วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริง วันลอยกระทง
นี่คือเพลงของสุนทราภรณ์ที่ไพเราะยิ่งนัก ที่ร้องกันมานานนับสิบ ๆ ปี
แต่ปีนี้เพื่อให้เพลงตรงกับความเป็นจริง น่าจะใช้เนื้อร้องดังนี้จะดีไหม
วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองริมถนนเราทั้งหลายชายหญิง ทุกข์เศร้าจริง ๆ วันลอยกระทงที่เฉพาะใน กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ก็มีการเฉลิมฉลองงานลอยกระทงกันสนุกสนานเป็นปกติ
เช่นที่จังหวัดสุโขทัยก็มีงาน “เผาเทียนเล่นไฟ” ในงานวันลอยกระทง ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ก็มี “งานยี่เป็ง” หรืองานลอยกระทง
สมัยก่อนนั้น กรุงเทพฯ ยังไม่มีงานลอยกระทงยิ่งใหญ่เหมือนในยุคปัจจุบันซึ่ง “งานลอยกระทงของไทย” ได้เป็นปฏิทินของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินทางมาร่วมงานในไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ
ในยุคหนึ่งนั้นปล่อยให้เล่นกันจนเลยเกินความสนุก มีการจุดดอกไม้ไฟ พลุตะไลกันตามสบาย
มีคราวหนึ่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีได้เดินทางในวันลอยกระทงไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อผ่านมาถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีมือดีโยนดอกไม้ไฟลงบนเรือของ พล.ต.สนั่น จนเกือบเกิดอุบัติเหตุ
หลังจากนั้นก็มีคำสั่งห้ามเล่นดอกไม้ไฟในวันลอยกระทง และห้ามจำหน่าย
มีข้อเท็จจริงการขายดอกไม้ไฟซึ่งส่วนใหญ่เลิกขายแล้ว แต่ทำไมบริเวณป้อมพระกาฬ เชิงสะพานผ่านฟ้า ยังแอบขายดอกไม้ไฟตลอดมา
งานยี่เป็งหรือลอยกระทงที่เชียงใหม่สมัยก่อนนั้น สนุกมาก คนจากกรุงเทพฯ ต้องเดินทางนอนค้างคืนในรถไฟด่วนจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่
การเดินทางโดยเครื่องบินสมัยโน้น คนธรรมดาไม่มีสิทธิ เพราะสมัยก่อนเดินทางโดยเครื่องบินมีของบริษัทท่าอากาศไทยจำกัดเท่านั้น
บินด้วยเครื่องบิน “ดาโกต้า” มีที่นั่งประมาณ 30–50 คนเท่านั้นเป็นเครื่องบินใบพัดสองเครื่องยนต์ บินช้ามากชั่วโมงละไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ใช้เวลาเกือบ 2–3 ชั่วโมงจึงถึงเชียงใหม่
คนจึงนิยมเดิน ทางด้วยรถไฟไปเชียงใหม่ นอนค้างคืนในรถไฟ พอเช้าก็ถึงเชียงใหม่
รถไฟยุคนั้นสะอาดจริง ๆ โดยเฉพาะในตู้รถนอนชั้นที่ 1 และตู้เสบียงอาหารเฉพาะชั้น 1
พนักงานแต่งชุดขาวเหมือนตามในโรงแรม ในรถนอนมีห้องอาบน้ำด้วย นอนสบาย อาหารอร่อยบนรถตู้เสบียงชั้น 1
ในขณะนั้นโรงแรมราชธานีที่สถานีรถไฟหัวลำโพงมีชื่อเสียงมาก ใครไปนอนพักหรือทานอาหารที่นั่นไม่ใช่คนธรรมดา ต้องเป็นบุคคลชั้นสูงเท่านั้น
ขณะนี้โรงแรมราชธานีกลายเป็นอดีตไปแล้ว
วันนี้ได้นำธนบัตรมาให้ชม 2 ชุด ชุดแรกเป็นธนบัตรแบบ 15 ราคา 50 บาท พิมพ์บนวัสดุ “โพลิเมอร์” สีฟ้า มีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ส่องดูเห็นทั้งสองด้าน ธนบัตรชุดนี้มีเลขตองครบชุดทั้งตัวหมวดและตัวเลขรวม 11 ฉบับ มีผู้ประมูลไปในราคา 330,000 บาท
ส่วนอีกฉบับเป็นธนบัตรเขมรราคา 50 เรียล มีผู้ประมูลไปในราคา 62,000 บาท นับว่าสูงมาก
พบกันวันอาทิตย์หน้า.
สมเจตน์ วัฒนาธร