อยากทราบว่าผมทรงนักเรียนมีความเป็นมาอย่างไร มีได้มีเสียอย่างไรจึงมีข้อถกเถียงกัน
บทความว่าด้วยเรื่องกฎทรงผม ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากหนังสือพิมพ์มติชนฉบับ 2 พฤศจิกายน 2554 มีคำตอบสรุปความได้ว่า ประเทศ ไทยรับทรงผมทรงนักเรียนทั้งเครื่องแบบต่างๆ จากญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงสงครามนั้นเกิดเหาระบาดมาก ประชาชนจึงนิยมตัดผมสั้นเกรียน
และต่อไปนี้คือเหตุผลสำคัญๆ ที่ไม่ควรมีกฎทรงผมนักเรียน
1.ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะการเลือกทรงผมไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่นกัน
2.ไร้ซึ่งความจำเป็น เดิมกฎ ทรงผมเป็นกฎของทหารเพื่อใช้ปลูกฝังการเชื่อฟังคำสั่ง ปลูกฝังอำนาจนิยม และเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา แต่การปลูกฝังอำนาจนิยมทำให้เด็กมีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อบ้านเมือง และนักเรียนนักศึกษาไม่ต้องรีบร้อนในชีวิตประจำวัน สามารถดูแลทรงผมได้
3.การใช้กฎทรงผมบังคับเป็นการสร้างภาพลักษณ์เสมือนมีวินัย เนื่องจากระเบียบวินัยที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการบังคับให้ทำ แต่หากเป็นการกระทำออกมาด้วยจิตสำนึก
4.ทำให้เยาวชนคิดไม่เป็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ผิดหรือถูก ได้แต่รับคำสั่งไปวันๆ
5.ส่งเสริมให้เยาวชนไม่รักษาสิทธิ เนื่อง จากการเลือกทรงผมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของบุคคลนั้นๆ แต่สถานศึกษากลับเพิกเฉยและตั้งกฎระเบียบอันเข้มงวด ทำให้นักเรียนไม่สามารถรักษาสิทธิของตัวเองได้ นับวันก็จะมีแต่คนหมดหวัง หมดอาลัย ทั้งที่เป็นสิทธิของบุคคลนั้นๆ
6.ปลูกฝังให้เยาวชนละทิ้งเหตุผล เยาวชน หลายคนมีคำถามอยู่ในใจ แต่เมื่อได้รับคำตอบว่า "มันเป็นกฎ" หรือ "เธอไม่พอใจที่จะทำตามกฎ ก็ไม่ต้องเรียน" ซึ่งไม่ใช่คำตอบที่ดีของคนที่มีการศึกษาและกำลังให้การศึกษาต่ออนุชนรุ่น หลัง เพราะแสดงถึงความไร้เหตุผลอย่างยิ่งยวด ส่วนคนที่ยึดมั่นในเหตุผลและรอคอยคำตอบก็จะถูกมองเป็นพวกก้าวร้าว แล้วจะค่อยๆ ถูกหล่อหลอมเป็นพวกยอมรับกฎโดยที่ไม่รู้เลยว่าเพราะอะไร เดินไปโดยปราศจากเป้าหมาย เป็นส่วนจากการทิ้งเหตุผลของผู้ใหญ่
7.เป็นการส่งเสริมให้ใช้อำนาจโดยมิชอบ จาก การที่เยาวชนซึมซับการใช้อำนาจของครูของเขาที่ใช้อำนาจอย่างไร้เหตุผลให้เขา ตัดทรงผมสั้นโดยไม่มีเหตุผล เขาจะทำตามโดยใช้อำนาจอย่างผิดๆ ทำร้ายคนอื่น
8.ทำให้เกิดการเหยียดหยามดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บาง คนอาจได้ยินผู้ใหญ่ด่าว่าไว้ผมยาวเหมือนฮิปปี้จะไปเป็นนักเลงหรือ นั่นคือการเหยียดหยาม ความเป็นคนไม่ได้อยู่ที่ทรงผม จะเป็นคนดี จะสั้นยาวก็ไม่มีปัญหา
9.ทำให้ชื่อเสียงของโรงเรียนเป็นสิ่งจอมปลอม และมองข้ามชื่อเสียงที่แท้จริงไป คือคุณภาพของนักเรียนไม่ได้อยู่ที่ทรงผม แต่อยู่ที่คุณภาพของการศึกษาเรียนรู้และคุณภาพจิตใจ
10.ปลูกฝังให้เยาวชนไม่ยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น หรือขาดความมั่นใจในตัวเองไป เลย จากที่เห็นได้ว่าเยาวชนต้องการหลุดจากแอกของกฎทรงผม แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะผู้ใหญ่ไม่รับฟังความคิดเห็น เยาวชนจะถูกหล่อหลอมให้เชื่อมั่นความคิดตัวเองมากเกินไปจนไม่ฟังความคิดเห็น ผู้อื่น ซึ่งเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย หรืออีกทางหนึ่งสูญเสียความมั่นใจ ทำอะไรก็ผิด เหตุผลดีแค่ไหนก็เท่านั้น เป็นอันตรายกับระบอบการปกครองเช่นกัน
ด้านกระทรวงศึกษาธิการแถลงข้อดีของกฎทรงผมนักเรียน สรุปได้ว่า สะอาด เรียบร้อย ป้องกันเหาได้ เสียค่าใช้จ่ายน้อยในการตัดผม