ผอ.สถาบันโรคผิวหนังเผย มีผู้ป่วยด้วยอาการผื่นคันเข้ารับการรักษาที่สถาบันแล้วกว่า 100 ราย แต่สถานการณ์ยังไม่น่าวิตก เตือนผู้สวมบูทตลอดเวลาก็อาจเกิดผื่นคันได้ง่ายเช่นกัน เพราะเท้าอับชื้น
นพ.จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ระหว่างเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ สถาบันโรคผิวหนังได้เปิดให้บริการประชาชนตามปกติ ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งพบว่าขณะนี้มีประชาชนป่วยด้วยอาการผื่นแพ้ ผื่นคัน ตามง่ามมือ ง่ามเท้ากันมากขึ้น เข้ารักษาที่สถาบันวันละกว่า 20 ราย ส่วนมากเกิดจากการแพ้สิ่งปฏิกูลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
กรณีที่หนักสุดเป็นผิวหนังอักเสบ ซึ่งเกิดจากดูดซับความชื้นเป็นเวลานานทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการทายา แต่บางรายมีบาดแผลเป็นแผลเปิดวงกว้าง ก็ต้องกินยาแก้อักเสบด้วย ซึ่งจากจำนวนผู้ป่วยกว่า 100 รายที่มารักษา พบแค่ 1 รายมีอาการติดเชื้อรา จึงไม่ถือว่ามีการระบาดเกี่ยวกับโรคติดเชื้อทางผิวหนังที่รุนแรง ซึ่งแพทย์จะสั่งยาแก้ผื่นคันให้ และอาการผิวหนังติดเชื้อราจะหายไปในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
นพ.จิโรจกล่าวว่า ในสภาวะเช่นนี้ การสวมใส่รองเท้าบูทเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรสวมใส่ตลอดเวลา เนื่องจากรองเท้าบูทจะเก็บความอับชื้นทำให้เท้าแฉะ เสี่ยงต่อการเกิดผื่นคันได้ง่ายเช่นกัน ไม่ต่างจากการเดินลุยน้ำสกปรก หรือแช่เท้าในน้ำนาน ๆ ดังนั้นถ้าน้ำไม่สกปรกมาก และมีสถานการณ์การท่วมแค่บางช่วง แนะนำให้ถอดรองเท้าบูทออกเพื่อให้เท้าไม่อับชื้นจนเกินไป
"หากมีการดูแลร่างกายที่ดีและหลีกเลี่ยงสิ่งปฏิกูลในน้ำ ก็สามารถป้องกันอาการผื่นคันได้แล้ว ดังนั้นขอให้ประชาชนเฝ้าระวังตัวเองให้มาก และพยายามแยกภาชนะหรือเครื่องใช้ไว้ในที่ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการละลายรวมกับน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน แต่กรณีมีน้ำระบายตลอดเวลาก็ไม่ถือว่าอันตราย" นพ.จิโรจ กล่าว