หลายคนคงเคยลิ้มรสชาติ 'ชา' ชนิดต่างๆ กันมาบ้าง หลายประเทศก็ดื่มน้ำชาแทนน้ำเปล่าเสียด้วย แต่น้อยคนนักจะรู้จัก "ผักหวานป่า" ผักพื้นบ้านที่มีลักษณะใกล้เคียงใบชาเขียว เป็นไม้ยืนต้นมักพบบริเวณเนินสูง ในป่าเบญจพรรณผสมไผ่ และป่าเต็งรัง มีขึ้นอยู่เกือบทุกภาคของประเทศไทย
จากกระแสที่คนทั่วโลกส่วนใหญ่หันมานิยมบริโภคชา โดยเฉพาะ ชาเขียว ชาอู่หลง และชาดำ ซึ่งคุณประโยชน์ที่มีจากการดื่มชา คือ ร่างกายสามารถต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยย่อยอาหาร ละลายไขมัน และช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง เป็นต้น
น.ส.วราภรณ์ ศรีประเสริฐ และ นายธนกร เก้ายอดสิงห์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ "ชาผักหวานป่า" ที่มีประโยชน์และเพิ่มคุณค่าให้แก่ร่างกาย โดยนำใบผักหวานป่ามาเป็นวัตถุดิบหลัก ในการทำชาพร้อมดื่ม
'วราภรณ์' บอกว่า ผักหวานป่ามีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ เป็นแหล่งโปรตีน และวิตามินเอ บี 1 บี 2 บี 3 ซี และอี ใบสดที่รับประทานได้ ยังมีปริมาณของใยเพื่อช่วยในการขับถ่าย ส่วนยอดก็นิยมนำมาปรุงอาหารมีรสหวานกรอบช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ หรือใช้ปรุงเป็นยาเขียวเพื่อลดไข้ ส่วนของลำต้น สามารถใช้แก่นต้มรับประทาน เป็นยาแก้ปวดตามข้อ หรือใช้ต้นผักหวานกับต้นนมสาวเป็นยาเพิ่มน้ำนม สำหรับแม่หลัง คลอดบุตร ส่วนรากก็นำมาต้มรับประทานเป็นยาเย็นแก้พิษร้อนใน แก้น้ำดี และยังแก้ปวดมดลูกได้
กรรมวิธีในการผลิตชาผักหวานป่า เริ่มจากนำใบผักหวานป่าสด จะเป็นใบอ่อนหรือแก่ก็ได้ล้างด้วยน้ำสะอาด ผึ่งลมให้แห้งหมาดๆ นำไปคั่วแล้วจึงอบในอุณหภูมิที่ 60 องศาเซลเซียส ประมาณ 7 ชั่วโมง เพื่อทำให้กรอบ นำมาบรรจุใส่ภาชนะที่ปิดสนิท เสร็จแล้วนำไปชงดื่มกับน้ำร้อนได้เลย รสชาติหวานปะแล่มๆ
'ธนกร' ยังกระซิบบอกด้วยว่า ขณะนี้ผักหวานป่าเป็นพืชทางเศรษฐกิจที่นิยมของคนรักสุขภาพ แต่เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรมีการเพาะปลูกไม่มาก จึงทำให้ผักหวานป่ามีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 150-170 บาท ผู้วิจัยจึงคิดค้นชาผักหวานป่าที่เก็บรักษาได้นาน และกำลังต่อยอดทำเป็นแบบพร้อมดื่มอีกด้วย