“บุรีรัมย์” ดินแดนปราสาทหิน

“เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม” คือคำขวัญจังหวัดบุรีรัมย์

    บุรีรัมย์ได้ชื่อว่า “เมืองปราสาทหิน” เพราะมีปราสาทหินสมัยขอมหลายแห่งด้วยกัน ปราสาทหินที่โด่งดังก็คือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่าภูเขาใหญ่ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
  ปราสาทหินพนมรุ้งมีการก่อสร้างและบูรณะต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 โดยเมื่อแรกสร้างนั้นก็เพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในช่วงนั้น     
      ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของปราสาทหินพนมรุ้งอยู่ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (นับแบบไทย) หรือช่วงเดือนเมษายนของทุกปี โดยในวันดังกล่าว พระอาทิตย์ในยามเช้าจะสาดแสงลอดทะลุซุ้มประตูของตัวปราสาททั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางเชิงช่างของชาวขอม และนับว่าเป็นอีกหนึ่งอันซีนไทยแลนด์ ในช่วงวันนั้นทางอุทยานฯ จึงมีการจัดประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เดินทางไปชมความงามนี้กัน

   อีกหนึ่งปราสาทหินที่ไม่ควรพลาดชมของบุรีรีมย์คือ “ปราสาทหินเมืองต่ำ” ปราสาทหินศิลปะขอมแบบปาปวน สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูเพื่อบูชาพระศิวะเมื่อประมาณ 1,000 ปี มาแล้ว นับว่ามีอายุมากกว่าปราสาทหินพนมรุ้งและนครวัดประมาณ 100 ปี แต่มีอายุเท่าๆ กับปราสาทเขาพระวิหารเพราะสร้างในช่วงสมัยเดียวกัน ซึ่งตรงกับเวลาที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์อยู่ที่เมืองพระนครหลวง (เขมร) ในสมัยนั้น
       
       ปราสาทหินเมืองต่ำแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ โดยแผนผังของปราสาทแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วความสูงเกือบ 3 เมตร เมื่อผ่านซุ้มประตูกำแพงแก้วเข้าไปจะพบกับระเบียงคดและซุ้มประตูอีกชั้นหนึ่ง ส่วนสิ่งก่อสร้างด้านในสุดคือบรรณาลัยและกลุ่มปรางค์ 5 องค์ เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ 5 ยอด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

ปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ที่เขากระโดง
      บริเวณปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นหลุมลึก มีทางเดินเท้าก่อด้วยหินและมีระเบียงให้ชมวิว อีกทั้งด้านบนของปากปล่องภูเขาไฟเป็นที่ประดิษฐานพระสุภัทรบพิตร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์ และมีมณฑปรอยพระพุทธบาทจำลองให้ผู้ที่ศรัทธาได้มากราบไหว้กัน
      “เขาอังคาร” ก็เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเขาอังคาร โดยภายในบริเวณวัดเคยมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินทรายสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักรสมัยทวารวดีหลายชิ้น มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14
 
        และอีกมากมาย : http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000146313

28 พ.ย. 54 เวลา 16:52 3,393 1
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...