10 ธ.ค.นี้ชมปรากฏการณ์ “จันทรุปราคา” ที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งบนโลกและดาวพฤหัสส่งท้ายปลายปี ด้าน สดร.ประสานงานเครือข่ายจัดกิจกรรม 10 แห่งทั่วประเทศ พร้อมถ่ายทอดสัญญาณทั้งสองปรากฏการณ์ผ่านอินเทอร์เน็ต ชี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดได้บ่อยและคำนวณได้ล่วงหน้านับพันปี
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.กล่าวว่า ในวันที่ 10 ธ.ค.54 จะเกิดปรากฏการณ์อุปราคาส่งท้ายปี 2554 โดยเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 2 ที่คนไทยจะได้เห็นในปีนี้ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 16 มิ.ย.54 ซึ่งในครั้งนั้นหลายคนพลาดโอกาสชมเพราะมีเมฆเยอะ ทาง สดร.เองได้ถ่ายทอดปรากฏการณ์ ซึ่งมีหลายช่วงที่ฟ้าเปิดและสามารถบันทึกภาพปรากฏการณ์ไว้ได้
“จันทรุปราคามีความถี่ในการเกิดน้อยกว่าสุริยุปราคา แต่เราเห็นการเกิดจันทรุปราคาพร้อมกันทั่วโลกได้ง่ายกว่า และจะเกิดได้ในช่วงที่จันทร์เต็มดวงเท่านั้น โดยโลก ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ต้องอยู่ตรงกัน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นทุกเดือน จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดการที่ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก ซึ่งมีลักษณะเป็นกรวยสามเหลี่ยมทอดออกไปในอวกาศ” ดร.ศรัณย์อธิบาย
สำหรับปรากฏการณ์ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ รอง ผอ.สดร.แจงว่าดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกเวลา 18.33 น.แต่เราจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ยาก ยกเว้นคนที่สังเกตดวงจันทร์บ่อยๆ จะเห็นว่าดวงจันทร์หมองลง จากนั้นเวลา 19.46 น.ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามืด ซึ่งเราจะได้เห็นการเกิดจันทรุปราคาบางส่วน และจะจันทรุปราคาเต็มดวงเวลา 21.06 น.และสิ้นสุดที่เวลา 21.57 น. จากนั้นจะเหมือนการฉายภาพย้อนกลับ คือจันทร์จะเริ่มออกจากคราสและสิ้นสุดปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เวลา 00.30 น.ของวันที่ 11 ธ.ค.54 รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 6 ชั่วโมง
“ครั้งนี้มีระยะเวลาการเกิดคราสเต็มดวงนาน 51 นาที ส่วนเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.เกิดคราสเต็มดวงนาน 100 กว่านาที แต่ครั้งนั้นหลายคนไม่ได้เห็นเพราะฟ้าปิด สำหรับครั้งล่าสุดดวงจันทร์จะเข้าทางด้านใต้ของเงามืด ซึ่งจะทำให้เราเห็นด้านใต้ของดวงจันทร์ค่อนข้างสว่าง เมื่อเกิดคราสเต็มดวงดวงจันทร์ไม่ได้มืดแต่จะเปลี่ยนเป็นสีแดง เนื่องจากแสงสีแดงของดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศโลกแล้วตกกระทบบนดวงจันทร์ ซึ่งนักดาราศาสตร์พบว่าสีแดงนี้ยังเชื่อมโยงกับสภาพอากาศและฝุ่นละอองบนโลก” ดร.ศรัณย์
นอกจากนี้ในช่วงเวลาเกิดจันทรุปราคาบนโลกยังเกิดจันทรุปราคาบนดวงจันทร์ของ ดาวพฤหัสบดี คือ ดวงจันทร์ไอโอ (Io) ดร.ศรณย์เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ส่วนตัวแล้วเขาเคยเห็นปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างบ่อย และมากกว่าจันทรุปราคาบนโลก เพราะดาวพฤหัสมีดวงจันทร์หลายดวงและมีขนาดใหญ่มาก จึงทำให้เกิดจันทรุปราคาหลายสิบครั้ง แต่ไม่เป็นข่าวดังเท่านั้นเอง
จันทรุปราคาที่จะเกิดบนดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดีนั้นจะเกิดในช่วงที่ กำลังมีปรากฏการณ์จันทรุปราคาบนโลกพอดี ซึ่งถือเป็นความพิเศษอย่างหนึ่ง โดยดวงจันทร์จะเข้าไปด้านหลังดาวก๊าซยักษ์ในเวลา 18.22 น. ซึ่งในช่วงนี้ยังไม่เห็นอะไรเนื่องจากเงาดาวพฤหัสบังไว้หมด จะเริ่มเห็นปรากฏการณ์เมื่อไอโอเริ่มออกจากเงามืดแล้วในเวลา 21.22 น. ซึ่งระหว่างการสังเกตนั้นจะเห็นจุดสว่างค่อยๆ โผล่ออกจากความมืด ทั้งนี้ เราไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์อุปราคาของดาวเพื่อนบ้านได้ด้วยตาเปล่า แต่สังเกตได้ด้วยอุปกรณ์กล้องส่องทางไกลหรืออุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่มีกำลัง ขยาย 80 เท่าขึ้นไป
ทั้งนี้ ทาง สดร.ได้เตรียมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จันทรุปราคาทั้งดวงจันทรืของโลกและที่เกิด ขึ้นบนดวงจันทร์ไอโอผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบัน ซึ่งได้ปรับปรุงให้สามารถรองรับการเข้าชมจำนวนมากๆ ได้ หลังจากมีประสบการณ์เซิร์ฟเวอร์ล่มเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นผู้คนจำนวนมากเข้าชมการถ่ายทอดสด เนื่องจากหลายพื้นมีเมฆบดบังจนไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ ในส่วนของจันทรุปราคาบนโลกนั้นจะถ่ายทอดสัญญาณการเกิดปรากฏการณ์จาก เชียงใหม่และยังได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ร่วมถ่ายทอดสัญญาณปรากฏการณ์จาก จ.ฉะเชิงเทราด้วย
พร้อมกันนี้ สดร.ได้ร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมสังเกตจันทรุปราคาทั่วประเทศจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, น่าน, ลพบุรี, อุบลราชธานี, อุดรธานี, นครราชสีมา,ขอนแก่น, ภูเก็ต และ สงขลา ซึ่งทางสถาบันได้จักิจกรรมที่บริเวณลานกิจกรรมหน้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ พร้อมตั้งกล้องโทรทรรศน์กว่า 10 ตัวไว้ให้บริการ รวมถึงฉายภาพยนตร์ 3 มิติภายในโดมดิจิทัลจากรัสเซียด้วย (ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมที่ จ.เชียงใหม่ แจ้งความจำนงได้ที่ 0-5322-5569 ต่อ 305) ซึ่งสามารถร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“เราชวนให้ดูปรากฏการณ์นี้เพราะอยากให้เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สามารถคำนวณได้แม่นยำนระดับวินาที คำนวณได้ล่วงหน้าเป็นพันๆ ปี และไม่ได้เกิดขึ้นแค่บนโลก แต่ยังเกิดขึ้นที่ดาวเพื่อนบ้านของเราด้วย” ดร.ศรัณย์กล่าว
ทั้งนี้จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงให้คนไทยได้ชมอีกครั้ง ในวันที่ 8 ต.ค.57
ภาพการเกิดจันทรุปราคาที่ระยะต่างๆ ตั้งแต่เข้าสู่เงามัว เงามืด คราสเต็มดวงและเริ่มออกจากคราส (สดร.)
ภาพอธิบายการเกิดคราสในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งดวงจันทร์จะเข้าไปด้านใต้ของเงามืด (สดร.)
ภาพอธิบายการเกิดจันทรุปราคาที่เกิดจากการโคจรของดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดของโลก (สดร.)
ภาพแสดงตำแหน่งดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีขณะเกิดปรากฏารณ์จันทรุปราคาของดาวพฤหัสบดี (สดร.)
สถานที่จัดกิจกรรมสังเกตจันทรุปราคาบริเวณลานกิจกรรมหน้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ (สดร.)
ภาพร่างแสดงการจัดกิจกรรมสังเกตจันทรุปราคาบริเวณลานกิจกรรมหน้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ (สดร.)
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา