ในหลวงทศพิธราชธรรม"๑o ประการ

 ราชธรรม ๑๐ ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญมาโดยสม่ำเสมอ ได้แก่ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความเที่ยงธรรม ราชธรรม ๑๐ ประการนี้เรียกว่า "ทศพิธราชธรรม"




©   หนึ่งท้าวประกอบมนสะเอื้น      อนุเคราะหะอวดทาน
      เพื่อชนนิกรสุขะสราญ              ฤดิเพื่อ บ่ ยากจน

จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          

          นับ แต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมีมากมายจนเหลือที่จะพรรณนาได้สุดสิ้น ครบถ้วนทั้งสองประการ คือ “ธรรมทาน” ซึ่งถือเป็นทานอันเลิศทางพระพุทธศาสนา สามารถแก้ความทุกข์ยากขาดแคลนทางจิตใจ ทำให้ใจเป็นสุขและตั้งอยู่ในความดีงาม โดยได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแฝงด้วยคติธรรมเป็นเครื่องเตือนใจในเรื่องต่าง ๆ แก่พสกนิกรตามสถานะและวาระโอวาทอยู่เสมอ ในท้องถิ่นที่ต้องการความรู้ ได้พระราชทานความรู้และตรัสแนะนำในสิ่งอันจะทำประโยชน์มาให้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่จะทรงช่วยดับทุกข์ความเดือดร้อนในจิตใจของประชาชน ทั้งมวล

          นอกจากธรรมทานแล้ว “อามิสทาน” หรือ “วัตถุทาน” ก็ทรงมีพระเมตตาคุณในพระราชหฤทัยเป็นล้นพ้น ได้พระราชทานพระราชทรัพย์และวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เพื่อแก้ความทุกข์ยากขาดแคลนทางกายให้แก่พสกนิกรเสมอมา

          ใน การบำเพ็ญทางบารมีนี้ ได้ทรงบำเพ็ญตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสองทุกประการ คือ ทรงบำเพ็ญครบถ้วนตามคุณสมบัติของทาน ๓ ประการ ได้แก่ คุณสมบัติของทานประการที่หนึ่ง คือ การพระราชทานให้แก่บุคคลที่สมควรได้รับการอนุเคราะห์โดยมิได้ทรงเลือกเชื้อ ชาติหรือศาสนา คุณสมบัติของทานประการที่สอง คือ ถึงพร้อมด้วยเจตนาโดยทรงมีพระเมตตาคุณเปี่ยมล้นในพระราชหฤทัยทั้งก่อนการพระ ราชทาน ขณะพระราชทาน และหลังการพระราชทานแล้ว คุณสมบัติประการที่สาม คือ วัตถุที่พระราชทานนั้นล้วนเป็นประโยชน์แก่ราษฎรผู้รับพระราชทาน ให้พ้นจากการขาดแคลนได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

          นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญทานให้เป็นบุญตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ คือ บำเพ็ญให้เป็นเครื่องชำระกิเลสอันมีความละโมบ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น “สวนหลวง ร.๙“ ซึ่งชาวไทยร่วมใจกันสร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นราชสักการะ ก็มิได้ทรงสงวนไว้สำหรับพระองค์แต่ได้พระราชทานให้เป็นสาธารณสถาน เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยทั้งมวล

          ส่วนโครงการหลวง โครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่มีอยู่นับพันโครงการทั่วประเทศ รวมทั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งโปรดให้ตั้งขึ้นในภาคต่าง ๆ เพื่อศึกษาพื้นที่และวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชผลให้เหมาะแก่ท้องถิ่น อันเป็นการแก้ไขต้นเหตุแห่งปัญหาเพื่อพัฒนาประเทศให้ได้ผลนั้น จัดเป็นการบำเพ็ญทานให้เป็นกุศล คือ เป็นกิจของคนดีคนมีปัญญา ถูกกาลสมัย เหมาะแก่ความต้องการของผู้รับ ไม่ทำให้พระองค์หรือผู้ใดเดือดร้อน การบำเพ็ญทานให้เป็นกุศลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงยังผลให้ไพร่ฟ้าหน้าใสได้โดยทั่วหน้ากัน

©  ด้วยท้าวประกอบมนสะเอื้อ      อนุเคราะอวดทาน
      จึ่งไทยพสกสุขะสราญ            ฤดิชื่นระรื่นทรวง



©   หนึ่งคือประพฤติศุภะสำรวม    จิตะมุ่งมนูญผล
      ทรงศีละสังวระวิมล                 ธุระมุ่งเสวยสวรรค์

จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ตลอดมาว่า ทรงเคร่งครัดในการรักษาศีล และทรงมีน้ำพระทัยนับถือพระพุทธศาสนาโดยบริสุทธิ์ ดังจะเห็นได้จากการเสด็จออกทรงผนวชรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ของพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จมาประทับรักษาศีลตามพุทธบัญญัติ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยประทับ ณ "พระตำหนักปั้นหย่า" แล้วจึงเสด็จมาประทับ ณ "พระตำหนักทรงพรต" ตามขัตติยราชประเพณี แม้เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ยังคงเสด็จมาประทับนั่งสมาธิกรรมฐานเป็นครั้งคราว ณ พระตำหนักทรงพรตนี้

          ตลอดระยะเวลาแห่งการทรงผนวช ทรงดำรงพระองค์ได้งดงามบริสุทธิ์ สมควรแก่การเป็นพุทธสาวก จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา แก่พสกนิกรโดยทั่วหน้า

         เมื่อ ทรงลาผนวชมาอยู่พระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราชแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงประพฤติอยู่ในศีลโดยบริสุทธิ์ กล่าวคือ ทรงประพฤติพระราชจริยาในทางพระวรกายและในทางพระวาจาให้สะอาดงดงามถูก ต้องอยู่เป็นนิจ ไม่เคยบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นศีลในการปกครอง หรือศีลในทางศาสนาก็ตาม

          ในด้านศีลในการปกครอง คือ การประพฤติตามกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงามนั้น ไม่เคยปรากฎเลยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์เหนือกฎหมาย และไม่เคยมีแม้แต่สักครั้งเดียวที่จะทรงละทิ้งจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ และของพระราชวงศ์ พระเกียรติคุณในข้อนี้เป็นที่ซึมซาบในใจของชาวไทยเป็นอย่างดี นับจากกาลเวลาที่ล่วงผ่านมาตราบจนถึงทุกวันนี้

          ส่วนศีลในทางศาสนา อย่างน้อยคือศีลห้าอันเป็นศีลหรือกฎหมายที่ใช้ในการปกครองแผ่นดินมาตั้งแต่อดีตก่อนพุทธกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสมาทานรักษาอย่างเคร่งครัด และทรงสนับสนุนให้พสกนิกรของพระองค์สมาทานรักษาอย่างเคร่งครัด และทรงสนับสนุนให้พสกนิกรของพระองค์สมาทานรักษาเช่นเดียวกัน

          สำหรับ ผู้ที่มิได้นับถือพุทธศาสนา พระองค์ทรงสนับสนุนให้ยึดมั่นตามคำสอนแห่งศาสนาอันตนศรัทธา ด้วยทรงตระหนักว่าทุกศาสนามีหลักคำสอนที่นำไปสู่การประพฤติดี ศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันของชนหมู่มาก แม้บัดนี้ในการปกครองจะมีกฎหมายอยู่แล้วก็ยังต้องอาศัยศาสนาเป็นเครื่อง อุปการะ ด้วยกฎหมายบังคับได้เพียงแค่กาย ส่วนศาสนาสามารถเข้าถึงจิตใจ น้อมนำไปปฏิบัติตามโดยไม่ต้องบังคับ

          การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปกครองบ้านเมืองด้วยกฎหมายและศาสนา ประกอบกับการที่ทรงสมาทานศีลอย่างเคร่งครัดดังปรากฎในที่ทุกสถาน ชาวไทยจึงมีความสุขสงบและวัฒนาด้วยศีลบารมีแห่งพระองค์

©   ด้วยท้าวประพฤติศุภะสำรวม     จิตะมุ่งมนูญผล
     ทรงศีละสังวระวิมล                  สุขะจึ่งสถิตไทย





©  หนึ่งเอื้อบำรุงสมณพราหมณ์       และประดิษฐ์หิตานันท์
    โรงเรียนสะพานและคฤหะอัน      ชนไข้จะพึงประสงค์

จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ในด้านการบริจาค ซึ่งหมายถึงการเสียสละสิ่งที่ไม่มีประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยกว่า เพื่อสิ่งที่มีประโยชน์ใหญ่ยิ่งกว่านั้น ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือประโยชน์และความเจริญของชาติ ศาสนา รวมทั้งประโยชน์สุขของพสกนิกร สำคัญยิ่งกว่าพระองค์เอง พระราชกรณียกิจนานัปการจึงเป็นไปเพื่อความวัฒนา และประโยชน์สุขของชาวไทยและสถาบันดังกล่าว

          ด้าน การศาสนา ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภกศาสนาต่าง ๆ อันมีในประเทศไทย และได้พระราชทานทรัพย์เพื่อทะนุบำรุงไปเป็นจำนวนมาก โดยพระพุทธศาสนานั้นทรงมีคุณูปการเป็นอเนกอนันต์ ทั้งในการบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชียสถาน อันมีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น การสร้างถาวรวัตถุ เช่น "พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร." และ "พระพุทธนวราชบพิตร" เป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเสด็จไปพระราชทานด้วยพระองค์เองแก่ทุกจังหวัดทั่วประเทศนั้น ได้ทรงบรรจุที่ฐานด้วยพระพิมพ์ซึ่งทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ทั้งในพระองค์และจากจังหวัดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านอื่น ๆ อีกนานัปการ ด้วยศรัทธาและปริจาคะของพระองค์เช่นนี้ จึงไม่น่าสงสัยที่พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองจนประเทศไทยกลายเป็นแหล่งศึกษาพระ ธรรม ของชาวต่างประเทศและเป็นแหล่งส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระศาสนาในประเทศต่าง ๆ

          ใน ด้านการสงเคราะห์ ได้ทรงเสียสละพระราชทรัพย์และสิ่งของจำนวนมากมายจนสุดที่จะประมาณได้ เพื่อดับความทุกข์ยากของพสกนิกรในยามประสบภัยพิบัติและในถิ่นทุรกันดาร

          ทรงสละพระราชทรัพย์เพื่อพัฒนาการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย โดยโปรดให้มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนในถิ่นยากจนต่าง ๆ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน และทุนอานันทมหิดลเพื่อส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่างประเทศ เป็นต้น

          ทรงสละพระราชทรัพย์นับจำนวนไม่น้อย ในการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่มูลนิธิและสาธารณสถานต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของชาวไทย

          ทรงเสียสละพระราชทานที่นาของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในจังหวัดต่าง ๆ กว่า ๕๐,๐๐๐ ไร่ ให้เข้าอยู่ในโครงการปฏิรูปที่ดิน เมื่อปี ๒๕๑๘ เพื่อแบ่งปันที่ทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจน

          การที่ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ วัตถุสิ่งของและที่ดินจำนวนมหาศาล รวมทั้งการที่ทรงเสียสละปฏิบัติพระราชภารกิจทั้งนอกและในประเทศ พระราชภารกิจในโครงการพระราชดำรินับพัน ๆ โครงการทั่วประเทศนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดในความเสียสละอันใหญ่หลวงของพระองค์ ด้วยทรงเสียสละเวลา พระปรีชาสามารถ และความสำราญพระราชหฤทัยทั้งมวล ทรงยอมรับความเหน็ดเหนื่อยพระวรกายทุกประการเพื่อพสกนิกร อย่างไม่มีประมุขประเทศใดในขณะนี้ จะเสียสละได้เทียบเท่าที่พระองค์ทรงเสียสละให้แก่พสกนิกรไทยมาเนิ่นนานไม่น้อยกว่า ๔๑ ปี

©   ด้วยท้าวบำรุงสมณพราหมณ์      และประดิษฐ์หิตานันท์
      จึ่งพุทธศาสน์นิกะระพลัน           พุฒิเพิ่มเพราะภูมินทร์

(หมายเหตุ ผงศักดิ์สิทธิ์ในพระองค์ ได้แก่
          ๑. ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธปฏิมากรตลอดเทศกาล จนถึงคราวที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ดอกไม้แห้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมไว้
           ๒. เส้นพระเจ้า ซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง
           ๓. ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระแสงขรรค์ชัยศรี ใรพระราชพิธีฉัตรมงคล
           ๔. สี ซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์
          ๕. ชันและสี ซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง ขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง

          ผงศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดต่าง ๆ ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ได้แก่วัตถุที่ได้มาจากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด อันได้แก่ดินหรือตะไคร่น้ำแห้งจากปูชนียสถานเปลวทองคำปิดพระพุทธรูป ผงรูปหน้าที่บูชา และน้ำจากบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้เคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษก  ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)





©  หนึ่งมีมลวิมละใส              หฤทัย ธ ซื่อตรง
      เป็นนิตย์นิรันตะระธำรง     สุจริต ณ ไตรทวาร

จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          อัน ทศพิธราชธรรมข้อที่สี่ คือ อาชชวะ หรือความซื่อตรงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติอยู่นิจ สำหรับผู้ที่มีอายุคงจะจำกันได้ดีว่าหลังจากที่ได้ทรงดำรงสิริราชสมบัติแล้ว ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ อันเป็นวันกำหนดเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ ระหว่างประทับรถพระที่นั่งเพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปขึ้นเครื่องบินนั้น ได้มีเสียงร้องมาจากกลุ่มพสกนิกรที่เฝ้าส่งเสด็จว่า "อย่าทิ้งประชาชน" และได้มีพระราชดำรัสตอบในพระราชหฤทัยว่า "เราจะไม่ทิ้งประชาชน ถ้าประชาชนไม่ทิ้งเรา" การตั้งพระราชหฤทัยดังนี้เสมือนเป็นการพระราชทานสัจจะ ว่าจะทรงเป็นร่มบรมโพธิสมภารของพสกนิกรตลอดไป

          ครั้น ต่อมาในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นวันที่ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้มีพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรทั่วประเทศว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" วันเวลาที่ล่วงผ่านไปเนิ่นนานจากวันนั้นถึงวันนี้ ๔๑ ปีเศษแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรักษาสัจจะที่ได้พระราชทานให้แก่ พสกนิกรทั้งสองประการ มาอย่างสมบูรณ์สม่ำเสมอ พระองค์ไม่เคยทรงทอดทิ้งพสกนิกร ด้วยทรงถือเอาความทุกข์เดือดร้อนของพสกนิกรเป็นความทุกข์เดือดร้อนของ พระองค์เอง เหตุนี้เมื่อเกิดความเดือดร้อนหรือภัยพิบัติในส่วนใดของประเทศ พระองค์จะเสด็จฝ่าไป ไม่ว่าระยะทางจะใกล้ไกล ทุรกันดารเพียงใด แดดจะแผดกล้าร้อนแรง หนทางจะคดเคี้ยวข้ามขุนเขา พงไพรจะรกเรื้อแฉะชื้นเต็มไปด้วยตัวทาก ฝนจะตกกระหน่ำจนเหน็บหนาว น้ำจะท่วมเจิ่งนอง พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อที่จะเสด็จไปประทับเป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรผู้ทุกข์ ยาก เพื่อทรงดับความเดือดร้อนให้กลับกลายเป็นความร่มเย็น

          นอก จากนี้ยังทรงครองแผ่นดินด้วยธรรมานุภาพ ไม่ว่าการสิ่งใดอันจะยังความทุกข์สงบมาสู่พสกนิกร พระองค์จะทรงปฏิบัติ และการสิ่งใดที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรประพฤติปฏิบัติตาม จะพระราชทานกระแสพระราชดำรัสชี้แจงถึงเหตุและผลให้เข้าใจ พสกนิกรผู้ปฏิบัติจึงปฏิบัติด้วยเห็นประโยชน์แห่งผลของการปฏิบัตินั้น ปฏิบัติด้วยความเต็มใจและด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ มิใช่ด้วยความกลัวเกรงพระบรมเดชานุภาพ การครองแผ่นดินโดยธรรมของพระองค์จึงยังประโยชน์สุขมาสู่มหาชนชาวสยาม สมดังพระราชปณิธาน

          คง ไม่มีความรู้สึกอันใดที่จะวาบหวานและซาบซึ้งใจชาวไทย ยิ่งไปกว่าความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พระผู้ทรงมีพระราชอัธยาศัยเปี่ยมไปด้วยอาชชวะคือความซื่อตรงต่อพสกนิกรและ ประเทศชาติ

©   ด้วยท้าวทรงวิมละใส         หฤทัย ธ ซื่อตรง
      จึ่งชนและชาติถิระธำรง      ทฤฆะทัศน์จรัสเรือง







©   หนึ่งคือหทัยบ่มิกระด้าง           บ่มิพึงจะรุนราญ
       บ่มิถือพระองค์สมะสมาน         มนะน้อมนิยมชม

จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ราชธรรมในข้อมัททวะหรือความอ่อนโยนนี้ เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรมาช้านานแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยนเพียบพร้อมทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนโยนในความหมายทางโลกหรือความหมายทางธรรม

          ความอ่อนโยนในความหมายทางโลก คือความอ่อนโยนต่อบุคคลอื่นในสังคม อันเป็นมารยาทที่บุคคลในสังคมจะพึงปฏิบัติต่อกันเพื่อผลดีในทางสังคม ความอ่อนโยนในความหมายนี้ย่อมชี้ให้เห็นชัดได้ด้วยพระราชจริยาวัตรต่าง ๆ ในที่ทุกสถาน

          ส่วน ความอ่อนโยนในทางธรรมนั้น มีความหมายกว้างขวางมาก คือ หมายถึงความสามารถโอนอ่อนผ่อนตาม น้อมไป หรือเปลี่ยนไปในทางแห่งความดี ทำให้เกิดการผสมผสานกันอย่างดีในทางการงานและบุคคลแก่บุคคลทุกระดับชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าถึงธรรมะในข้อนี้เป็นอย่างดี และอย่างถ่องถ้วนทุกระดับขั้น

          ขั้นแรก คือ ความอ่อนโยนทางพระวรกาย ทุกพระอิริยาบถที่ปรากฎไม่มีที่จะแสดงถึงความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือถือพระองค์เลยจะมีก็แต่ความอ่อนโยน นิ่มนวล งดงาม เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์พระราชหฤทัย อันยังความชื่นชมโสมนัส และอบอุ่นใจให้เกิดแก่พสกนิกรโดยทั่วกัน

          ขั้นที่สอง คือ ความอ่อนโยนทางพระวาจา อันพึงเห็นได้จากการที่ทรงมีพระราชปฏิสังถารแก่ราษฎรซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่มารับเสด็จอย่างใกล้ชินสนิทสนม ไม่เคยมีพระวาจาที่กระด้าง มีแต่อ่อนโยนสุภาพละมุนละไม แม้จะทรงอยู่ในพระราชฐานะอันสูงสุด กลับทรงแสดงพระองค์เป็นธรรมดาอย่างที่สุด มิได้ทรงวางพระองค์ให้แตกต่างห่างไกลจากประชาชนที่ประกอบด้วยฐานะต่าง ๆ กัน ทางปฏิบัติพระองค์เป็นกันเอง เสมือนบิดาปฏิบัติต่อบุตรอันเป็นที่รัก ตรัสพระวาจาอ่อนหวานอันควรดื่มด่ำไว้ในหัวใจเป็นอย่างยิ่ง

          ขั้นที่สาม คือ ความอ่อนโยนนิ่มนวลทางจิตใจและสติปัญญา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุถึงมัททวะในขั้นนี้อย่างแท้จริง และทรงเข้าพระทัยในธรรมะของชีวิตอย่างลึกซึ้งว่า แต่ละชีวิตย่อมมีหน้าที่หลายอย่าง พระองค์จึงทรงวางพระทัยให้อ่อนโยน และทรงวางพระสติปัญญาให้โอนอ่อนไปตามสถานภาพได้อย่างเหมาะสม เช่นในพระราชฐานะต่าง ๆ ในพระบรมราชวงศ์ (ทั้งพระราชฐานะที่เป็นพระราชโอรส เป็นพระอนุชา เป็นพระบิดา เป็นอัยกา ฯลฯ)

          ในพระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราช ทรงมีสัมมาคารวะอ่อนน้อมแด่ผู้เจริญโดยวัยและเจริญโดยคุณ และมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอพระองค์และต่ำกว่า ไม่เคยทรงดูหมิ่น การที่ทรงวางพระองค์เช่นนี้จึงก่อให้เกิดความสุขความเจริญแก่บ้านเมือง และความปิติศรัทธาแก่ชาวไทยอย่างไม่มีอะไรจะเปรียบ

©    ด้วยท้าวประทานมธุรถ้อย         รติร้อยมโนชน
       อ่อนโยนอดุลย์จริยะดล               รติท้าวสนิทใจ




©    หนึ่งเผากิเลสอกุศล              มละกลั้ว ณ อารมณ์
        ด้วยการบำเพ็ญพิระอุดม     วรศาสโนบาย

จาก พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ราชธรรมข้อที่หก คือ ตบะ หรือความเพียร เป็นราชธรรมที่มีการตีความหมายกันไว้หลายประการ แต่ไม่ว่าจะตีความหมายโดยนัยอย่างใด การดำรงพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงอยู่ในขอบข่ายของพระมหากษัตริยาธิราชผู้ทรงบำเพ็ญตบะบารมีอยู่นั่นเอง

          ตบะ ในความหมายหนึ่งคือความเพียรเป็นเครื่องแผดเผาความเกียรคร้าน โดยความหมายนี้จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบด้วยพระราชอุตสาหะวิริยภาพเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ไม่โปรดที่จะประทับอยู่เฉย ทรงพอพระราชหฤทัยในการเสด็จพระราชดำเนินออกทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่น ต่าง ๆ แม้ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล ขวางกั้นด้วยผืนน้ำกว้างใหญ่ ป่าทึบ หรือเขาสูงสุดสายตาเพียงเพื่อให้ทรงทราบถึงความทุกข์สุขของราษฎร ด้วยพระเนตรพระกรรณของพระองค์เอง เมื่อทรงทราบแล้วก็มิได้ทรงนิ่มนอนพระราชหฤทัย แต่ได้ทรงมีพระราชดำริริเริ่มสิ่งต่าง ๆ เพื่อขจัดความทุกข์เดือดร้อนของราษฎรทั้งในด้านการอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย การศึกษาและอื่น ๆ ด้วยพระราชอุตสาหะ วิริยภาพเช่นนี้ พระองค์จึงทรงขจัดความขัดข้องความยากจนขัดสนทั้งหลายให้แก่ราษฎรได้โดยทั่ว กัน

          ตบะ ในอีกความหมายหนึ่ง หมายถึงความตั้งใจกำจัดความเกียจคร้านและการกระทำผิดหน้าที่ มุ่งทำกิจอันเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ ซึ่งเป็นกิจที่ดีที่ชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญตบะในความหมายนี้ได้อย่างครบถ้วน เช่นเดียวกัน ในพระราชฐานะแห่งพระมหากษัตริยาธิราช ทรงมีหน้าที่ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ได้รับความร่มเย็น พระองค์ได้ทรงตั้งพระราชอุตสาหะวิริยภาพ ประกอบด้วยปัญโญภาส ปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปด้วยดีไม่มีข้อผิดพลาด ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรโดยไม่หยุดยั้ง โครงการพระราชดำริของพระองค์จึงมีนับพัน ๆ โครงการไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงติดตามกิจการที่ได้ทรงปฏิบัติหรือโปรดให้ปฏิบัติโดยใกล้ชิด โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะทรงลำบากยากพระวรกายเพียงไร แต่ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงพอพระราชหฤทัยที่จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจ ด้วยพระราชอุตสาหะวิริยภาพโดยไม่มีวันว่างเว้น และในวันหนึ่ง ๆ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้มายมายจนไม่น่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะสำหรับบุคคลโดยทั่วไปหากจะเป็นไปได้เช่นนั้น ก็คงต้องใช้เวลาหลายวันมิใช่วันเดียว ดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติ

          ตบะ ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเพียรในการละอกุศลกรรม เพียรอบรมกุศลบุญต่าง ๆ ให้บังเกิดขึ้น โดยความหมายนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเพียบพร้อมด้วยพระราชวิริยภาพที่จะทรงเอาชนะความชั่วต่าง ๆ ด้วยความดี ทรงมีพระตบะเดชะ เป็นที่เทิดทูนยำเกรงการสมาทานกุศลวัตรของพระองค์ จึงสามารถเผาผลาญกำจัดอกุศลกรรมให้เสื่อมสูญได้โดยสิ้นเชิง อาณาประชาราษฎร์ผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิ

Credit: http://www.dhammajak.net/ratchathum/rat01.htm
#ทศพิธราชธรรม
bass2029
นักแสดงรับเชิญ
8 ธ.ค. 54 เวลา 19:14 20,463
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...