โทษประหารคนทำผิดกฎหมายอยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนาน โดยมีพัฒนาการวิธีปลิดชีพนักโทษจากอดีตจนถึงปัจจุบันมาเป็นระยะ ไล่มาตั้งแต่วิธีใช้ดาบฟันคอ ยิงเป้าด้วยปืน จนถึงล่าสุด คือ การฉีดสารพิษ…
จากประวัติศาสตร์ของไทยพบว่า มีการลงโทษเด็ดขาดต่อผู้กระทำความผิดตามธรรมเนียมการปกครอง และต่อมาได้พัฒนาเป็นกฎหมายมีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิตเพื่อให้คนเกรงกลัว ต่อการกระทำผิดมาจนถึงปัจจุบัน แม้การประหารชีวิตจะสวนกระแสต้านจากนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เพิ่งมีการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย 2 คน ด้วยวิธีการฉีดสารพิษ
อย่างไรก็ตาม หากจะนับย้อนถึงประวัติศาสตร์การประหารชีวิตในประเทศไทยแล้ว เท่าที่มีข้อมูลและจากการบอกเล่าสืบต่อกันมา เมื่อก่อนยุคสมัยที่สยามประเทศปกครองด้วยระบอบสมมติเทพอาญาสิทธิ์ในการสั่ง ประหารชีวิตจะอยู่ที่เจ้าเมือง ซึ่งวิธีการมีทั้งใช้ดาบตัดคอ และเสียบหัวประจาน
แต่ในชั้นเจ้านาย และขุนนางชั้นสูงเมื่อมีความผิดถึงขั้นต้องโทษประหารชีวิตต้องใช้ไม้ท่อนจันทน์ทุบ อย่างไรก็ตาม การประหารชีวิตคนทั่วไปโดยใช้ดาบฟันคอนั้น ยกเลิกไปภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 หรือ ประมาณ 77 ปีที่ผ่านมา ปีนั้นมีการปฏิรูประบบกฎหมาย โดยเฉพาะตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ซึ่งกำหนดโทษสูงสุด คือ ประหารชีวิตไว้ในมาตรา 13 ว่า "ผู้ใดต้องคำพิพากษาในลงอาญาประหารชีวิต ท่านให้เอามันไปตัดศีรษะเสีย"
ย้อนหลังไปถึงในสมัยที่ยังมีการใช้ดาบประหารชีวิตนักโทษ ส่วนใหญ่สถานที่ประหารได้กำหนดไว้ให้ต้องห่างไกลจากตัวเมืองหลวง เช่น การประหารชีวิตในกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดให้บริเวณวัดโคก หรือ วัดพลับพลาชัยเป็นแดนประหาร จนต่อมาเกิดชุมชนหนาแน่นพบว่า มีการย้ายไปใช้วัดมักกะสัน วัดภาษีริมคลองแสนแสบ และวัดคลองบางปลากด พระประแดง จ.สมุทรปราการ
ขั้นตอนการใช้ดาบประหารชีวิตนักโทษจะถูกนำไปนั่งมัดติดกับหลักประหารกลางลานกว้าง พนมมือถือดอกไม้ธูปเทียน ถูกเขียนรอยปูนรอบคอ ส่วนเพชฌฆาตจะมี 2 นาย นายแรกเรียกว่า ดาบหนึ่ง คนต่อมาเรียกว่าดาบสอง โดยดาบสองจะร่ายรำดาบดึงความสนใจจากนักโทษด้านหน้า ขณะที่ดาบหนึ่งยืนอยู่ด้านหลังหากดาบหนึ่งฟันคอไม่ขาดดาบสองจะซ้ำ เพื่อให้นักโทษเสียชีวิตทันทีไม่ต้องทุกข์ทรมานนาน
กระทั่ง พ.ศ. 2477 สยามประเทศจึงมีการบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 19 ว่า วิธีการลงโทษประหารชีวิตให้เอาไปยิงเป้า โดยครั้งแรกเกิดขึ้นที่แดนประหารคุกบางขวางเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2487 ซึ่ง ขั้นตอน คือ นักโทษประหารจะถูกนำตัวมายังแดนประหาร ผูกปิดตาด้วยผ้าขาว และนำตัวผูกติดกับหลักประหารรูปไม้กางเขน 2 หลักในท่ายืนพนมมือ จากนั้น เจ้าหน้าที่จะกำหนดจุดยิง และติดเป้าปืนให้ตรงหัวใจ
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเจ้าหน้าที่จะให้สัญญาณโดยการลดธงแดงลง เพชฌฆาตก็จะลั่นกระสุนทันที โดยปืนที่ใช้ยิงเป็นปืน HK.MP 5 วางอยู่บนแท่นยึดปืนที่ใช้ประหาร บรรจุกระสุนขนาด 9 มิลลิเมตร 15 นัด แต่กระสุนชุดแรกจะยิง 8 - 9 นัด ซึ่งตามปกติผู้ถูกประหารจะเสียชีวิตทันที แต่หากไม่เสียชีวิตเพชฌฆาตจะลั่นกระสุนอีกชุด เพื่อให้ผู้ถูกประหารทรมานน้อยที่สุด
แต่แล้วนับ จากวันที่ 19 ตุลาคม 2546 การประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าก็กลายเป็นอดีตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการ ประหารชีวิตนักโทษจากการยิงเป้าไปเป็นการนำมาฉีดยา หรือสารผิดให้ตาย ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546 ทิ้งไว้เพียงตำนานมีนักโทษเด็ดขาดถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าทั้งสิ้น 319 ราย เป็นชาย 316 ราย และหญิงอีก 3 ราย ซึ่งรายสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. 2545
ทั้งนี้ มีการประเดิมประหารชีวิตนักโทษด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2546 ณ แดนประหาร เรือนจำกลางบางขวาง จำนวน 4 ราย จากนั้น ประเทศไทยว่างเว้นการประหารชีวิตนักโทษมานานเกือบ 6 ปี จนเมื่อวันที่24 ส.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งมีการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายคดียาเสพติด 2 รายด้วยวิธีการฉีดสารพิษ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2
สำหรับขั้นตอนในแดนประหารนั้น นักโทษทั้ง 2 รายยังคงถูกล่ามโซ่ตรวนและให้นอนบนเตียงประหารที่มีผ้าขาวห่อศพรองอยู่ แขนทั้ง 2 ข้างถูกยึดติดกับเตียงในท่ากางแขน จากนั้น เพชฌฆาตจะนำเข็มฉีดยาปักไปที่ข้อมือทั้ง 2 ข้างของนักโทษ และฉีดยาจำนวน 3 เข็ม เข็มที่ 1 คือ ยานอนหลับ ตามด้วยเข็มที่ 2 เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ และสุดท้ายคือ ยาหยุดการเต้นของหัวใจ ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 25 นาที
จากนั้น แพทย์และคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ผู้แทนอัยการจังหวัด ผู้กำกับการสถานีตำรวจ ผู้บัญชาการเรือนจำ และผู้แทนกรมราชทัณฑ์ จะตรวจสอบว่านักโทษเสียชีวิตตามคำพิพากษา ก่อนนำศพบรรจุในโลงเย็น -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนจะให้แพทย์ตรวจครั้งสุดท้าย และให้ญาติรับไปบำเพ็ญกุศลในวันรุ่งขึ้นเป็นการปิดฉากชีวิตตามกฎหมาย...