ยานโฟบอส-กรันต์ เมื่อเข้าใกล้ดวงจันทร์โฟบอสของดาวอังคารจากจินตนาการของศิลปินผู้หนึ่ง - เอเจนซี่
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ยานสำรวจดวงจันทร์โฟบอส ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือแรกในการพิชิตดาวอังคารระหว่างจีนกับรัสเซีย เพื่อหวังแซงหน้ามะกัน เกิดประสบเหตุขัดข้องระหว่างการเดินทางอย่างไม่คาดฝัน และอาจทำให้โครงการความร่วมมือนี้ล่มได้
สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์รายงานว่า หลังจากแยกตัวจากยานจรวดขนส่ง ยานสำรวจไร้คนขับ โฟบอส-กรันต์ (Phobos-Grunt) ของรัสเซีย ซึ่งมีภารกิจเก็บตัวอย่างดินบนดวงจันทร์โฟบอสบริวารของดาวอังคาร ได้ขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินเมื่อวันพุธ (9 พ.ย.) และยานไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรตามที่กำหนดไว้ได้
ยานโฟบอส-กรันต์ติดตั้งเครื่องมือเก็บตัวอย่างดิน ซึ่งคิดค้นพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคบนเกาะฮ่องกง นอกจากนั้น ยังทำหน้าที่ขนส่งยานอิ้งหัว-1 ยานสำรวจดาวอังคารของจีน ซึ่งมีการวางแผนปล่อยให้โคจรรอบดาวอังคารนานราว 2 ปีอีกด้วย
นายวลาดิมีร์ โปปอฟกิน หัวหน้าสำนักงานอวกาศของรัสเซียระบุว่า รัสเซียสามารถกู้การติดต่อได้แล้ว และพบปัญหาเกิดจากระบบขับดันหลักของยาน โดยเครื่องยนต์ 2 ตัวไม่ทำงาน รัสเซียกำลังพยายามตั้งระบบคอมพิวเตอร์ของยานอีกครั้ง เพื่อติดเครื่องยนต์ แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จภายใน 3 วัน ไฟฟ้าในแบตเตอรี่ก็จะถึงกาลอวสาน
บรรดานักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญของจีนพากันผิดหวัง วิตกกังวล และไม่อยากเชื่อว่าเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นเป็นความจริง โดยกล่าวถึงเหตุขัดข้อง ที่เกิดกับยานโฟบอส-กรันต์ว่า เป็น "ความผิดพลาด ที่ก่อความเสียหายใหญ่หลวง"
โครงการความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียในการสำรวจดวงจันทร์โฟบอสนี้ใช้เวลาดำเนินการนานถึง 10 ปี และนักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงตั้งความหวังไว้มาก หลังจากยานบีเกิ้ล 2 ซึ่งสร้างโดยอังกฤษ และติดตั้งอุปกรณ์ของนักวิทยาศาสตร์ฮ่องกง พุ่งชนดาวอังคาร จนยานพังเสียหายเมื่อเดือนธ.ค. 2546
อุปกรณ์เก็บตัวอย่างดินของนักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงนั้นเป็นระบบในการบดหินจนป่นเป็นทราย เพื่อนำมาวิเคราะห์ อันเป็นขั้นตอนในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาลและการก่อกำเนิดของดาวอังคาร
ด้านโจว เหยา โฆษกของศูนย์วิทยาศาสตร์การบินอวกาศแห่งชาติของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งเป็นผู้สร้างยานอิ้งหัว-1 กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ที่นี่พากันช็อก
" เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้เอง นักวิจัยของเราทุ่มเททำงานทั้งกลางวันกลางคืน หัวหน้าโครงการของเราทั้งหมดไปรัสเซีย เพื่อคอยติดตาม การปล่อยยานโฟบอส-กรันต์" เธอระบุ
"เราแทบไม่เชื่อหูตัวเอง เมื่อได้ยินเรื่องนี้ เรายังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร"
เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ออกแบบดาวเทียมของบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ด้านอวกาศของจีนเปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจากความเห็นชอบระหว่างประธานาธิบดีหู จิ่นเทากับนายวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียเมื่อปี 2550 เพื่อแสดงให้เห็นว่า การจับมือกันระหว่างเงินทุนของมังกรกับเทคโนโลยี่ของหมีขาวอาจแข่งขันกับโครงการอวกาศของสหรัฐฯ ได้ และมนุษย์คนแรกที่เหยียบดาวอังคารอาจไม่ใช่ชาวอเมริกัน แต่หากโครงการส่งยานโฟบอส-กรันต์ล้มเหลว ก็อาจส่งผลกระทบต่อการวางแผน และยุติความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียในอนาคต เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยังเรียกร้องให้ผู้นำชาติทั้งสองยึดมั่นความร่วมมือและปณิธานแต่แรกต่อไป เพื่อรับมือกับการท้าทายจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ด้านศาสตราจารย์เจียว เว่ยซิน นักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศของมหาวิทยาลัยปักกิ่งกลับเห็นว่า ไม่ว่าชะตากรรมของยานโฟบอส-กรันต์จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่จีนเองควรเริ่มต้นดำเนินโครงการสำรวจดาวอังคารด้วยตนเองให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในทันที
ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~