ความเป็นมาของ ‘กาแฟ’

ตำนานเรื่องกาแฟมีอยู่มากมาย แม้กระทั่งในพระคัมภีร์ฉบับเก่า (Old Testament) ซึ่งกล่าวถึงเมล็ดกาแฟในตะวันออกกลาง ตำนานเรื่องคนเลี้ยงแพะ ชื่อ "กาลดี้" (Kaldi) ที่พบว่าแพะมีอาการตื่นเต้นผิดปกติ จึงได้ตามฝูงแพะขึ้นไปบนภูเขา แล้วเขาก็เห็นแพะตัวผู้กำลังแทะเมล็ดกาแฟสีแดงจากกิ่งกาแฟอยู่ จากนั้นฝูงแพะก็พากันกระโดดโลดเต้น เขาจึงลองเก็บเมล็ดกาแฟสุกมากินดู ปรากฏว่ามีรสชาติเย็น ทำให้สดชื่น ตั้งแต่นั้นมาเมื่อฝูงแพะไปกินเมล็ดกาแฟ เขาก็ไปกินด้วย เมื่อกินเสร็จแล้วเขาก็กระโดดโลดเต้นอยู่กับฝูงแพะนั้น – จนกระทั่งวันหนึ่ง "โต๊ะอิหม่าม" (Imam) เห็นทั้งคนและแพะกระโดดโลดเต้นอยู่ จึงเข้าไปถามกาลดี้ เมื่อทราบเรื่องจึงเดินทางไปยังภูเขานั้นและเก็บผลกาแฟมากิน ทำให้ไม่ง่วง โต๊ะอิหม่ามถือว่าการสวดมนต์อ้อนวอนพระอัลเลาะห์ดีกว่านอนหลับ ดังนั้นการดื่มกาแฟจึงแพร่หลายอยู่ในหมู่โต๊ะอิหม่ามอยู่เป็นเวลานาน กาแฟจึงได้ชื่อว่า "คาห์วาห์" (Qahwah) หมายถึง การกระตุ้น ทำให้สดชื่น คำว่า "คาห์วาห์" แปลว่า ไวน์ แต่เครื่องดื่มไวน์เป็นของต้องห้ามในศาสนา กาแฟจึงได้ชื่อว่า "ไวน์แห่งอาหรับ" (Wine of Araby)

การแพร่กระจายของกาแฟจากเอธิโอเปียมาสู่ตะวันออกกลางมีหลายทาง – ชีค (Sheikh) ได้รายงานในปี ค.ศ. 1566 โดยให้เครดินกับดมาเลด ดินอาบูเอล ฟลาเกอร์ (Djmaled dinabou Elflager) นำกาแฟมาจากอบิสซีเนียมาปลูกไว้ในอะราเบีย (Arabia) ในต้นศตวรรษที่ 15

ชาวดัทช์เป็นพวกแรกที่นำกาแฟอะราเบีย (ที่มาของกาแฟพันธุ์อราบิก้า) ไปปลูกในแหล่งอื่นๆ ของโลก – โดยในปี ค.ศ. 1616 ได้นำกาแฟจากเมืองโมคา (Mocha) ไปปลูกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1658 ชาวดัทช์ได้ทำสวนกาแฟขึ้นที่อาณานิคมเกาะศรีลังกา และในปี ค.ศ. 1690 ข้าหลวงใหญ่ของดัทช์อิสต์ ชื่อ "นิโคลาส วิทเซน" (Nicholas Witsen) ได้แนะนำให้ข้าหลวงใหญ่แห่งปัตตาเวียนำเมล็ดกาแฟมาปลูกที่ปัตตาเวีย ประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นในปี ค.ศ. 1698 เจ้าเมืองแห่งอัมสเตอร์ดัม (Burgomaster of Amsterdam) ได้ส่งต้นกาแฟมาจากเมืองมาลาบาร์ (Malabar) ไปปลูกที่ฝั่งตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งต้นกาแฟเหล่านี้ คือ กาแฟอราบิก้าที่ได้นำเมล็ดมาจากอาหรับปลูกไว้ที่สวนกาแฟเคดาเวียง (Kedawoeng Estate) ทั้งหมด ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวและน้ำท่วม ต้นกาแฟที่นำมาปลูกตายหมด "ชวาดรุณ" (Zwaardkron) ได้ถูกส่งไปยังลาบาร์ ในปี ค.ศ. 1699 เพื่อนำเมล็ดกาแฟมาปลูกที่ปัตตาเวียอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาได้ขยายไปทั่วอินโดนีเซีย เช่น สุมาตรา ชุลลาเวสี (ซีลีเบสเดิม) บาหลี ติมอร์และเกาะอื่นๆ กาแฟอราบิก้าพันธุ์นี้ภายหลังได้ชื่อว่า "กาแฟอราบิก้าพันธุ์ทิปิก้า" (Coffee Arabica var. Typica)

ในปี ค.ศ. 1708 เรือฝรั่งเศส 2 ลำ ได้ถูกส่งไปยังเมืองโมคา เพื่อซื้อกล้าพันธุ์กาแฟและเมล็ดกาแฟจากชีคชาวอาหรับไปปลูกที่เมืองเบอร์บอน (Bourbon) ในเกาะรียูเนียน (Reunion) ของฝรั่งเศส แต่ต้นกาแฟตายหมด ในปี ค.ศ. 1715 ก็ได้ส่งเรือไปซื้อเมล็ดกาแฟไปปลูกที่เกาะรียูเนียนอีก แต่การปลูกกาแฟที่เกาะรียูเนียนประสบความล้มเหลว คงเหลือกาแฟที่มีชีวิตรอดอยู่เพียง 2 ต้นเท่านั้น – ครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ. 1718 ได้นำเมล็ดกาแฟจากเมืองโมคาไปปลูกไว้ที่เกาะรียูเนียนอีกครั้ง คราวนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดี ต่อมาจึงขยายเป็นสวนกาแฟที่กว้างใหญ่ปลูกกันแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันในนาม "กาแฟอราบิก้าพันธุ์เบอร์บอน" (Coffee Arabica var. Bourbon)

กาแฟในประเทศอินเดีย – เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1600-1695 นักแสวงบุญชาวมุสลิม ชื่อ "บาบา บูดาน" (Baba Budan) เดินทางไปทำฮัจจีที่เมืองเม็กกะ ขากลับได้นำเมล็ดกาแฟจากเม็กกะมาปลูกไว้ที่เชิงเขาใกล้บ้านที่เมืองชิคมากาลอร์ (Chikmagalur) ในรัฐไมซอร์ (Mysor) ต่อมาได้ขยายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวาง ระยะหลังเมื่ออังกฤษเข้าครอบครองประเทศอินเดีย ชาวอังกฤษได้ทำสวนกาแฟใหญ่โตขึ้นที่เมืองชิคมากาลอร์และเมืองคุก (Coorg) สวนกาแฟได้กระจายไปยังแถบภูเขานิลคีรีของรัฐทมิฬนาดู ซึ่งต่อมากาแฟอราบิก้าพันธุ์นี้จึงมีชื่อว่า "คุก" (Coorg)

ประเทศแรกในอาณานิคมของฝรั่งเศสที่ปลูกกาแฟ คือ "มาร์ตินิค" (Martinique) และเมล็ดกาแฟจากมาร์ตินิคก็กลายเป็นศูนย์กลางที่นำไปปลูกเผยแพร่แก่แหล่งปลูกกาแฟต่างๆ เกือบทั่วโลก เช่น นำไปปลูกที่ภูเขาบลูเมาเทน (Blue Mountain) เกาะจาไมก้า ซึ่งเป็นภูเขาสูง อากาศหนาวเย็น ทำให้กาแฟที่ปลูกมีรสชาติดีเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก จึงได้ชื่อตามสถานที่ปลูกว่า "บลูเมาเทน เคเมอร์" (Blue Mountain Cramer) นอกจากนี้ได้นำไปปลูกขยายพันธุ์ที่เมืองเบเร็มและพาราของบราซิล ทำให้อีก 100 ปีต่อมา บราซิลกลายเป็นประเทศที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในโลกและสามารถควบคุมตลาดของกาแฟไว้อย่างสมบูรณ์ ต่อมากาแฟอราบิก้าพันธุ์นี้ได้แพร่ขยายเข้าสู่ประเทศในแถบอเมริกากลางตลอดจนถึงอเมริกาใต้ชั่วเวลาไม่ถึงศตวรรษ และถูกเรียกว่า "Franch Mission"

มีอีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงความเป็นมาของกาแฟว่า มุนษย์คนแรกที่รู้จักและดื่มน้ำกาแฟคือ "มัฟทิแห่งเอเดน" ในสมัยศตวรรษที่ 9 – ส่วนอีกตำนานหนึ่งบอกว่า ผู้ที่รู้จักรสชาติของกาแฟเป็นคนแรกคือนักบวชในศาสนาอิสลามชาวตะวันออกกลางชื่อ "เดลี" ผู้มักง่วงเหงาหาวนอนเป็นนิจในขณะสวดมนต์ และนักบวชผู้นี้ได้พิชิตความง่วงด้วยการดื่มน้ำต้มจากกาแฟที่มีคนบอกมาอีกต่อหนึ่ง หลังจากนั้นก็ได้กระจายไปทั่วจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวตะวันออกกลาง
 

#ความเป็นมาของ #‘กาแฟ’
solo1150
นักแสดงรับเชิญ
สมาชิก VIP
27 พ.ย. 54 เวลา 23:15 1,163
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...