ฮือฮา งานวิจัยชี้ สัญญาณ Wi-Fi จากโน๊ตบุ๊คทําให้เชื้ออสุจิอ่อนกําลัง

บท วิเคราะห์] "สัญญาณ Wi-Fi จากโน้ตบุ๊คทำให้อสุจิอ่อนกำลัง"

Ouroboros (35,910 views) first post: Fri 2 December 2011 last update: Fri 2 December 2011
งาน วิจัยใหม่ชี้ว่า สัญญาณ Wi-Fi จากโน้ตบุ๊คอาจมีผลต่อคุณภาพอสุจิ แต่ก่อนจะตกใจ ลองพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกสักนิด
สารบัญ
หน้า : 1 ฮือฮา! งานวิจับชี้ สัญญาณ Wi-Fi จากโน้ตบุ๊คทำให้อสุจิอ่อนกำลัง
หน้า : 2 วิเคราะห์ จากต้นฉบับ

 

หน้าที่ 1 - ฮือฮา! งานวิจับชี้ สัญญาณ Wi-Fi จากโน้ตบุ๊คทำให้อสุจิอ่อนกำลัง
 

             เป็นที่ทราบกันดีว่าความร้อนมีผลทำให้เชื้ออสุจิอ่อนแอลง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ลูกอัณฑะต้องห้อยอยู่นอกร่างกาย งานวิจัยเมื่อปีที่แล้วได้แสดงให้เห็นว่าการวางโน้ตบุ๊คไว้บนตักเพิ่ม อุณหภูมิบริเวณลูกอัณฑะได้มากกว่า 2 องศาเซลเซียส  ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เชื้ออสุจิมีคุณภาพลดลง     

 

 

                         ใคร ยังไม่ได้อ่านงานวิจัยของปีที่แล้วแนะนำให้อ่านที่บทความ
                                              
                                  นั่งไขว่ห้าง ลดความเสี่ยงเป็นหมัน

 

 

             จนเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยใหม่ว่า การได้รับสัญญาณ Wi-Fi ในระยะใกล้ ทำให้เชื้ออสุจิอ่อนแรงลงได้เช่นกัน และอาจลดความสามารถในการสืบพันธุ์ของอสุจิ
             สื่อต่างๆ ได้นำเสนอเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับหนุ่มๆ ไม่น้อย

             งานวิจัยนี้ทำโดย Nascentis Centre for Reproductive Medicine ในอาร์เจนตินา และ Eastern Virginia Medical School ของสหรัฐอเมริกา โดยเก็บตัวอย่างเชื้ออสุจิจากชายสุขภาพดี 29 คน อายุระหว่าง 26-45 ปี

            ตัวอย่างน้ำอสุจิจะถูกแยกใส่จานทดลอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม  กลุ่มหนึ่งตั้งไว้ใต้ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่เชื่อมต่อ Wi-Fi ส่วนอีกกลุ่มตั้งไว้อีกห้องที่ไม่มี คอมพิวเตอร์  ทั้ง 2 กลุ่ม อยู่ในห้องที่ควบคุมไว้เท่ากันที่ 25 องศาเซลเซียส

            หลังจากผ่านไป 4 ชั่วโมง นักวิจัยนำอสุจิมาตรวจสอบ พบว่า 25% ของอสุจิกลุ่มที่อยู่ใต้โน๊ตบุ๊ค แหวกว่ายได้ไม่กระฉับกระเฉงดังเดิม และ 9%  มีร่องรอยของ DNA ถูกทำลาย
            เปรียบเทียบกับอสุจิกลุ่มที่ไม่ได้รับสัญญา Wi-Fi มีเพียง 14% เท่านั้นที่ความสามารถในการแหวกว่ายลดลง และ 3% ที่ DNA ถูกทำลาย

            ส่วนอัตราการตายของเชื้ออสุจิทั้งกลุ่มนั้น ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ผู้วิจัยจึงสรุปว่าสัญญาณ Wi-Fi น่าจะเป็นตัวการที่ทำให้อสุจิคุณภาพลดลง
             งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Fertility and Sterility เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านไม่เห็นด้วย คำถามคือ แล้วเราจะเชื่อใครดี?

                                                 


 

หน้าที่ 2 - วิเคราะห์จากต้นฉบับ
 

             เนื่องจากข่าวที่นำเสนอเรื่องนี้ส่วนใหญ่ตัดรายละเอียดในกระบวนการทดลองไป เพื่อให้ง่ายการนำเสนอ ดังนั้นหากจะวิเคราะห์เรื่องนี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น จึงต้องตามไปอ่านงานวิจัยต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในวารสาร

             เท่าที่อ่านงานต้นฉบับ วิธีการทดลองในงานวิจัยนี้ยังมีจุดที่น่าข้องใจอยู่ตรงที่ อาจมีปัจจัยอื่นๆ นอกจากสัญญาณ Wi-Fi ที่ส่งผลต่อเชื้ออสุจิในกลุ่มที่วางใต้โน้ตบุ๊ค

             การทดลองเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง อสุจิที่วางใต้โน้ตบุ๊คที่เปิด Wi-Fi  กับ อสุจิที่วางไว้ในห้องซึ่งไม่มีเครื่องใช้อิเล็กโทรนิค เป็นชุดควบคุม ซึ่งพอจะสรุปออกเป็นแผนภาพดังนี้


             ผู้วิจัยควบคุมปัจจัยต่างๆ เช่น วางจานใส่น้ำอสุจิห่างจากโน๊ตบุ๊คประมาณ 3 ซม. เพื่อให้สอดคล้องกับระยะห่างตอนวางโน้ตบุ๊คไว้บนตัก
เปิด Wi-Fi ให้ปล่อยสัญญาณเต็มที่ตลอดโดยสั่งให้คอมพิวเตอร์ส่งไฟล์ขนาดใหญ่สู่อินเตอร์ เน็ตตลอดการทดลอง  และได้ควบคุมอุณหภูมิในห้องทั้ง 2 กลุ่มให้เท่ากัน
 
             แต่นั่นเป็นการควบคุมอุณหภูมิห้องให้เท่ากัน แล้วอุณหภูมิที่แผ่จากโน้ตบุ๊คล่ะ?

             งานวิจัยนี้ทดสอบกับโน้ตบุ๊ค Toshiba Satellite M305D-S4829 ถ้าพลิกด้านล่างดู จะเห็นว่ามีช่องระบายอากาศแถวๆ บริเวณที่วางจานใส่สุจิพอดี (เทียบกับภาพ C ด้านบน) จานที่ใส่อสุจิวางห่างแค่ 3 ซม ความร้อนที่ระบายจากโน้ตบุ๊คย่อมมีผลต่อเชื้อแน่ๆ

                      

             นอกจากนี้ จริงๆ แล้วควรเปรียบเทียบกับอสุจิที่วางใต้โน้ตบุ๊คแต่ไม่เปิด Wi-Fi ด้วย เพื่อที่จะแยกผลกระทบจาก ความร้อนที่แผ่จากโน้ตบุ๊คต่ออสุจิ

             ในการทดลองนี้ไม่มีตัวเปรียบเทียบนี้ จึงไม่อาจแยกได้ อย่างชัดเจนว่าที่ทำให้อสุจิอ่อนแรงลงเป็นเพราะสัญญาณ Wi-Fi หรือ ความร้อนที่แผ่ออกจากโน้ตบุ๊คมากันแน่
             งานวิจัยก่อนหน้านี้ก็เคยแสดงให้เห็นว่า การวางของรูปร่างคล้ายกับโน้ตบุ๊คไว้บนตักเฉยๆ ก็ทำให้อุณหภูมิอัณฑะสูงขึ้นมากพอที่จะทำอันตรายต่อเชื้ออสุจิแล้ว

             อีกประการหนึ่ง งานวิจัยนี้เป็นการทดลองแบบ in vitro คือ ทดลองภายนนอกร่างกาย โดยนำอสุจิมาใส่สารละลายในจานทดลอง แล้วเอาไปวางไว้ใต้โน้ตบุ๊คโดยตรง ซึ่งเป็นสภาวะที่แตกต่างจากการทดลองกับอสุจิที่อยู่ในร่างกายค่อนข้างมาก
            
             เซลล์อสุจิมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมมากกว่าเซลล์ร่างกายทั่วไปอยู่แล้ว เพราะสาย DNA ในขดอัดรวมกันอยู่ในพื้นที่แคบๆ ที่ส่วนหัวของเซลล์อสุจิ จึงมีโอกาสถูกทำลายได้ง่าย แต่ในร่างกาย เซลล์อสุจิมีเนื้อเยื่อและของเหลวในถุงอัณฑะ คอยปกป้องอยู่ และร่างกายยังมีกระบวนการบำรุงรักษาอสุจิระดับหนึ่งด้วย

             ฉะนั้นถึงแม้ สัญญาณ Wi-Fi  จะมีผลต่ออสุจิจริง แต่สัญญาณจากโน้ตบุ๊คบนตักก็จะถูกเนื้อเยื่อและของเหลวดูดซับหมดก่อนอยู่ดี

             ดังนั้นผลสรุปของงานวิจัยนี้จึงบอกได้มากที่สุดเพียงว่า "สัญญาณ Wi-Fi อาจมีผลต่อเซลล์อสุจิ (เปลือยๆ) ที่อยู่นอกร่างกาย" ส่วน การใช้ Wi-Fi ในชีวิตประจำวันส่งผลเสียต่อเชื้ออสุจิในอัณฑะหรือไม่ยังต้องศึกษาต่อไป
             อีกทั้งยังต้องควบคุมปัจจัยเรื่องความร้อนที่แผ่จากโน้ต บุ๊คให้แน่นอนด้วย ทางที่ดีควรใช้อุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณ Wi-Fi ได้ แต่ไม่แผ่ความร้อนมากเท่าโน้ตบุ๊คจะเหมาะสมกว่า

            การมีงานวิจัยรองรับไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะบอกว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง เพราะถึงแม้จะเป็นงานวิจัยที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง (ไม่ใช่งานวิจัยที่นั่งเทียนเขียนขึ้น) แต่ผู้ดำเนินการวิจัยก็เป็นคนธรรมดาที่มีเลือดเนื้อ มีความเชื่อส่วนตัว มีอคติอยู่
            สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความลำเอียง และความไม่รัดกุมในการออกแบบการทดลอง หรืออาจมีการเลือกนำเสนอข้อมูลที่สนใจและละส่วนที่ไม่ต้องการเพื่อผล ประโยชน์บางอย่าง
          
           บทความนี้อาจเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์เพื่อประเมินความน่า เชื่อถือของข้อมูล โดยชี้ให้เห็นเพียงบางประเด็นที่มีหลักฐานสนับสนุนไม่หนาแน่นพอ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกว่างานวิจัยข้างต้นนั้นไม่ถูกต้อง

           จนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ตอบข้อข้องใจทั้งหลายได้อย่างหมดจด ประเด็นต่างๆ ที่ตั้งคำถามไว้นั้นก็ยังคงมีสถานะเป็น "ไม่รู้" คือ ยังไม่อาจบอกได้ว่า "จริง" หรือ "เท็จ" ฉะนั้นอย่างเพิ่งรีบตื่นตระหนกจนเกินไป

 

 

อ้างอิง
    ข่าว
      http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322641587&grpid=&catid=09&subcatid=0904
      http://www.bbc.co.uk/news/health-15943816

    งานวิจัยต้นฉบับ
      http://www.fertstert.org/article/S0015-0282%2811%2902678-1

    บทความเก่า
      http://www.vcharkarn.com/varticle/41942


 

บทความที่เกี่ยวข้อง
1 หมัน!! อุปสรรคของคนรักเด็ก
2 คุณรู้หรือไม่ว่าแมวตกตึกกี่ชั้นถึงจะตาย ??
3 นั่งไขว่ห้าง ลดความเสี่ยงเป็นหมัน
*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิ ขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา เท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและแหล่งข้อมูลทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญา อนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
ท่านสามารถนำเนื้อหาในส่วนบทความไปใช้ แสดง เผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา ห้ามใช้เพื่อการค้าและห้ามดัดแปลง
Credit: วิชาการดอดคอม
#งานวิจัย
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
14 ธ.ค. 54 เวลา 05:55 3,343 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...