การเล่นวิดีโอเกม นอกจากจะได้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแพทย์กรุงเบอร์ลินของเยอรมนียังพบด้วยว่า เด็กที่เล่นเกมบ่อยๆ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความพอใจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
ผลการวิจัยนี้เป็นของ ดร.ไซมอน คุนห์ และทีมวิจัย ตีพิมพ์ในวารสาร Translational Psychiatry ได้จากการศึกษานักเรียนอายุ 14 ปี จำนวน 154 คน แบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่ค่อยสนใจเล่นเกม โดยจะเล่นเพียง 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กับกลุ่มที่เล่นบ่อยๆ สัปดาห์ละ 21 ชั่วโมง แต่ไม่มีใครที่อยู่ในระดับติดเกม
นักวิจัยพบว่า เมื่อให้เด็กทำ MRI หรือสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้า คนที่เล่นเกมถี่ สมองส่วนที่เกี่ยวกับความพึงพอใจจะมีกิจกรรมมากและมองเห็นเป็นสีเทาเข้มขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อขอให้เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์ โดยให้สัญญาว่าถ้ากดปุ่มที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็วเมื่อถึงเวลาที่กำหนดจะได้รับรางวัล พบว่า คนที่เล่นเกมถี่ สมองส่วนความพึงพอใจจะมีกิจกรรมมากทั้งที่เล่นเกมแพ้ ตามจริงแล้วกลุ่มนี้ไม่ได้รับรางวัล
เหตุการณ์ดังกล่าวช่วยอธิบายเหตุผลว่า ทำไมหลายคนเล่นเกมแพ้แล้วยังไม่ยอมวางมือ และนักพนันจำนวนมากเล่นแพ้แล้วยังเล่นต่อไปอีกจนเสียมากกว่าเดิม