ในช่วงปี 2485 รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
เคยวางแผนย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เพชรบูรณ์ เพราะขณะนั้นประเทศตกอยู่ในภาวะสงครามและกรุงเทพตั้งอยู่ในบริเวณที่ถูกโจมตีง่าย
ในสมัยรัฐบาล พลเอกชวลิต
เคยมีแนวคิดย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เขาตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา
ในช่วงปีที่ผ่านมา ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เตือนว่าอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าแผ่นดินชายฝั่งภาคกลางจะทรุดต่ำลง น้ำทะเลจะกัดเซาะ กรุงเทพฯ จะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งก็ควรทบทวนการย้ายเมืองหลวง
ภูมิประเทศที่ตั้ง : หากมองโดยข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ กรุงเทพฯ ถือว่าเสี่ยงต่ออุทกภัย
ย้อนหลังไปเมื่อ 1,900-2,400 ปีที่แล้ว บริเวณที่เป็นกรุงเทพฯ เคยเป็นทะเลมาก่อน โดยชายฝั่งทะเลจะอยู่ถัดไปทางเหนือบริเวณ จ.นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา มีเมืองท่าโบราณ ได้แก่ เมืองคูบัว นครชัยศรี อู่ทอง ลพบุรี
เวลาผ่านไปถึงพุทธศตวรรษ 15-19 น้ำทะเลได้ลดระดับลง เกิดดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำท่าจีน-เจ้าพระยา-บางประกง ผู้คนเริ่มมาตั้งถิ่นฐาน เกิดชุมชนการค้าใหม่อยู่ใกล้ทะเลกว่า เช่น อโยธยา ธนบุรี ต่อมาคือกรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี-กรุงเทพมหานคร
เงื่อนไขอุปสรรค : แม้กรุงเทพฯ จะเสี่ยงต่ออุทกภัย แต่กลับมีพัฒนาการ “โตเดี่ยว” และผูกขาดความเจริญทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ในมิติทางสังคม กรุงเทพฯ ผูกขาดการเป็น “เบ้าหลอม” ของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่อง
การ ที่รัฐไทยมีลักษณะรวมศูนย์นับตั้งแต่ในสมัยอยุธยาส่งผลทำให้เมืองหลวงของเรา มีบทบาทหลักคือพยายามจะทำหน้าที่เป็น “เบ้าหลอมของราชอาณาจักร” มาโดยตลอด
กล่าวคือ คอยหลอมรวมผู้คนที่แตกต่างชาติพันธุ์ให้ยอมรับ รู้สึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน โดยมีศูนย์กลางหนึ่งเดียวคือกรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งพระราชวัง วัดวาอาราม และพระพุทธรูปสำคัญ
แม้ท้องถิ่นอื่นจะร่ำรวยวัฒนธรรม มีวัดวาอารามอยู่ไม่น้อย แต่ก็มิได้เป็นตัวแทน “วัฒนธรรมหลวง” หรือรัฐไทยเหมือนกรุงเทพฯ
ในมิติทางเศรษฐกิจ กรุงเทพฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ทุน ตลาด และการผลิต-แปรรูป
ในแง่ทุน จะมีย่านธุรกิจ การเงิน-การธนาคาร ตั้งอยู่ใจกลางเมือง อาทิ ย่านสีลม สาธร พระรามสี่
ในแง่ตลาด จะมีย่านการค้า ห้างค้าส่ง/ปลีก ร้านค้าส่ง/ปลีก ครอบคลุมสินค้าส่งออกและนำเข้ากระจายอยู่ทั่วเมือง
ในแง่การผลิต-แปรรูป จะมีโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมส่งออกและนำเข้ารอบบริเวณชานเมืองและปริมณฑล
การ ที่รัฐบาลจอม พลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบการพัฒนาประเทศนับจากปี 2502 ได้ส่งผลทำให้กรุงเทพฯ ผูกขาดกลไกทุน ตลาด และการผลิต-แปรรูปของประเทศ โดยถึงพยายามจะกระจายความเจริญในช่วงหลัง แต่หัวเมืองอื่นก็เติบโตไม่ทันกรุงเทพฯ
นอก จากนี้ในแง่ที่ดิน ด้วยกรุงเทพฯ เป็นศูนย์อำนาจมานาน ที่ดินจึงถูกถือครองโดยผู้มีอำนาจ เรียกได้ว่า “หลายกลุ่ม” และต่อเนื่องมา “หลายยุค”
ยุคแรก คือ ถือครองโดยส่วนทรัพย์สินฯ ตระกูลเก่าแก่ กลุ่มข้าราชการ
ยุคที่สอง คือ ถือครองโดยกลุ่มเจ้าสัวคนจีนที่เข้ามาขุดคูคลอง และพ่อค้าที่เข้ามาลงทุน
ยุคที่สาม คือ ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มมีการถือครองโดยกลุ่มคนชั้นกลาง และชาวบ้านมากขึ้น
ในปัจจุบันทุกกลุ่มต่างพยายามรักษาผลประโยชน์ในที่ดินของตน และต่างก็ยังทำกินสืบต่อกันนับจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
มีโอกาสที่จะย้ายเมืองหลวงหรือไม่?
ถึง แม้กรุงเทพฯ เสี่ยงต่ออุทกภัย แต่โอกาสย้ายเมืองหลวงถือว่ามีความเป็นไปได้น้อย เพราะกรุงเทพฯ ผูกขาดกลไกเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของรัฐไทยมานาน และจะส่งผลต่อเนื่องอย่างน้อยก็กว่า 1 ทศวรรษ โดยขณะที่หัวเมืองอื่นจะยังไม่สามารถเป็นตัวแทนได้เหมือนกับกรุงเทพมหานคร