เยี่ยมศูนย์บำบัด'บาหลี' ต้นแบบเลิกยา-ลดเอดส์

แม้เราจะ "รู้จัก" โรคเอดส์มาหลายสิบปี แต่ไม่ได้หมายความว่าเรา "เข้าใจ"

ไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 500,000 คน และยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกวันเฉลี่ยวันละ 27 คน นอกจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ยังพบการติดเชื้อในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันสูงถึงร้อยละ 36 ซึ่งจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นผู้เสพยาประมาณ 900 ราย ซึ่งคนกลุ่มนี้ พบว่านอกจากเสี่ยงติดโรคต่างๆ ยังมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำที่อาจทำให้เกิดการติดต่อโรคได้อีก

เมื่อเร็วๆ นี้ น.พ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) น.พ. สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน นำคณะสื่อมวลชนไทยไปดูโครงการลดอันตรายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก

ประเทศมีแผนลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลก โดยมี 4 มาตรการ คือ

1. การให้เมทาโดนและสารทดแทนสารเสพติด

2. การให้คำปรึกษาและตรวจคัดกรอง

3. การให้ยาต้านไวรัส

4. การให้เข็มฉีดยาที่สะอาด ซึ่งเป็นวิธีตามหลักมาตรฐานสากล แต่แนว ทางการให้เข็มสะอาดในประ เทศไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับและติดในเรื่องขั้นตอนของกฎหมาย ขณะที่อินโดนีเซีย พื้นที่ศึกษา ดูงานถือว่าสามารถนำทั้ง 4 มาตรการมาใช้อย่างได้ผล

พ.ญ.ดีอาห์ เซเตีย อุตามิ ผอ.ศูนย์บำบัดยาเสพติด อธิบายว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอินโด นีเซีย พบว่าทั้งประเทศมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 186,000 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากการใช้เข็มร่วมกัน 105,000 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการเสพเฮโรอีน ซึ่งปัญหาดังกล่าวถูกผลักดันให้เป็นปัญหาระดับชาติในการแก้ร่วมกัน จนมีการออกกฎหมายเพื่อบำบัดรักษาอย่างได้ผลตามมาตรฐานสากล เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยเอดส์และเอชไอวี ลดปัญหาอาชญากรรมจากผู้เสพยา ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เป็นต้น

อินโดนีเซียมีการตั้งคลินิกเพื่อบำบัดเป็นการเฉพาะ โดยจะให้ผู้ติดยาเสพติดร่วมโครงการด้วยการให้เข็มสะอาด เพื่อลดการใช้เข็มร่วมกัน การแจกถุงยางอนามัย การรับเมทาโดน (สารทดแทน) ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ และออกหน่วยบริการในชุมชน ร่วมกับกลุ่มเอ็นจีโอ ตามกฎหมาย ที่สำคัญคือ เปลี่ยนมุมมอง ว่า "ผู้เสพยา คือ เหยื่อ เป็นผู้ป่วยที่ต้องการการบำบัด มิใชˆอาชญา กรที่ต้องไล่ล่า" ซึ่งกลายเป็นหัวใจหลักที่ทำให้เกิดการผลักดันกฎหมาย และทำให้โครงการเดินหน้าได้

การลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจที่ คลินิก ซังดะห์ ในเขตซังลาห์ บนเกาะบาหลี เป็นเครือข่ายย่อยของร.พ. ซังลาห์ คล้ายๆ กับสถานีอนามัยในประเทศไทย ได้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และรับผู้เสพยาเข้าโครงการ ซึ่งคลินิกแห่งนี้มีผู้ลงทะเบียน 501 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 25-49 ปี โดยในจำนวนผู้เข้าโครงการทั้งหมดมีผู้ติดเชื้อร้อยละ 61 ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่ต้องรับยาต้านไวรัส

โดยโครงการมีเป้าหมาย คือ การเลิกยาเสพติด การลดอาชญากรรม ลดการติดเชื้อเอดส์และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งพบว่าภายหลังดำเนินโครงการ จำนวนการก่ออาชญากรรมจากร้อยละ 80 ลดเหลือเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น เพราะคนเหล่านี้ที่ได้รับเมทาโดนอย่างต่อเนื่อง แทบไม่มีความต้องการเสพยา ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ปกติและทำงานหาเลี้ยงชีพตนเองได้

"เป็นเรื่องยากที่จะทำให้นักการเมืองและภาครัฐเข้าใจในโครงการนี้ว่า การแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยาจะทำให้เกิดความปลอดภัยทางสุขภาพ มีการพิสูจน์ให้เห็นว่า การแลกเข็มสะอาด ไม่ได้เพิ่มจำนวนผู้เสพยา แต่ทำให้เกิดผลดี คือ ลดการติดเชื้อเอชไอวีได้จริง ซึ่งด้านกฎหมายยังคงคาดโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ขาย ไม่ใช่ผู้เสพที่เปลี่ยนมุมมองให้เป็นผู้ป่วย" พ.ญ.ดีอาห์ อธิบาย

ในการลงพื้นที่ กูต้า เฮลท์ เซอร์วิส พบว่าเป็นศูนย์บำบัดขนาดใหญ่ ผู้ป่วยที่เข้ารับการปรึกษาการบำบัดและแลกเข็มฉีดยาสะอาด จะได้รับซองที่บรรจุด้วยเข็มฉีดยา พร้อมกับกระดาษแอลกอฮอล์ ถุงยางอนามัย 5 ชุด โดยด้านนอกซองจะมีข้อความเกี่ยวกับเรื่องโรคเอดส์และโรคติดต่ออื่นๆ พร้อมข้อมูลติดต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ที่มาเข้าโครงการต้องนำเข็มมาคืนเพื่อทำ ลายอย่างถูกต้อง ด้วยการเผาเดือนละ 1 ครั้ง โดยผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดสามารถมาขอรับเข็มฉีดยาได้ที่ศูนย์อนามัยในพื้นที่ และเข้ารับการบริการควบคู่กับการให้สารเมทาโดนและกิจกรรมอื่นๆ

สำหรับผู้ที่ได้รับสารเมทาโดน จะทำเป็นขั้นเป็นตอน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดต้องได้รับการซักประวัติ ปริมาณการรับสารเสพติด ตรวจสอบการติดเชื้ออื่นๆ เพื่อประเมินปริมาณการรับยา และต้องรับยาอย่างต่อเนื่องทุกวัน เมื่อรับยาสารเมทาโดนจะอยู่ในกระแสเลือด 24 ชั่วโมง ทำให้ความอยากยาลดลง แต่อาจต้องใช้เวลานานในการบำบัด ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บำบัดด้วย

นอกจากการบำบัดในศูนย์บริการการแพทย์ทั้งระดับชุมชนขนาดเล็ก และลักษณะศูนย์บริการขนาดใหญ่ ยังมีการจัดกิจกรรมในชุมชน โดยมีกลุ่มเอ็นจีโอลงพื้นที่ทำ ความเข้าใจและเป็นผู้ให้ความรู้

อาดี ผู้อำนวยการองค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อผู้ติดเชื้อและเสพยาเสพติดในเมืองกูต้า บอกว่า การยอมรับและให้โอกาสของสังคม ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้โครง การลักษณะนี้สำเร็จได้ ซึ่งที่ศูนย์แห่งนี้จะเน้นให้คำปรึกษาผู้ที่อยากเลิกยา และอยู่ระหว่างการบำบัดยาเสพติด ทั้งในหน่วยงานและในชุมชน โดยบริการไปแล้วกว่า 630 ราย โดยจะทำสื่อรณรงค์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเลิกยาและบำบัด ยังพบว่ามีโครงการที่จัดทำให้แก่ผู้เสพยาในเรือนจำอีกด้วย

น.พ.สมบัติอธิบายว่า อินโดนีเซียถือเป็นการทำงานเชิงรุก และเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก รวมถึงมีความเข้าใจในการแก้ปัญหาสูง เห็นได้จากการออกกฎหมายเพื่อให้ผู้เสพยาได้รับการบำบัด ซึ่งหลังจากทำโครงการถึง 8 ปี ก็พบว่า สามารถลดอัตราก่ออาชญา กรรมของกลุ่มนี้ลงไปได้มากและยังมีการบำบัดอย่างจริง จังเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอดส์ลงได้

อากุส หนึ่งในผู้เสพยาที่กลับใจได้ บอกว่า เหตุผลที่เลิกยาเพราะมองเห็นคนรอบข้างเป็นทุกข์ และได้รับการต่อต้านว่าเป็นอาชญากร เมื่อเข้าโครงการได้รับเข็มสะอาด ได้รับสารเมทาโดน ก็ทำให้สุขภาพดีขึ้น และคิดว่าจะเลิกยาเสพติดได้อย่างจริงจัง

น.พ.มานิตอธิบายว่า ไทยดำเนินการลักษณะนี้มานาน ให้สารทดแทนในสถานพยาบาลบำบัดยาเสพติด แต่การแลกเข็มสะอาดยังอยู่ระหว่างดำเนินการ และจะมีการเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการเอดส์ระดับชาติเพื่อพิจารณาต่อไป

อาจถึงเวลาที่เราต้องปรับทัศนคติเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

3 พ.ย. 54 เวลา 00:52 2,043 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...