เรื่องจริงขำๆ จากพระมหาสมปอง
เรื่องวัตถุดิบ
ญาติโยมหลายท่านมักถามว่า
” ท่านบวชเรียนมาตั้งแต่อายุยังน้อย อยู่ในเพศบรรพชิตมามากกว่าครึ่งชีวิต มีโอกาสสัมผัสชีวิตฆราวาส
ไม่มากนัก
แล้วเอาข้อมูล วัตถุดิบหรือมุกมาจากไหนหนักหนา”
อาตมาก็ตอบว่า หลักๆ เลยก็คือ การอ่าน นอกจากนั้นก็หนัง ละคร ที่ญาติโยมดูกันนั่นแหละ
พอตอบออกไปอย่างนี้ โยมก็สวนกลับทันที
” ไม่ผิดข้อห้ามหรือท่าน”
อาตมาก็จะอธิบายไปว่า ดูเพื่อให้เท่าทันกิเลสจะได้สกัดมันถูก และที่สำคัญ หากอาตมาไม่รู้หรือไม่
เข้าใจ
ตลอดจนไม่เท่าทันเรื่องราวทางโลกและ จะมาบรรยายธรรมให้ญาติโยมรู้สึกอินกันได้อย่างไร
ซึ่งนอกจากการอ่าน การดูและการฟังแล้ว หลายวัตถุดิบที่นำมาสร้างเป็นมุกฮา ก็ได้มาจากการพูดคุย
กับ
เหล่าโยมๆ นี่แหละ
อย่างวันหนึ่งระหว่างที่อาตมากำลังฉันเพลอยู่ก็มีโยมท่านหนึ่งโทร.มา
” พระอาจารย์เหรอคะ นี่อาตมาเองนะคะ”
” หา อะไรนะ”
” พระอาจารย์เหรอคะ นี่อาตมาเองค่ะ”
” ถ้าโยมแทนตัวว่าอาตมา แล้วอาตมาจะแทนตัวอาตมาว่าอะไร”
” อ๋อ ขอโทษค่ะ”
หลังจากนั้นก็คุยธุระกันจนจบ อาตมาก็กล่าวว่า
” เจริญพร”
” ค่ะ เจริญพรเช่นกัน”
แน่ะ มีอวยพรให้พระด้วย
ข้างต้นก็คือ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ระหว่างพูดคุยกับเหล่าญาติโยม จนถือว่าเป็นเรื่อง
ปกติสำหรับอาตมาไปแล้ว หรืออย่างก่อนหน้านี้มีโยมผู้หญิงคนหนึ่ง เดินถือสังฆทานมาอย่างมาดมั่น
พอเข้ามาในกุฏิแล้ว เธอก็มุ่งตรงไปที่พระบวชใหม่รูปหนึ่งทันที
” ถวายสังฆทานค่ะ”
พระบวชใหม่ด้วยความที่ยังจำบทสวดต่างๆ ไม่ค่อยคล่องนัก จึงหยิบหนังสือขึ้นมาดู
” ไม่ต้องค่ะ” โยมผู้หญิงคนนั้นกล่าวอย่างหนักแน่นตามสไตล์สาวมั่น
” ดิฉันท่องได้ค่ะ เพราะคุณยายพาเข้าวัดตั้งแต่เด็กๆ” เธอพนมมือขึ้น ก่อนกล่าวว่า
” อิมานิ มะยัง ภันเต สะปะริวารานิ คิกขุ สังโฆ” (ที่ถูกต้อง จะต้องเป็น ภิกขุ
สังโฆ)
พระบวชใหม่มีสีหน้างุนงง ก่อนหันมาถามอาตมา
” คิกขุสังโฆ นี่มันฟังทะแม่งๆ นะหลวงพี่”
อาตมาเกรงว่าโยมผู้นั้นจะหน้าแตก ก็เลยตอบไปว่า
” คิกขุ แปลว่า น่ารัก สังโฆ แปลว่า สงฆ์ คิกขุสังโฆ ก็คือ แด่พระสงฆ์ผู้น่า
รัก”
เท่านั้นแหละ พระใหม่รูปนั้นนั่งยืดทั้งวันเลย
แต่ก็มีบางกรณี ที่การพูดผิดของคุณโยมทำให้อาตมาแทบจะสำลัก
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ มีโยมท่านหนึ่งโทรศัพท์มา
” หลวงพี่ขา ขอเรียนเชิญนิมนต์ค่ะ”
” ไปไหนล่ะโยม”
” ไปมรณภาพที่บ้านน่ะค่ะ”
โห นิมนต์พระไปตายถึงที่บ้านเลย อาตมาจึงบอกไปว่า ถ้านิมนต์ไปงานศพไปให้ได้
แต่ถ้าเชิญไปมรณภาพนี่ ช่วงนี้อาตมาไม่ว่างจริงๆ ขอตัวเถอะนะโยม
จากตัวอย่างที่อาตมาเล่าไว้ข้างต้น คุณโยมอาจจะเห็นเป็นเรื่องขบขัน แต่มันก็สะท้อน
ให้เห็นความห่างเหินระหว่างคนกับวัดได้ในระดับหนึ่ง ปัจจุบันนี้คนจะนึกถึงวัดในกรณีพิเศษ
เท่านั้น เช่นงานบวช งานศพ ต่างกับสมัยก่อนที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ฆราวาสกับพระจึง
สนทนากันไหลลื่น ไม่มีคำแปลกๆ หรือผิดที่ผิดทางออกมาให้พระสุดุ้งแต่อย่างใด
ซึ่งถ้าพูดถึงศัพท์แสงที่แสลงใจแล้ว ตอนไปบิณฑบาตอาตมาจะเจอบ่อยมาก เช่นมีอยู่
ครั้งหนึ่งระหว่างที่กำลังเดินๆ อยู่ ก็ได้ยินเสียงใสๆ แว่วขึ้นมา
” แม่ๆ พระมาขอข้าว”
” มาเยอะไหมลูก”
” มา 2 อัน”
โห เรียกอย่างกับชิ้นส่วนรถยนต์ นี่ถ้ามาเยอะๆไม่เรียกเป็นฝูงเลยเหรอ
ดังนั้นเวลาไปบรรยายธรรมให้นักเรียนฟังอาตมาจะนำเรื่องนี้ไปสอดแทรกเพื่อสอน
เด็กๆ ด้วย
” ถ้าพระกิน เรียกว่า ฉัน”
” พระนอน เรียกว่า จำวัด” (บางคนเรียกขี้เกียจเป็นพระนอนไม่ได้)
” พระป่วย เรียกว่า อาพาธ”
” พระตาย เรียกว่า มรณภาพ” (ไม่ใช่เรียกป่อเต็กตึ๊งนะ)
” แล้วพระอาบน้ำล่ะ เรียกว่าอะไรเอ่ย” คราวนี้อาตมาถามให้เด็กๆ ตอบบ้าง
” เรียกคนมาดู”
จบกัน