรยากาศในครอบครัวหม่นหมอง พ่อแม่ถือเป็นยาวิเศษที่สำคัญที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับลูกได้เสมอ หากพ่อแม่เข้าใจและปรับเปลี่ยนและเรียนรู้วิถีชีวิตของลูกไปพร้อมๆ กับตัวลูก
Credit: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
#เกม #ลูก #พ่อแม่
darkmoon666
นักแสดงรับเชิญ
27 ธ.ค. 52 เวลา 11:09 2,780 6 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...