ภาพพิธีเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ของเหล่าลูกแรงงานต่างถิ่น เด็กนักเรียนของโรงเรียนประถมหลิงจื้อ อาจจะดูคับแคบไปสักหน่อย เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่บนชั้นดาดฟ้าเล็กๆ ของอาคารที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย แต่กระนั้นโรงเรียนเอกชนเล็กๆ แห่งนี้ก็ยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วถึง 12 ปีเต็ม (ภาพ เฟิ่งหวง)
โรงเรียนประถมหลิงจื้อ เป็นโรงเรียนเอกชนสำหรับบรรดาลูกหลานแรงงานอพยพ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 โดยทำการเช่าอาคารสี่ชั้นเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านพักอาศัยเพื่อใช้ในการเรียนการสอน โดยปรับเปลี่ยนห้องพักแต่ละห้องให้เป็นห้องเรียน ส่วนดาดฟ้าที่เดิมมีไว้เพื่อให้ผู้เช่าตากเสื้อผ้า ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นลานกิจกรรมและที่ออกกำลังกายของเด็กๆ ทำให้คนละแวกนั้นรู้จักโรงเรียนแห่งนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า "โรงเรียนบนหลังคา"
เมื่อถึงเวลานอนกลางวัน ก็ต้องนอนเรียงซ้อนกันเหมือนปลาในเข่งปลาทู (ภาพ เฟิ่งหวง)
จากการที่สื่อจีนได้สัมภาษณ์ครูแซ่หวง ซึ่งเป็นคุณครูคนหนึ่งในโรงเรียนหลิงจื้อแห่งนี้ ได้ความว่า ปัจจุบันโรงเรียนประถมหลิงจื้อมีครูทั้งหมด 18 คน มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวมทั้งหมด 400 คน และนักเรียนชั้นอนุบาลอีก 1 ห้อง โดยห้องเรียนจะกระจายอยู่ในชั้นต่างๆ บนอาคารที่มีพื้นที่ห้องแคบ-กว้างไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่จะคับแคบ บางห้องนักเรียน 30 กว่าคนอัดกันอยู่ในห้องขนาด 20 กว่าตางรางเมตร บางห้องนักเรียน 5 คนต้องนั่งเรียนรวมกันบนโต๊ะเรียนเพียง 2 ตัวเท่านั้น ทั้งนี้นักเรียนของโรงเรียนหลิงจื้อล้วนเป็นลูกๆ ของบรรดาแรงงานอพยพแทบทั้งสิ้น ส่วนการขยับขยายโรงเรียนหรือย้ายไปเช่าพื้นที่อื่นนั้น ทางโรงเรียนกล่าวว่าค่อนข้างยากเพราะติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตเปิดการเรียนการสอน รวมทั้งใบรับรองกรรมสิทธิ์เช่าอาคาร ดังนั้นโรงเรียนหลิงจื้อจึงดำเนินกิจการอยู่ที่นี่มาถึง 12 ปีแล้ว
เมื่อภาพโรงเรียนแห่งนี้ถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อและเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ในประเทศจีนเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิทธิของกลุ่มแรงงานอพยพเหล่านี้ เพราะขณะที่พวกเขาเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนยุคนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ทว่าพวกเขากลับกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของเมืองที่พวกเขาไปทำงานและอาศัยอยู่
"12 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีอำนาจเต็มที่ในการเปลี่ยนแปลง(โรงเรียน)ให้ดีขึ้น แต่กลับไม่ทำอะไรเลย เด็กเหล่านี้ช่างน่าสงสารจริงๆ" ชาวเน็ตผู้หนึ่งกล่าว
เด็กนักเรียน 5 คนต่อโต๊ะเรียน 2 ตัว คือสัดส่วนปกติของโรงเรียนแห่งนี้ (ภาพ เฟิ่งหวง)
*แรงงานอพยพเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมเฉพาะตัวของประเทศจีน ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประเทศจีนหลังการปฏิวัติจีนใหม่โดยพรรคคอมมิวนิสต์ ได้กำหนดวิธีการต่างๆเพื่อสกัดการเคลื่อนย้ายประชากรสู่เมืองต่างๆนับจากปี 2495 และสำมะโนครัว หรือที่จีนเรียก ‘ฮู่โข่ว’ ก็เป็นหนึ่งในวิธีการเหล่านี้ ฮู่โข่วกำหนดให้พลเมืองอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาของตนเท่านั้น และจะได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ อาทิ ประกันสังคม จากเขตการปกครองที่ขึ้นทะเบียนฮู่โข่วเท่านั้น
นับการปฏิรูปเศรษฐกิจในต้นทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ผ่อนปรนกฎเหล็กว่าด้วยการโยกย้ายที่อยู่อาศัยของประชากร แม้จะมีการหวนกลับมาเข้มงวดในบางช่วงก็ตาม กลุ่มประชากรจากเขตชนบทที่ยากจนก็ยังหลั่งไหลสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะตามชายฝั่ง เพื่อทำงานและสร้างอนาคตที่ดีกว่า ปัจจุบันในประเทศจีนมีกลุ่มแรงงานอพยพมากถึง 103 ล้านคน และปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือ ด้วยข้อจำกัดฮู่โข่ว แรงงานอพยพเหล่านี้ไม่มีสิทธิรับสิทธิประโยชน์ใดๆจากเมืองที่พวกเขาเข้ามาอาศัยอยู่เพื่อทำงาน พวกเขาจึงไม่ผิดกับ ‘พลเมืองชั้นสอง’ของเมืองใหญ่ที่อาศัยอยู่
เนื่องจากพื้นที่คับแคบ เด็กๆ จึงต้องอัดกันเป็นปลากระป๋อง(ภาพ เฟิ่งหวง)
.
พื้นที่ดาดฟ้า อันเป็นลานกิจกรรมทุกอย่างของโรงเรียน
คุณครูกำลังตรวจการบ้าน ขณะที่อีกฟากของผนังบางๆ ที่กั้นอยู่ เหล่านักเรียนกำลังเรียนวิชาถัดไป
.
คุณครูนำเหล่าเด็กนักเรียนออกกำลังบนลานกิจกรรมแห่งเดียวของโรงเรียน(ภาพ เฟิ่งหวง)
ขอบคุณที่มาของภาพและข่าว
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9540000149397