รายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของเกาหลีเหนือ และสำนักข่าวเคซีเอ็นเอที่อยู่ในความควบคุมของทางการโสมแดง เมื่อช่วงสายของวันจันทร์ที่ 19 ธ.ค. ที่ระบุว่า คิม จอง อิล หรือ "ท่านผู้นำคิม" วัย 69 ปี แห่งเกาหลีเหนือ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก และสั่นสะเทือนไปทั้งคาบสมุทรเกาหลี...
แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักการทูตตะวันตกในกรุงเปียงยางรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว คิม จอง อิล ได้ถึงแก่อสัญกรรมจากอาการหัวใจล้มเหลว ขณะเดินทางด้วยรถไฟไปตรวจราชการตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ (17) ที่ผ่านมา แต่ทางการเกาหลีเหนือพยายามปิดข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของเขามานานกว่า 48 ชั่วโมง ด้วยเหตุผล "ด้านความมั่นคง" ของประเทศ ก่อนจะยอมออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เพราะทราบดีว่า ข่าวมรณกรรมดังกล่าวเริ่ม "ปิดไม่อยู่"
ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายเคยรับรู้ว่า ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือที่ครองอำนาจมายาวนานกว่า 17 ปี นับแต่ปี 1994 รายนี้ คงจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน หลังสุขภาพทรุดหนักลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ล้มป่วยด้วยอาการเส้นโลหิตไปหล่อเลี้ยงสมองอุดตันตั้งแต่ปี 2008 ที่ผ่านมา รวมถึงข่าวที่ไม่มีการยืนยัน เกี่ยวกับเรื่องการเป็นมะเร็ง และโรคร้ายอีกหลายชนิด อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญในเวลานี้ที่ทั่วโลกต่างต้องการทราบคำตอบมากที่สุด คงหนีไม่พ้นประเด็นอนาคตของเกาหลีเหนือหลังการจากไปของ คิม จอง อิล นั่นเอง
หลังข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของท่านผู้นำคิมแพร่สะพัดออกไป สื่อของทางการเกาหลีเหนือพยายามประโคมข่าวเพื่อแสดงถึงความเป็นเอกภาพภายในประเทศว่า คิม จอง อุน วัย 27 ปี ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 3 และคนสุดท้องของ นายคิม จอง อิล กับนางโก ยอง ฮี จะได้การสนับสนุนให้ก้าวขึ้นครองอำนาจสูงสุดแทนบิดาผู้ล่วงลับอย่างแน่นอน
แต่นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างพากันตั้งคำถามว่า ระบอบการปกครองที่ถูกครอบงำด้วยบรรดา "ผู้อาวุโส" ในกองทัพและพรรคแรงงานเกาหลี หรือ Workers' Party of Korea (WPK) จะให้การยอมรับ "เด็กเมื่อวานซืนที่อ่อนด้อยประสบการณ์" อย่าง คิม จอง อุน มากน้อยเพียงใด เพราะข้อมูลข่าวกรองของหลายชาติต่างระบุตรงกันว่า มีความเป็นไปได้ที่บรรดาผู้มีอำนาจในกรุงเปียงยางทั้งหลาย จะเปิดศึกชิงอำนาจกันเอง หลังการจากไปของ คิม จอง อิล รวมถึงมีรายงานว่า ชีวิตของ คิม จอง อุน ผู้ถูกวางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองมาตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2010 ก็อาจตกอยู่ในอันตรายในทันทีที่ปราศจากการคุ้มครองจากผู้เป็นบิดา
หนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเล็ดลอดออกมาว่า เป็นผู้หมายปองเก้าอี้ผู้นำเกาหลีเหนือคนต่อไป คือ นายคิม ยอง นัม เจ้าของตำแหน่งประธานสภาประชาชนสูงสุดวัย 83 ปี ที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 1998 โดยแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงเปียงยางระบุว่า ผู้อาวุโสทางการเมืองซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและพรรคแรงงานเกาหลีรายนี้ พร้อมจัดการกับทายาททางการเมืองอย่าง คิม จอง อุน หรือ "นายน้อยคิม" ได้ทุกเมื่อ
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ประเมินว่า แม้ว่าที่ผู้นำคนใหม่ที่ถูกวางตัวไว้อย่าง คิม จอง อุน จะมีอายุไม่ถึง 30 ปี อีกทั้งยังอ่อนด้อยประสบการณ์ทางการเมืองและขาดแรงสนับสนุนจากบรรดาผู้อาวุโส แต่ก็ยังมีโอกาสที่เขาอาจได้ขึ้นครองอำนาจในไม่ช้าเช่นกัน โดยเฉพาะหากเขาสามารถแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งทหารบุกเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ การยิงขีปนาวุธใส่ญี่ปุ่น หรือแม้แต่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือซุ่มพัฒนามานานหลายปี
ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเกาหลีเหนือ, ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองในกรุงเปียงยาง รวมถึงความเป็นไปได้ที่ คิม จอง อุน อาจตัดสินใจสร้างชื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับ โดยการใช้วิธีการรุนแรงและก้าวร้าวผ่านการส่งทหารบุกเกาหลีใต้ การยิงขีปนาวุธใส่ญี่ปุ่น หรือแม้แต่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากท่าทีล่าสุดของ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ที่ต้องรีบต่อสายตรงถึงประธานาธิบดีอี มยอง บัค แห่งเกาหลีใต้ รวมถึงนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ แห่งญี่ปุ่น หลังทราบข่าวการเสียชีวิตของ คิม จอง อิล เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อให้คำมั่นว่า สหรัฐฯ ซึ่งได้ชื่อเป็นมหาอำนาจทางการทหารอันดับ 1 ของโลก พร้อมปกป้องเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ หากเกิด "เหตุการณ์ไม่คาดฝัน" จากน้ำมือเกาหลีเหนือ
ในอีกด้านหนึ่ง อนาคตของชาวเกาหลีเหนือ 24 ล้านคน ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากหน่วยงานบรรเทาทุกข์และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศหลายแห่งลงความเห็นว่า เกาหลีเหนือซึ่งต้องเผชิญกับความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจมานาน อาจประสบภาวะล่มสลายภายใน 3 ปี หลังการจากไปของ คิม จอง อิล และเมื่อถึงตอนนั้น ชาวเกาหลีเหนือที่ปกติต้องเสียชีวิตเพราะ "ขาดอาหาร" ไม่ต่ำกว่าปีละ 300,000-800,000 คนอยู่แล้ว จะมีชะตากรรมที่เลวร้ายลงอีกเพียงใด.