ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี เตือนว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 รายและมีประชาชนได้รับผลกระทบนับล้านคน เป็นสัญญาณเตือนให้ทั้งภูมิภาคเอเชียตื่นตัวเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในระยะยาว
เดวิด แม็กคอลีย์ ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเอดีบีกล่าวที่สิงคโปร์ ขณะเดินทางไปประชุมเรื่องสภาพ ภูมิอากาศที่เมืองเดอร์บันในแอฟริกาใต้ ว่าการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สำนักงานเอดีบีในกรุงมะนิลา ธนาคารโลกและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นร่วมกันทำขึ้นเมื่อปีก่อนพยากรณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมในไทย เพียงแต่ไม่ได้ระบุว่าจะเกิดขึ้นเร็วเพียงใด
"การศึกษาชิ้นนี้เจาะจงไปที่กรุงเทพฯ นครโฮจิมินห์และกรุงมะนิลาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วง 40-50 ปีข้างหน้า และผลวิจัยชี้ชัดว่ากรุงเทพฯ จะน้ำท่วม" แม็กคอลีย์กล่าวและเตือนอีกว่า หลังน้ำท่วม ปีหน้าและปีต่อไปจะมีภัยแล้งและคลื่นความร้อนตามมาด้วย ซึ่งเอเชียมีเมืองริมชายฝั่งขนาดใหญ่หลายเมืองตั้งแต่นคร เซี่ยงไฮ้ของจีนมาถึงนครกัลกัตตาของอินเดียที่ เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม มีประชากรที่เสี่ยงภัยจำนวนมหาศาล รัฐบาลต้องนำความเสี่ยงทั้งหมดไปพิจารณา และเตรียมมาตรการป้องกันเมือง โดยเฉพาะการวางผังเมืองและการเพิ่มความเข้มงวดในระบบขออนุญาตสร้างอาคารที่พักอาศัยและพื้นที่อุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเอดีบีชี้ว่า เอเชียกลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเนื่องจากจีนและอินเดีย เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซียที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างขนาดใหญ่ใหม่ๆ ในโลกอีก 20 ปีข้างหน้าจะกระจุกตัวในเอเชีย ซึ่งจะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ประชากรในเอเชียจะเสี่ยงต่อผลกระทบนี้มากกว่าประชากรในภูมิภาคอื่นของโลก