ตามไปเรียนสำเนียงภาษาไทย กับแดเนียล ฝรั่งหลงกรุง

 

 






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รายการหลงกรุง 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Youtube.com โพสต์โดย TheGuardianAngle1

           สยามเมืองยิ้ม :)  คำคำนี้ นับว่าเป็นคำที่บ่งบอกถึงความเป็น "ชาวสยาม" ได้เป็นอย่างดี ...  เพราะไม่ว่าจะยามสุข หรือยามทุกข์ สิ่งที่ติดตัวอยู่เสมอนั้นก็คือ "รอยยิ้ม" นั่นเอง จริงไหมล่ะคะ วันนี้เรามีเรื่องราวน่ารัก ๆ ของหนุ่มชาวแคนาดา ที่หลงรักประเทศแห่งรอยยิ้มอย่างถอนตัวไม่ขึ้น มาฝากกันค่ะ หนุ่มคนนี้มีชื่อเสียงเรียงนามว่า แดเนียล ซึ่งเขาจะพาเพื่อน ๆ ไปเรียน "ภาษาไทย" ผ่านการเดินทางท่องเที่ยว ไปดูกันซิว่า มีที่ไหนบ้างที่ แดเนียล ไปเรียนภาษา แล้วแดเนียล จะได้ภาษาใหม่ ๆ เป็นคำไหนบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ 

           ชาวแคนาดา นามว่า แดเนียล คนนี้ เดินทางท่องเที่ยวมาหลายต่อหลายปี แต่สรุปก็มาตกหลุมรักที่ประเทศไทย โดยหนุ่มแดเนียล บอกว่า ประทับใจ และรักเมืองไทยมาก ๆ เปรียบเหมือนประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเขา และจากการที่แดเนียลมาอยู่ประเทศไทยกว่า 10 ปีแล้ว เขาจึงได้ฝึกฝนภาษาไทย จนอ่านออก เขียนได้ ซึ่งคำถามที่แดเนียลต้องตอบเพื่อน ๆ ชาวต่างชาติเป็นประจำ นั่นก็คือ "แดเนียลฝึกพูดภาษาไทยได้อย่างไร", "แดเนียลเรียนภาษาไทยจากที่ไหน", "มีโรงเรียนสอนภาษาที่ไหนที่อยากแนะนำบ้าง" หรือ "มีหนังสือสอนภาษาไทยเล่มไหนที่อ่านเข้าใจง่ายที่สุด" ... 

           และคำตอบที่แดเนียลตอบเพื่อน ๆ ไปก็คือ ทุกที่ในการเดินทาง ผู้คนที่ได้พบเจอ ทุกคนล้วนเป็นครูในการสอนภาษาของแดเนียลทุกคน 

           วันนี้รายการ "หลงกรุง" พร้อมกับ "แดเนียล" จะพาเพื่อน ๆ ทุกคนออกเดินทางไปยังตลาดพลูกัน เริ่มต้นการเดินทางนั้น แดเนียลได้โดยสารรถแท็กซี่เพื่อไปยังจุดหมาย พอขึ้นรถไปแดเนียลก็อดที่จะฝึกภาษากับโชเฟอร์แท็กซี่ไม่ได้ โดยเริ่มต้นด้วยการถามชื่อเสียงเรียงนามพี่แท็กซี่ ทราบชื่อว่า "อุดร" แดเนียล ยกมือสวัสดี และขอเรียกพี่โชเฟอร์ว่า ... "ครูอุดร" 

           ครูอุดร เริ่มต้นด้วยการร้องเพลงในสำเนียงอีสานเพราะ ๆ ให้แดเนียลฟัง จนแดเนียลอดที่จะชื่นชม ยกมือขึ้นมาปรบไม่ได้ จากนั้นแดเนียลก็ลองพูดคุยกับครูอุดรเป็นภาษาไทย พร้อมทั้งอ้อนว่า "อยากเว้าอีสานเป็น" และสิ่งแรกที่แดเนียลอยากรู้นั่นก็คือ "เครื่องดนตรีที่มีชื่อเสียง ที่ จ.กาฬสิน นั่นคือ "ระนาด" ใช่หรือไม่ ? ทางด้านครูอุดร ตอบว่า เครื่องดนตรีที่ขึ้นชื่อไม่ใช่ระนาด แต่เป็น "โปงลาง" ซึ่งมีรูปร่างคล้าย ๆ กัน 
 


           "ถ้าระนาดมันจะเป็นถ่าง ๆ แต่ถ้าโปงลาง มันเป็น เทิ้ง ๆ " ครูอุดร กล่าว พร้อมอธิบายให้แดเนียลฟังอีกว่า สิ่งที่แดเนียลคิดว่ามันเป็นระนาดของ จ.กาฬสินธุ์ ที่จริงแล้วมันคือ โปงลาง ... หน้าตาคล้าย ๆ ระนาด แต่ระนาดนั้นลักษณะจะเป็นแนวนอน ส่วนโปงลางลักษณะเป็นแนวตั้ง นอกจากนี้ ครูอุดร ยังสอนคำศัพท์อีสานกับแดเนียลอีกมากมาย ทั้งคำว่า "บักสีดา" ที่แปลว่า "ฝรั่ง" หรือคำว่า "ฝรั่งดั้งโม้" ที่แปลว่า "คนฝรั่ง" และคำว่า "ตำบักหุ่ง" ที่แปลว่า "ส้มตำ" เป็นต้น 

           การเรียนการสอนในรถแท็กซี่เป็นไปอย่างสนุกสนาน ครูอุดร และลูกศิษย์แดเนียลผลัดกันถาม ผลัดกันตอบ สอนการเว้าอีสานกันอย่างออกรส และคำที่แดเนียลติดใจเป็นพิเศษคือคำว่า แซ่บ กับคำว่า อีหลี ซึ่งก่อนหน้านี้แดเนียลเข้าใจผิด ๆ ว่า คำว่า แซ่บ แปลว่า เผ็ด แต่อันที่จริงแล้ว แซ่บ ที่คนอีสานใช้กัน หมายถึง รสอร่อยนั่นเอง ส่วนคำว่า อีหลี ก็เป็นคำขยายแปลว่า มาก ถ้าอีหลีอีหลอ เป็นว่า สุดยอดจริง ๆ เมื่อแดเนียลได้ทราบดังนั้นแล้ว ก็กล่าวออกมาเสียงดัง ๆ ว่า "แดเนียลรักประเทศไทยอีหลีอีหลอ" ทำเอาครูอุดร หัวเราะอย่างเอ็นดู  
 


           ทั้งนี้ จากการเรียนภาษาอีสานในคอร์ดเร่งด่วนบนรถแท็กซี่นั้น แดเนียล ได้กล่าวว่า สำเนียง และภาษาอีสาน เป็นเสียงที่เพราะมาก ฟังสนุก มีเสียงสูงเสียงต่ำ ถึงแม้ว่าบนรถแดเนียลจะฟังเข้าใจบ้าง หรือไม่เข้าใจบ้าง แต่จะเห็นได้ว่า คนไทยไม่ว่า ภาคไหน ๆ ก็สื่อสารกันรู้เรื่อง 

           พอรถจอดที่หน้าตลาดพลูแล้ว แดเนียลก็อดที่จะชื่นชมตลาดเก่าแก่แห่งนี้ไม่ได้ เพราะตลาดดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึง วิถีชีวิตเก่า ๆ ของชาวบ้านอยู่บ้าง อีกทั้งยังมีของขายหน้าตาแปลก ๆ มากมาย แดเนียลก็ไม่รอช้า เริ่มบทเรียนใหม่ทันที กับคำที่แดเนียลอยากรู้มานาน นั่นก็คือคำว่า "ปากตลาด"ซึ่งแดเนียลพยายามหาความหมาย แต่ในดิกชันนารีไม่มีความหมายของคำนี้ ถ้าจะให้แปลตรงตัวอย่าง"เม้าส์มาร์เก็ต" ก็ดูจะไม่มีความหมายอะไร และเมื่อแดเนียลเจอแม่ค้าก็เดินปรี่เข้าไปถามความหมายทันที... 

           ทางด้านแม่ค้า ก็ตอบกลับอย่างอารมณ์ดีว่า คำว่า "ปากตลาด" หมายถึง การเสียงดังโวยวาย ซึ่งอาจจะเกิดจากการสั่งซื้อของเสียงดังข้ามไปยังร้านโน้นร้านนี้ แต่คนไทยเขาสื่อความหมายของคำนี้ว่า "เป็นคนปากจัด" พร้อมกล่าวทิ้งทวนอย่างน่ารัก ๆ ว่า "แต่แม่ค้าตลาดนี้ ไม่มีคนปากตลาดมีแต่แม่ค้าปากหวานเท่านั้นนะจ๊ะ"  
 


           ต่อกันด้วยร้านข้าง ๆ ที่ขายอุปกรณ์คล้าย ๆ ตะกร้า ไม่ว่าจะเป็นตะกร้อ สาแหรก กระบุ๋ง ฯลฯ ซึ่งแดเนียลเคยเห็นแต่ตะกร้อมาก่อน เลยถามคนขายว่า ทำไมตะกร้อไม่มีไม้ยาวไว้จับมะม่วง ทางคนขายก็สอนว่า "เขาไม่ได้เรียกจับมะม่วง เขาเรียกสอยมะม่วง สอยนะไม่ใช่สร้อยมะม่วง" พร้อมกันนี้คนขายยังสอนสำนวนไทยให้แดเนียล 1 คำ คือคำว่า "บ้านแตกสาแหรกขาด" หมายถึง ครอบครัวแตกแยกเหมือนสาแหรกเวลาขาด

           จากนั้นแดเนียลก็เดินทางทัวร์รอบตลาด และก็มาเจอ "พลู" เจ้าของชื่อตลาดนี้จนได้  ทางแดเนียลก็ไม่รอช้า รีบเข้าไปดูทันทีว่า เจ้า "พลู" นี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยคุณป้าแม่ค้า ก็บอกว่า พลูมันเป็นใบไม้ชนิดหนึ่ง ไว้เคี้ยวคู่กับหมาก หรือที่คนไทยเรียกกันว่า หมากพลู เมื่อได้ยินดังนั้น แดเนียล ก็ขอคุณป้าแม่ค้า "กินหมากพลู" ในทันที และเมื่อแดเนียลกัดไปคำแรก ก็ทำหน้าเหยเก และแทบจะบ้วนทิ้งไม่ทัน พร้อมบอกคุณป้าแม่ค้าว่า ทำไมกินแล้วลิ้นมันชาอย่างนี้ ส่วนคุณป้าแม่ค้า ก็หัวเราะอารมณ์ดีที่หลอกฝรั่งกินหมากพลูได้ 
 




           ถัดจากร้านขายหมากพลู แดเนียล ก็เดินทางมายังร้านขายปลาทูนึ่ง ซึ่งร้านนี้ แดเนียลก็สามารถเรียนรู้คำศัพท์ได้ หลายคำ ไม่ว่าจะเป็น นึ่ง, ต้ม, เข่ง ที่ออกเสียงว่า เข่ง ไม่ใช่ เข๋ง และคำว่า ปลาทู ที่ออกเสียงว่า ปลาทู ไม่ใช่ ปลาถู พร้อมยังได้สำนวนไทยมาอีกหนึ่งคำ นั่นก็คือคำว่า "จับปลาสองมือ" ที่แปลว่า เจ้าชู้ นั่นเอง 

           และเมื่อเดินทางกลับ แดเนียล ก็ได้นั่งแท็กซี่ ที่มีโชเฟอร์เป็นคนสุพรรณบุรี ชื่อว่า พิชัยยุทธ์ ทั้งนี้ แดเนียลได้ฝึกพูดสำเนียงเหน่อ ๆ แบบสุพรรณ ได้อย่างน่ารัก "พี่ก็หมา แม่ก็หมา แดเนียลก็หมา หมากันหม๊ดเลยเห็นไหม๊" (พี่ก็มา แม่ก็มา แดเนียลก็มา มากันหมดเลยเห็นไหม) เมื่อแดเนียลพูดเสร็จพี่โชเฟอร์ก็กล่าวคำชมว่า เหน่อได้เหมือนจริงมาก ๆ  และนอกจากพี่โชเฟอร์พิชัยยุทธ์ได้สอนสำเนียงเหน่อ ๆ แล้ว ยังได้เล่าเรื่องราวที่บ่งบอกได้ถึงการใช้ชีวิตในปัจจุบันของคนไทยด้วย
 


           โดยพี่แท็กซี่ เล่าว่า "ก่อนที่จะมาขับแท็กซี่ พี่ขับรถบรรทุกที่ต่างจังหวัดมาก่อน ถ้าถามว่าแตกต่างกันไหม มันก็ขับรถเหมือนกัน แต่ที่ต่างจังหวัดพวกเขาจะมีน้ำใจ เวลาไปไหนมาไหนก็ให้ทางกันตลอด ไม่เหมือนในกรุงเทพฯ ที่มีคนเห็นแก่ตัวมาก"  พี่แท็กซี่ ยังกล่าวต่อว่า "ตอนนี้พี่ก็ได้ร่วมกับวิทยุชุมชน คอยช่วยเหลือชาวบ้านด้วย ส่วนผู้โดยสารถ้าเขามีอะไรไม่สบายใจ พี่ก็พร้อมจะรับฟัง และให้คำแนะนำ อย่างก่อนหน้านี้มีผู้ชายทะเลาะกับแฟนมา พี่ก็บอกให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ ฟังกัน"  

           และจากการนั่งแท็กซี่ของพี่พิชัยยุทธ์ ทำให้แดเนียลได้ข้อคิดดี ๆ มีอีกข้อคือ คนเราอย่าเป็นฝ่ายพูดอย่างเดียว ต้องเป็นฝ่ายรับฟังบ้าง ถ้ามีแต่คนพูดไม่มีคนหยุดฟัง แล้วจะเข้าใจกันได้อย่างไร 

           ส่วนในช่วงหัวค่ำ แดเนียล ได้พาไปไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเขาบอกว่า เจดีย์สีเหลืองทองมีความสวยงามมาก เป็นที่สักการะของชาวพุทธ แต่พอตกกลางคืน พื้นที่หน้าเจดีย์กลายเป็นตลาดโต้รุ่ง แดเนียลเลยอยากลองเดิน และคิดว่าตลาดโต้รุ่งคงเป็นโรงเรียนสอนภาษาที่ดีให้กับแดเนียลได้อีกทีหนึ่ง
 




           ร้านแรกในตลาดที่แดเนียลเดินไปถึงนั้นก็คือ ร้านขายขนมหวาน ซึ่งแดเนียลถามคำศัพท์เกี่ยวกับขนมหวานหลายคำ แต่มาสะดุดหูอยู่กับคำว่าทับทิมกรอบ ซึ่งแดเนียลเข้าใจว่า คำว่าทับทิมคือจิลเวอรี่ หรือเครื่องประดับ แต่พอเมื่อได้เห็นชัด ๆ แดเนียลก็เข้าใจว่า ทำไมขนมชนิดนี้ถึงเรียกว่า ทับทิมกรอบ ... นั่นก็เป็นเพราะสีแดงสดใสของขนมมีหน้าตาคล้ายทับทิมที่เป็นเครื่องประดับนั่นเอง นอกจากนี้ แดเนียลยังได้ลองชิมขนมบ้าบิ่น ที่แดเนียลบอกว่า อร่อยมาก ๆ และชื่อก็แปลกมาก ๆ อีกด้วย ...

            1 วันของแดเนียลในการฝึกภาษาไทย ทั้งสำเนียงอีสาน และสำเนียงสุพรรณ ทำให้แดเนียลคิดว่า คนไทยช่างโชคดีที่มีภาษาที่สละสลวยและน่ารักอย่างนี้ แต่เมื่อวันก่อนแดเนียลได้อ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งในหลวงทรงห่วงใยประชาชนในเรื่องการพูดภาษา ไทยคำ ภาษาอังกฤษคำ ซึ่งเรื่องนี้แดเนียลคิดว่า ถึงแม้ว่า ตอนนี้จะมีภาษาวัยรุ่นเยอะแยะ อีกทั้งคำแสลงมากมาย ที่แดเนียลคิดว่า สนุก และเท่ทุกครั้งที่พูด  แต่ก็ไม่อยากให้เด็กไทยลืมภาษาไทยดั้งเดิม ซึ่งสละสลวยและงดงามมาก และเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของประเทศไทย... 

           ส่วนใครที่อยากติดตามความน่ารักของแดเนียล กับการผจญภัยในประเทศไทย ก็ติดตามชมกันได้ในรายการ "หลงกรุง" ทุกวันอาทิตย์เวลา 18.00 น. - 18.30 น. ทางช่องไทยพีบีเอส นะคะ

Credit: kapook
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...