สุกรี สินธุภิญโญ
sukree.s@chula.ac.th
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผมเชื่อว่าหลายท่านคงได้รับทราบถึง ข่าวการแจกแท็บเล็ตให้แก่เด็ก ป.1 ซึ่งกำลังเตรียมดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถแจกให้ทันในเทอมแรก ปีการศึกษา 2555
คำถามอยู่ที่ว่าการใช้แท็บเล็ตพีซีในห้อง เรียนของเด็ก ป.1 อายุ 6-7 ขวบ นั้นเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ผมเชื่อว่า หลายท่านคงมีคำถามนี้เกิดขึ้นในใจเช่นกัน
ข้อดีสำหรับการใช้แท็บเล็ตในห้องเรียนของเด็ก ป.1 มีหลายข้อครับ ท่านที่สนใจลองหาอ่านได้จากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ได้จากอินเทอร์เน็ต หรือจะดูวิดีโอการให้สัมภาษณ์ของท่าน รมว. จากยูทูบ ที่นี่ก็ได้ครับ http://www.youtube.com/watch?v=6rtDz_QTPmw
ผมเองก็นั่งนึกถึงภาพดี ๆ ในการใช้แท็บเล็ตของเด็ก ป.1 ได้หลายแบบอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเนื้อหาโต้ตอบที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก การฝึกออกเสียงภาษาอังกฤษตามเสียงต้นแบบ การฝึกบวกลบเลขได้อย่างสนุกสนาน ฝึกอ่านออกเสียงคำต่าง ๆ รวมถึงมีเสียงเฉลยว่า เด็ก ๆ ออกเสียงได้ถูกต้องหรือไม่
และยิ่งถ้าเป็นการเอางบประมาณไปสนับสนุนการสร้างโรงงานผลิต (หรือโรงงานประ กอบ) เพื่อสร้างแรงงานในประเทศแล้ว ประกอบกับบริษัทผู้ผลิตเนื้อหาในประเทศสามารถสร้างเนื้อหาเพื่อจับใส่ลงไปในแท็บเล็ต ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
โครงการแจกแท็บเล็ตนี้ คล้ายกับโครงการจะแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นเดียวกัน ของฟิลิปปินส์ (http://www.malaya.com.ph/11192010/info1.html) ซึ่งริเริ่มขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกันด้วยรูปแบบคล้ายกัน แต่ก่อนที่จะนำมาแจกให้ใช้ ทางฟิลิปปินส์เอง ก็ได้มีการศึกษาเพื่อดูผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็กที่ใช้ก่อน เกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ผลิตแท็บเล็ตแอนดรอยด์ชื่อดังอย่าง
กาแล็คซีแท็บ ก็มีแผนจะนำมาใช้แทนตำราเรียนเช่นกัน แต่จะนำมาใช้จริงในปี 2559 (http://blog.webtrendforum.com/south-korea-plans-to-switch-children-from-textbooks-to-tablet-pc-books/)
ในทางกลับกัน ผมเองก็รู้สึกถึงข้อเสียของการนำแท็บเล็ตไปปรากฏตัวอยู่ในห้องเรียนของเด็ก ป.1 อยู่หลายข้อเหมือนกัน จนเกิดมีข้อคำถามและข้อเสนอแนะอยู่มากมายหลายข้อ ดังนี้ครับ
1. คำถามแรกสุด คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า รูปแบบการใช้แท็บเล็ตในห้องเรียนนั้น มีการวางแผนไว้แล้วหรือไม่ และจะใช้ประกอบในการเรียนการสอนอย่างไร ในวิชาอะไร ครูที่จะต้องรับผิดชอบนำแท็บเล็ตไปใช้ในห้องเรียนนั้น มีความคุ้นเคย รวมถึงได้เตรียมตัวเอง สำหรับการสอนที่มีแท็บเล็ตประกอบในชั้นเรียนไว้ดีแล้วหรือไม่ เพื่อจะได้ใช้สอนในประมาณเดือนพฤษภาคม 2555
2. ถ้าจะนำไปใช้แทนตำราเพื่อให้ใช้เรียนในห้องเรียนนั้น เด็ก ๆ จะได้อ่านอีบุ๊ก แต่จะแลกมาด้วยการฝึกฝนการเขียนที่ลดลง ความยากลำบากในการจดบันทึก การติดขัดในการพลิกหน้าไปมา รวมถึงความไม่สะดวกในการใช้หนังสือหลายเล่มพร้อม ๆ กัน
3. มีข้อถกเถียงกันอยู่ในเรื่องที่การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ว่าจะมีแนวโน้มทำให้ผู้ใช้มีสมาธิสั้นลง และทำให้เป็นมนุษย์หลายภารกิจ (Multitasker) เราพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะรับมือกับปัญหานี้ เด็ก ๆ ของคุณครูอาจจะฟังไปสักพัก แล้วสลับไปเล่นเกม แชต หรืออื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน คุณครูอาจต้องออกแรงมากกว่าเดิม เพื่อจะดึงความสนใจของนักเรียน แข่งกับบรรดาเกมต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในเครื่อง
4. ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้น มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กอยู่มาก การป้องกันนั้นทำได้ยาก ผู้รับผิดชอบได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ไว้แล้วหรือไม่ การจะบอกว่า ให้ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน แล้วให้ทางโรงเรียนป้องกันนั้น ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมนี้ ไม่ได้มีแค่ในเว็บไซต์ที่มีแต่เรื่องนั้น ๆ เท่านั้น ในบางเว็บไซต์ที่เป็นเว็บธรรมดาทั่วไป เช่น ยูทูบ ก็มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับเด็ก 6-7 ขวบ เช่นกัน
5. การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดปัญหากับดวงตาได้ ลูก ๆ ของพวกเรา พร้อมแล้วที่จะเผชิญกับปัญหานี้หรือไม่
6. เมื่อเกิดปัญหากับอุปกรณ์แท็บเล็ต ใครจะเป็นผู้แก้ปัญหาให้ ในเมื่อทั้งครูเองก็ไม่คุ้นเคยกับเจ้าแท็บเล็ตนี้เช่นกัน จะมีครูชั้น ป.1 สักกี่คนที่ใช้แท็บเล็ตพีซีอยู่เป็นประจำจนมีทักษะเพียงพอที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนได้
7. การให้เด็ก 6-7 ขวบ พกอุปกรณ์เหล่านี้ติดตัวไปและกลับจากโรงเรียน ย่อมทำให้เกิดปัญหาการฉกชิง การขโมย จากเหล่ามิจฉาชีพ แต่ถ้าจะให้ใช้ที่โรงเรียนแล้วเก็บไว้ที่โรงเรียน เด็ก ๆ จะเอาตำราที่ไหนกลับมาอ่านที่บ้าน ในเมื่ออีบุ๊กทั้งหลายล้วนเก็บอยู่ในแท็บเล็ตที่โรงเรียน
8. คุณภาพของแท็บเล็ตเมื่อเทียบกับราคา ผมเองไม่คิดว่า อายุใช้งานของแท็บเล็ตราคา 3 พันถึง 6 พันบาท จะมีอายุใช้งานเกิน 2 ปี ดังนั้น การคำนวณค่าใช้จ่ายเพื่อเปรียบเทียบกับหนังสือที่เป็น กระดาษ รวมถึงค่าซ่อมบำรุง จำเป็นต้องคิดให้ดี
9. ธรรมชาติของเด็กเล็กในชั้น ป.1 นั้น ยังคงวิ่งเล่น ซุกซนกันอยู่ แท็บเล็ตในมือจะทนทานต่อการตก การกระแทก ทนทานต่อของน้ำหรือไม่ เพียงใด นอกจากนี้แล้ว แบตเตอรี่ที่ใช้งานต่อเนื่องได้กี่ชั่วโมง แล้วจะเกิดอันตรายกับเด็ก ๆ ของเรา ในการที่จะต้องไปเสียบปลั๊กนั่งชาร์จแบตกันที่โรงเรียนหรือไม่
10. ในเมื่อท่าน รมว. บอกว่า เนื้อหาที่จะบรรจุไว้ในแท็บเล็ตนั้น ขึ้นกับความเหมาะสมกับตัวผู้เรียน ห้องเรียน และโรงเรียน ดังนั้นในเรื่องของเนื้อหาที่บรรจุไว้ในแท็บเล็ตนั้น จึงควรปล่อยให้เป็นการแข่งขันแบบเสรี ห้องเรียนใด โรงเรียนใด คิดว่าโปรแกรมหรือเนื้อหาใดเหมาะสม ก็ให้จัดซื้อโดยอิสระ ถ้าทำได้แบบนี้นอกจากจะเป็นการแสดงความโปร่งใสแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของเมืองไทยเติบโตขึ้นอีกด้วย
ทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย การคิดให้รอบด้านจะเป็นประโยชน์อย่างที่สุดต่อบรรดาเด็ก ๆ ของเรา ซึ่งจะต้องเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป
“คิด ศึกษา และวิจัยให้ดี ก่อนจะใช้เด็ก ๆของเราเป็นเครื่องมือในการทดลองครับ”.
สุกรี สินธุภิญโญ
sukree.s@chula.ac.th
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย