หนังสือที่ลึกลับที่สุดในโลก ที่ไม่มีโครถอดความได้

         ห้องสมุดเบนเนคเก้ (Beinecke Rare Bood & Manuscript Library) ของมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา เป็นแหล่งหนังสือหายาก รวมทั้งเอกสารต้นฉบับ สมุดบันทึกด้วยลายมือของเจ้าของหลายพันเล่ม


จากยุคกลางและเรอเนสซองส์ มีสมุดบันทึกที่มีนักวิชาการจำนวนมากได้แวะเวียนเข้ามาศึกษาโดยตลอด แต่ไม่มีผู้ใดสามารถทำความเข้าใจสาระที่บันทึกไว้ในสมุดเล่มนี้ได้เลย





หนังสือเล่มนี้พบในปี 1912 โดยนักค้าหนังสือเก่าชาวอเมริกัน-รัสเซีย ชื่อนาย วิลฟริด เอ็ม. วอยนิช (Wilfrid M.Voynich) ขนาด 6 x 9 นิ้ว หนา 1 1/2 นิ้ว มีอยู่ 240 หน้า แต่บางหน้าขาดหายไป ปกสมุดทำจากหนังลูกวัวสีครีม ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน ชื่อเรื่องหรือปีที่เขียนใดๆ ทั้งสิ้น


รายละเอียดมีทั้งภาพและอักษรในสมุดมีความเฉพาะตัวเขียนด้วยปากกาขนนกซึ่งทำให้ดูสง่างาม เป็นตัวอักษรที่ไม่เคยพบเห็นในที่ใดๆ ในโลกมาก่อนและแทบทุกหน้ามีวาดภาพประกอบ มีทั้งพืชพรรณแปลกๆ ภาพผู้หญิงเปลือยเชื่อมด้วยท่อที่ดูคล้ายเส้นโลหิต มีภาพคล้ายแผนผังเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่มองจากกล้องเทเลสโคป และภาพคล้ายเซลล์สิ่งมีชีวิตที่มองผ่านกล้องจุลทรรศน์
  






การได้มาของหนังสือเล่มนี้


นายวอยนิชได้มาจากอิตาลีและกลับไปอเมริกาเพื่อประกาศหาผู้เชี่ยวชาญมาดูเพื่อศึกษาและแปลอักขระ จนถึงวันนี้เกือบ 100 ปี ก็ยังไม่มีใครสามารถแปลความหมายของสมุดบันทึกเล่มนี้ได้แม้แต่คำเดียว


สิ่งที่บอกได้คืออายุและแหล่งที่มาของสมุด จากการวิเคราะห์ลักษณะของภาพวาด เสื้อผ้า ทรงผมของรูปคน รูปปราสาท รวมถึงหนังสัตว์และสีที่ใช้ภายในเล่ม สันนิษฐานว่า เขียนขึ้นโดยชาวยุโรป ราวศตวรรษที่ 15 หรือ ระหว่างปี 1450-1520


ภายในสมุดมีจดหมายสอดอยู่ เขียนด้วยภาษาลาติน วันที่ 19 สิงหาคม 1666 เป็นจดหมายที่ โจฮันส์ มาร์คุส มาร์ซี่ อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยชาร์ลส์แห่งกรุงปราก (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเชค) เขียนถึง อธานาเซียส เคอร์เชอร์ นักวิชาการนิกายเจซูอิทแห่งวิทยาลัยโรมาโนในกรุงโรม เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษา ผู้จัดทำพจนานุกรมภาษาคอปติค (เป็นภาษาอียิปต์โบราณที่ใช้ในระหว่าง ปีค.ศ. 200-1100)



อนาธาเซีย เคอร์เชอร์



ภายในจดหมายมีใจความว่า “สมุดบันทึกที่ส่งมาด้วยนี้ จอร์จ บาเรช (Georg Baresch) เพื่อนสนิทได้มอบให้ข้าพเจ้าก่อนเสียชีวิต และเป็นผู้ซึ่งเคยได้ส่งสำเนาบางส่วนของสมุดเล่มนี้มาให้ท่านเพื่อลองศึกษาและแปลความหมายดูแล้ว แต่เวลานั้นท่านได้ขอให้ส่งสมุดทั้งเล่มมา แต่ บาเรช ได้ปฏิเสธ ทำให้เรื่องหายเงียบไปอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังมั่นใจว่าท่านจะสามารถแปลความหมายในสมุดบันทึกเล่มนี้ได้อย่างแน่นนอน…”



กษัตริย์รูดอล์ฟที่ 2



นอกจากนี้ในจดหมายได้เล่าว่าสมุดเล่มนี้เคยอยู่ในครอบครองของจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 แห่งโบฮีเมีย ปี 1552-1612 ซึ่งซื้อมาด้วยเหรียญทองคำถึง 600 เหรียญ (เทียบเท่าทองคำที่น้ำหนักประมาณ 3.5 กิโลกรัมในปัจจุบัน) เพราะเชื่อว่าเป็นสมุดบันทึกของ โรเจอร์ เบคอน (Roger Bacon – พระโรมันคาทอลิกชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงทั้งดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และสาขาอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งเรื่องการแปรธาตุ เขามีชีวิตระหว่างปี 1214-1294) แต่มาร์ซีไม่มั่นใจ …มีหลักฐานว่าในปี 1608 สมุดได้อยู่กับ เจโคบุส เดอ เทเพเนคซ์ (Jacobus de Tepenecz) ซึ่งเป็นแพทย์ส่วนพระองค์และเป็นผู้อำนวยการดูแลสวนสมุนไพรของจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 สันนิษฐานว่าพระองค์มอบให้เขาเพื่อศึกษา – หนังสือเล่มดังกล่าวอยู่กับเคอร์เซอร์จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1680 จากนั้นจึงถูกนำไปเก็บไว้ในวิทยาโรมาโน (ปัจจุบันคือ Pontifical Gregorian University)




King Victor Emmanuel



ในปี 1870 กษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล ที่ 2 แห่งอิตาลี (King Victor Emmanuel II) ได้ส่งกองทัพเข้ายึดกรุงโรมและรวมกรุงโรมเข้ากับรัฐพาพัล (Papal State) เป็นรัฐบาลใหม่ของอิตาลี กองทหารได้เข้ายึดทรัพย์สินของโบสถ์และห้องสมุดของวิทยาลัยแห่งนี้ แต่ทางวิทยาลัยได้แอบขนย้ายหนังสือต่างๆ ในห้องไปเก็บไว้ห้องสมุดส่วนตัวของ พีทรัส เบคซ์ (Petrus Beckx) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะเจซูอิทและอธิการบดีของวิทยาลัยในขณะนั้น


ต่อมาห้องสมุดก็ย้ายไปอยู่ใน วิลล่า มอนดรากอน ที่ฟราสคาติ (Villa Mondragone) ใกล้กรุงโรม


แต่ในปี 1912 ทางวิทยาลัยจำเป็นต้องแบ่งขายทรัพย์สินและหนังสือบางส่วนออกไป เนื่องจากขาดเงินหมุนเวียนและนายวอยนิชคือผู้ที่เข้ามารับซื้อไป


เมื่อนายวอยนิชเสียชีวิตไป สมุดเล่มนี้ได้มีนักค้าหนังสือเก่าอีกคน ชื่อ ฮันส์ พี. เคราส์ (Hans P. Kraus) ซื้อในราคา 26,000 ดอลลาร์ และเขาตั้งราคาขายต่อ 160,000 ดอลลาร์ แต่ไม่มีใครซื้อ เขาจึงมอบสมุดเล่มนี้ให้กับมหาวิทยาลัยเยลเก็บไว้





ลักษณะคร่าวๆ ของหนังสือเล่มนี้


ในสมุดเล่มนี้ได้บันทึกอะไรไว้บ้างไม่มีใครสามารถบอกได้ เนื่องจากอักขระที่ใช้เขียนนั้นไม่มีผู้สามารถถอดความได้ สิ่งเดียวที่จะชี้นำก็คือ รูปภาพภายในเล่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพของพืชพรรณคล้ายสมุนไพรและแผนผังดาราศาสตร์ จึงเข้าใจว่าน่าจะเป็นสมุดบันทึกทางสายวิทยาศาสตร์










โดยเฉพาะด้านยาที่ทำจากสมุนไพร ซึ่งมีการพัฒนากันมากในยุคกลาง แต่บางแหล่งก็มีข้อสันนิษฐานเป็นบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวกับการแปรธาตุในช่วงศตวรรษที่ 15 ที่พยายามแปรโลหะชนิดต่างๆ ให้เป็นทอง เพราะพบบางภาพในสมุดมีลักษณะคล้ายกับสัญลักษณ์ที่ใช้ในเรื่องของแร่ธาตุและเหตุผลที่สำคัญ พบว่า จักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 ยอมซื้อสมุดเล่มนี้ถึง 600 เหรียญ พระองค์เป็นจักรพรรดิที่มีความสนใจสิ่งแปลกประหลาดยิ่งกว่ากษัตริย์อื่นๆ ของยุโรป ทั้งยังเป็นผู้ที่ชอบเรื่องเวทมนต์ เล่มเกม ทำรหัส ทรงมีนักโหราศาสตร์รายล้อมอยู่มากมาย พระองค์เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญในการค้นคว้าและเผยแพร่เรื่องการแปรธาตุอีกด้วย



ลักษณะพื้นฐานของบันทึกออกได้เป็น 5 ส่วนคือ


1. ส่วน พฤกษศาสตร์ มีสาระประมาณครึ่งหนึ่งของสมุด ราว 130 หน้า แต่ละหน้าจะมีภาพวาดของพรรณไม้ชนิดหนึ่ง พร้อมกับตัวอักษรกำลังอยู่ข้างๆ ซึ่งน่าจะเป็นรายละเอียดของพันธุ์ไม้นั้นๆ และอักษรบนแต่ละหน้านั้นก็เป็นชื่อพรรณไม้


2. ส่วนดาราศาสตร์และจักรวาล ภาพส่วนใหญ่จะวาดในลักษณะของทรงกลม มีพระอาทิตย์ พระจันทร์และกลุ่มดาวต่างๆ แต่บางภาพมีองค์ประกอบแปลกๆ เช่น ภาพแผนภูมิจักรราศี มีภาพผู้หญิงเปลือยถือดวงดาวล้อมรอบจักรราศีอยู่ บางหน้าก็สามารถคลี่ออกมาได้อีกเป็น 6 หน้า มีภาพวาดหน้าผังดาราศาสตร์ ภาพคล้ายกาแลคซี่แอนโดรมีดาที่มองจากกล้องเทเลสโคป ส่วนนี้มี 26 หน้า


3. ส่วนชีววิทยา มีภาพวาดที่ดูคล้ายอวัยวะในร่างกาย ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างแปลก มีภาพผู้หญิงเปลือยอยู่ในสระที่มีท่อเชื่อมโยงคล้ายเส้นเลือด ผู้หญิงบางคนก็สวมมงกุฎ ส่วนนี้มี 4 หน้า กับ 28 ภาพวาด


4. ส่วนเภสัชศาสตร์ มีความคล้ายกับส่วนพฤกษศาสตร์ ส่วนนี้มีภาพคล้ายภาชนะที่ใช้ในร้านขายยายุค ศตวรรษที่ 15 และมีตัวอักษรเขียนกำกับที่ตัวภาชนะ ส่วนนี้มี 34 หน้า


5. สูตร คาดว่าเกี่ยวกับสูตรยาเพราะมีการเขียนด้วยย่อหน้าสั้นๆ ถึง 324 ย่อหน้า แต่ถ้านับรวมกับส่วนที่ขาดหายไปแล้ว มีมากถึง 360-365 ย่อหน้า ทุกย่อหน้าเริ่มต้นด้วยรูปดอกจัน แต่มีผู้สันนิษฐานว่าส่วนนี้อาจเป็นปฏิทินแบบพิศดาร มีการระบุเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไว้ด้วย ส่วนนี้มี 23 หน้า โดยหน้าส่วนท้ายสันนิษฐานกันว่าเป็นบันทึกกุญแจไขปริศนาอักษร อีก 1 หน้า ที่ใช้ในสมุดบันทึกเล่มนี้ทั้งหมด เมื่อแรกเห็นสมุดนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากมักคิดว่าไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ในที่สุดก็พบว่า ตัวอักษรที่บันทึกไว้ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากภาษาลาติน อังกฤษ เยอรมันหรือภาษาใดๆ ที่เคยพบมาก่อน …จากการวิเคราะห์ในแง่ภาษาศาสตร์ พบว่าการเขียนเป็นไปอย่างต่อเนื่องเหมือนกับว่าผู้เขียนมีความชำนาญในภาษานั้นอย่างยิ่ง ไม่มีลักษณะที่ต้องหยุดคิดก่อนเขียนพยัญชนะแต่ละตัวทั้งยังไม่พบร่องรอยการลบหรือแก้ไขใดๆ เลย เป็นการเขียนจากซ้ายไปขวาและจากบนลงล่าง





พยัญชนะแต่ละตัวมีการลากเส้น 1-2 เส้น มีพยัญชนะประมาณ 20-30 ตัวที่ใช้เขียนทั่วไปในสมุด แต่ก็มีพยัญชนะที่แปลกออกไปนับ 10 ตัวที่ถูกใช้เพียง 1 หรือ 2 ครั้ง – ทั้งเล่มประกอบด้วยคำประมาณ 35,000 คำสั้น-ยาวต่างๆ กันไป บางคำใช้เพียง 2-3 ครั้ง แต่บางคำใช้ทั่วไปในเล่ม ซึ่งสอดคล้องกับกฎของเสียงในภาษา (Phonetic Law) และระบบสะกดคำ เช่น บางตัวใช้สระอย่างในภาษาอังกฤษ พยัญชนะบางตัวไม่สามารถใช้ตามหลังบางตัว บางตัวอาจใช้คู่ได้


เมื่อตรวจสอบความถี่ของการใช้คำตามหลัก Zipf’s Law แล้ว ก็พบว่าสอดคล้องกับภาษาทั่วไป แต่แตกต่างจากภาษาในยุโรป เช่น ไม่มีคำที่ประกอบด้วยพยัญชนะมากตั้งแต่ 10 ตัวขึ้นไปหรือน้อยแค่ 1-2 ตัว บางตัวใช้เป็นตัวสุดท้ายเท่านั้น บางตัวอยู่เฉพาะตรงกลาง ตามลักษณะของภาษาอารบิค แต่ไม่มีในภาษาโรมัน กรีก และกรีกโบราณ เรียกว่า ซีริลลิค (Cyrillic) การวิเคราะห์ในแง่ของรหัส ทีมผู้เชี่ยวชาญการเขียนรหัส NSA (National Security Agency) ของสหรัฐอเมริกา นำโดย นายวิลเลียม เอฟ. ฟรายด์แมน ก็ไม่สามารถสรุปว่าสอดคล้องกับหลักการเขียนรหัสชนิดใด


ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรหัส แบบ Substitution Cipher ส่วนแบบ Polyalphabetic นั้นคิดค้นราวปี 1467 ซึ่งใกล้เคียงกับอายุของสมุดเล่มนี้ แต่ก็ไม่ใช่อีก เพราะรหัสแบบนี้จะทำให้หลักภาษาธรรมหรือ Zipf’s law หายไป การเขียนรหัสแบบ Codebook Cipher, Visaul Cipher และ Stenography ก็ตกไปทั้งหมด


สมมติฐานที่พอจะเป็นไปได้ ชาคส์ กาย นักภาษาศาสตร์ได้เสนอว่า อักษรเหล่านี้อาจเป็นการบันทึกเสียงของภาษาธรรมชาติของชาติตะวันออกเช่นภาษาจีน ด้วยอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ เมื่อตรวจสอบลักษณะของเนื้อความที่มีการใช้คำซ้ำ 2-3 ครั้งแล้ว ความถี่คล้ายกับเนื้อความในภาษาจีน และภาษาเวียดนาม


นอกจากนี้แผนภูมิจักรราศีในส่วนดาราศาสตร์ของสมุดเล่มนี้ก็มีความคล้ายกับปฏิทินในการเกษตรของจีน แต่สมมุติฐานนี้ก็ไม่มีใครสามารถหาตัวอย่างที่สอดคล้องกับสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์สาขาอื่นของจีนได้ชัดเจน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญชาวจีน ต่อมาปลายปี 2003 นี้เอง ซบิกนิว บานาชิค (Zbigniew Banasik) ชาวโปแลนด์ ก็แสดงความเห็นว่า สมุดเล่มนี้เขียนด้วยภาษาแมนจูเรียนและได้ลองแปลเพียงหน้าแรกของสมุดออกมา แต่เขาก็ไม่สามารถทำได้สมบูรณ์






สมมุติฐานต่อไป วิลเลียม เอฟ พรายด์แมน จาก NSA พ้องกับ จอน ทิลท์แมน ผู้เชี่ยวชาญรหัสชาวอังกฤษ ทั้งสองเห็นว่า สมุดนี้เขียนขึ้นด้วยหลักการสร้างภาษาขึ้นเพื่อใช้เองเฉพาะในกลุ่มคน


โดยสร้างคำต่างๆ กันไปเช่น มีการเติมคำข้างหน้าและข้างหลัง และใช้กันในศตวรรษที่ 17 ตัวอย่างเช่น กำหนดอักษร “bofo” จะหมายถึง สี ถ้าเป็นสีแดงก็อาจจะใช้เป็น ‘bofoc’ ถ้าเป็นสีเหลืองอาจเป็น ‘bofof’ จึงมีอักษรที่เขียนซ้ำๆ กัน มากมายในสมุดเล่มนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีใครสามารถถอดรหัสของคำนำหน้าและคำตามหลังในสมุดนี้ได้เลย



การตั้งสมมติฐานถึงผู้เขียนสมุดเล่มนี้ที่อยู่ในข่าย


คนแรก คือ โรเจอร์ เบค่อน เพราะเป็นชื่อที่ทำให้จักรพรรดิรูดอล์ฟ ยอมจ่ายถึง 600 เหรียญทองคำ ซึ่งในปี 1919 วิลเลียม โรเมน นิวโบลด์ ได้ยืนยันว่าสมุดเล่มนี้เป็นงานของ โรเจอร์ เบค่อน จริง เพราะเบค่อนคือผู้ประดิษฐ์กล้องเทเลสโคปและกล้องจุลทรรศน์ แต่ในปี 1931 ก็ถูกโต้แย้งว่าการมองเห็นกาแลคซีแอนโดรมีดาและโครงสร้างเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้น ต้องใช้กล้องเทเลสโคปและกลอ้งจุลทรรศน์ที่ทันสมัยเท่านั้น




จอน ดี พบจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2



คนต่อไปคือ จอน ดี นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์แห่งราชสำนักควีนอลิซาเบธที่ 1 และเป็นผู้ที่สะสมงานเขียนของเบค่อน สมมุติว่าเบค่อนเป็นผู้เขียน แล้วดีคือผู้นำไปขายแก่จักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 แต่ก็ไม่มีน้ำหนักพอและถูกโต้แย้งจนตกไป


ดร. อีดิธ เชอร์วูด (Edith Sherwood) ได้เสนอในปี 2002 นี้เองว่า สมุดเล่มนี้เป็นของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี – Davinci code ของจริง ประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมามีน้ำหนักไม่น้อย


1. คือ ส่วนดาราศาสตร์นั้นมีภาพหนึ่งที่มีสัญลักษณ์ราศีเมษอยู่ตรงกลางและมีผู้หญิงเปลือย 15 คน ยืนอยู่ในถัง ซึ่งรายล้อมรอบจักรราศี ส่วนใหญ่กำลังตั้งท้อง ในถังใบหนึ่งแปลกออกไปคือมีผู้หญิงอยู่กับเด็กคนหนึ่ง โดยผู้หญิงนั้นมีหน้าท้องแบน เธอถือคฑา ในยุคกลางนั้นจะทำการคลอดลูกในถังน้ำ ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นการบันทึกกำเนิดของใครสักคนในวันที่ 15 เมษายน ระหว่าง 21 นาฬิกา-เที่ยงคืน เพราะตำแหน่งของถังน้ำที่มีเด็กกับผู้หญิงนั้นอยู่ตรงกลางระหว่างเลข 9 ถึงเลข 12 ของหน้าปัด นาฬิกาในยุคกลางนั้นแตกต่างจากปัจจุบัน ทั้ง 24 ชั่วโมงบนหน้าปัดและมีเข็มชี้เวลาเพียงก้านเดียว




ด้านซ้ายไม่กลับด้าน ส่วนด้านขวากลับด้านแล้ว





ดร. เชอร์วูดบอกว่า ในยุคนั้นจะเริ่มนับวันใหม่หลังจากพระอาทิตย์ตกและเขายังเคยอ่านพบบันทึกปู่ของดาวินชีเกี่ยวกับการเกิดของหลานชายคือ ดาวินชี ในปี 1452 ว่า "…หลานชายของฉัน ลูกชายของ Ser Piero เกิดในวันที่ 15 เมษายน วันเสาร์ เวลา 3 นาฬิกากลางคืน เขาชื่อว่า Lionardo…" และเมื่อเช็คจากปฏิทินของยุคนั้นพบเป็นเวลา 3 นาฬิกากลางคืน หมายถึงเวลาประมาณ 22 นาฬิกา




ภาพขยายคือเด็กอยู่ในถังน้ำ



ภาพในถังน้ำที่มีเด็กมีตัวเลข 1452 และยังมีอีกคำหนึ่งที่อยู่ใกล้กับภาพที่พอแปลได้ จากการมองภาพสะท้อนในกระจกเงา คือ "Sabatta Notto" ซึ่งแปลว่า Saturday Night จะเห็นได้ว่า ความบังเอิญนี้เกิดขึ้นได้ยากที่จะมีคนอื่นที่กำเนิดวันและเวลาเดียวกันกับ ลีโอนาร์โด ดาวินชี




ภาพขยายของคำว่า Sabatta Notto



 



2. คือจุดตรงกลางของภาพเดียวกันนั้นมีภาพแกะที่เป็นสัญลักษณ์ของราศีเมษอยู่ และตัวอักษรใต้ภาพแกะนั้น เมื่อมองในกระจกเงาจะเห็นคล้ายคำว่า "Lionardo" โดยมีตัว r เขียนเสริมไว้ด้านบน ซึ่งเห็นว่าคล้ายกับลายเซ็นของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งเขาสะกดชื่อตัวเองว่า "Lionardo" ไม่ใช่ "Leonardo" อย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน




ลายเซ็นใต้รูปแกะที่ไม่กลับด้าน

 

ลายเซ็นของลีโอนาร์โด ดาวินชี



ข้อสุดท้าย ในส่วนดาราศาสตร์นั้นต้องมองผ่านกระจกเงาจึงจะเข้าใจ เป็นภาพเกี่ยวกับแผนภูมิจักราศี แต่ละราศีก็มีชื่อกำกับไว้ ก็พอจะอ่านชื่อของแต่ละภาพได้ แต่บางชื่อก็ไม่ได้เขียนแบบกลับด้าน


ภาพคล้ายแกแลคซีที่แสดงทิศทางตามเข็มนาฬิกา ซึ่งตามจริงคือต้องทวนเข็มนาฬิกา เพราะฉะนั้นเป็นภาพที่ต้องมองผ่านกระจกเงาเช่นกัน และเป็นที่ทราบกันดีว่า ดาวินชี มีความชำนาญวาดภาพและเขียนตัวหนังสือกลับด้าน




ภาพแกแลคซี แอนโดรมีดา สังเกตว่าวงรัศมีกลับด้านกัน เพราะเขาเขียนกลับด้านนั่นเอง


ภาพดาราศาสตร์อื่น



จากการสันนิษฐาน ถ้าหากว่า ดาวินชีเขียนหนังสือเล่มนี้จริง ก็คงไม่ใช่งานเขียนตอนที่เขาเป็นผู้ใหญ่ เพราะมีหลายภาพมีการเขียนแบบ เด็กๆ เช่น ภาพของพืชพรรณในส่วนพฤกษศาสตร์ แต่ละต้นมีดอก รากและใบที่ไม่สอดคล้องกัน ภาพราศีและภาพในส่วนของชีววิทยาก็ดูคล้ายฝีมือเด็ก และบางภาพจะเห็นว่าภาพผู้หญิงที่มีเต้านมและอวัยวะเพศชาย ซึ่งแสดงถึงการเขียนที่ผู้เขียนไม่เข้าใจถึงสรีระของเพศหญิงอีกด้วย


ส่วนเรื่องราวในวัยเยาว์ของดาวินชีนั้นไม่สามารถหาได้ จึงยากแก่การสันนิษฐาน อย่างไรก็ตาม ดร.เชอร์วูด สรุปว่า ลีโอนาร์โด ดาวินชี คือผู้ที่เขียนขึ้นมา เมื่อเขาอายุ 8 ขวบ ราวปี 1460 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ค้นหาภาพที่เป็นงานเขียนของดาวินชี เช่น ภาพ Embryos และ ภาพ Vitruvian Man มาเปรียบเทียบกับสมุดบันทึกแล้วจะดูไปในทิศทางเดียวกัน




ภาพ Vitruvianman กับ Embryos



อย่างไรก็ตามสมุดบันทึกเล่มนี้ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนของใคร ผู้เขียนสามารถเขียนอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างชำนาญและยังสามารถรักษาความลับของผู้เขียนได้นานเกือบ 600 ปี บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจึงยกให้เป็นสมุดบันทึกที่ลึกลับที่สุดในโลก           ข้อมูลจาก  http://lonesomebabe.wordpress.com/category/%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a5%e0%b8%b6%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%9a/

20 พ.ย. 54 เวลา 04:09 11,232 8 110
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...