เคสสุดหิน ลุ้น! แพทย์ชิลีผ่าตัดแยกร่างแฝดสยาม
สำนักข่าวเอพี รายงานเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมว่า ทีมแพทย์ของโรงพยาบาล หลุยส์ คาลโว แมคเคนนา จากซานดิเอโก ประเทศชิลี กำลังระดมความพยายามสุดความสามารถในการผ่าตัดแยกร่างหนูน้อยวัย 10 เดือน มาเรีย โฆเซ่ และ มาเรีย มาซ แฝดสยามเพศหญิงโดยการผ่าตัดครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 7 แล้ว ตั้งแต่หนูน้อยทั้งสองเกิด ทั้งยังถือเป็นการผ่าตัดแยกร่างแฝดสยามที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ทั้งนี้ หนูน้อยทั้งสองใช้ช่วงอก ช่องท้อง ขา และกระดูกเชิงกรานร่วมกัน และยังใช้ระบบภายในอย่างระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินหายใจ และช่องทวารหนักร่วมกันด้วย สำหรับการผ่าตัดในครั้งนี้แพทย์จะทำการผ่าตัดหัวใจ และแยกตับของทั้งคู่ออกจากกัน และนั่นจะทำให้มีแฝดเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะเป็นฝ่ายมีช่องทวารหนักแบบปกติ
การผ่าตัดใหญ่ครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในเช้าวันที่ 13 ธันวาคม และคาดว่าจะเสร็จสิ้นลงภายในเวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 14 ธันวาคม ส่วนความเรื่องความสำเร็จในการผ่าตัดนั้น แม้แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายออสวาลโด อาร์ตาซา ยังกล่าวว่า สำหรับเคสของหนูน้องมาซ และโฆเซ่นั้นเป็นเคสที่ยากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา และยังเสี่ยงที่จะต้องเสียแฝดคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคู่ไป แต่อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าทีมแพทย์ทุกคนทุ่มความสามารถเต็มที่เพื่อรักษาชีวิตทั้งสองไว้
โดยการผ่าตัดครั้งนี้ใช้ทีมแพทย์ผ่าตัด 25 คน วิสัญญีแพทย์อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีกหลายสิบชีวิต รวมแล้วมีแพทย์ถึง 100 คน ที่เข้าร่วมเพื่อรักษาชีวิตของแฝดสยามทั้งสอง และการผ่าตัดใหญ่ในยังมีการถ่ายทอดออกไปผ่านทางโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตด้วย
ด้านนางเจสสิกา นาวาเรเต้ และนายโรเบอร์โต ปาเรเดส ผู้เป็นพ่อแม่ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมาหนูน้อยทั้งสองยังไม่เคยออกจากโรงพยาบาลเลยแม้แต่วันเดียว ทั้งยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอดเวลา ทั้งคู่จูบลูกสาวทั้งสองก่อนจะถูกส่งตัวเข้าห้องผ่าตัด และขณะนี้รอคอยผลการผ่าตัดอย่างกระวนกระวายใจ เนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา เด็กน้อยทั้งสองอยู่ในอาการเสียเลือดมาก จนถึงขั้นต้องขอรับบริจาคเลือด และตอนนี้ก็ได้แต่สวดอ้อนวอนให้ลูกน้อยทั้งสองปลอดภัย
ทั้งนี้ จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งศูนย์การแพทย์แมรี่แลนด์ ระบุว่า ในจำนวนทารก 200,000 คนที่คลอดออกมา จะมีแฝดสยามอยู่ 1 คู่ โดยร้อยละ 35 ของคู่แฝด มักมีอายุไม่ถึงข้ามวัน ในขณะที่จำนวนคู่แฝดที่รอดชีวิตจะอยู่ที่ราวร้อยละ 5-25 เท่านั้น
คลิปการผ่าตัดแฝดสยามชาวชิลีครั้งที่ผ่าน ๆ มา