ต่อให้ป้องกันอย่างไร ไม่ว่าจะทำคันดิน ถุงทรายกั้น หรือใช้เครื่องสูบน้ำออก
แต่สุดท้าย”น้ำ”ก็สามารถทะลุทะลวงเข้ามาได้
ปิดกั้นด้านนี้ก็ตลบหลังไปด้านอื่น
ไปช้าๆ แต่จะไป
ผู้ประสบภัยน้ำท่วมหลายรายยืนยันว่าแม้พยายายามป้องกันอย่างเต็มที่ แต่สุดท้าย”น้ำ”ก็หาทางเข้าบ้านได้
ไม่ว่าจะเป็นทางท่อระบายน้ำ โพรงใต้ดินทะลุเข้ามาตามกระเบื้อง หรือช่องว่างที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
“น้ำ”ฉลาดจริงๆ
ในโลกไซเบอร์วิพากษ์วิจารณ์กันว่า”น้ำ”ฉลาดเพราะเธอเป็นคนรักการเรียนเป็นชีวิตจิตใจ
มีมหาวิทยาลัยที่ไหน เธอจะต้องแวะไปหาความรู้
ตามปกติเรามักจะเรียนเพียงแค่มหาวิทยาลัยเดียว
แต่”น้องน้ำ”ผ่านทุกมหาวิทยาลัย
เริ่มตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต
วันนี้ถาม”น้องน้ำ”เรื่อง”กฏหมาย-รัฐศาสตร์” ...รู้
ถามเรื่อง”นิเทศศาสตร์” .... สบาย
ถามเรื่อง”แอนิเมชั่น”... หมู
พอผ่านพ้น 3 มหาวิทยาลัยเสร็จ “น้องน้ำ”ก็เริ่มตระเวณไปหาความรู้แถวบางเขน
“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”คือเป้าหมาย
วันนี้ความรู้ชลประทาน-เกษตร “น้องน้ำ”รู้ดี
ระหว่างที่แวะ”เกษตรศาสตร์” เธอก็ยังไขว่คว้าหาความรู้เพิ่มเติม
เธอแวบไปหาความรู้ที่”มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์”ด้วย
และยังตีโอบไปขอความรู้จากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
คาดว่าคงอยากเรียนรู้เรื่องดนตรี จาก”ดร.สุกรี เจริญสุข”ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ด้วย
ต่อไปนี้เวลาน้ำไหล เธออาจไหลเป็นเสียงดนตรี
มีตัวโน้ต และจังหวะ
ผ่อนคลายความเครียดจากผู้ประสบภัยน้ำท่วม
หลายคนยังสงสัยว่าการที่”น้องน้ำ”ทะลุทะลวงแนวป้องกันได้ เธอต้องมีความรู้ด้านวิศวกรรมเป็นอย่างดี
แค่ระดับปริญญาตรี ไม่น่าจะเก่งขนาดนี้
คนที่ถามคงลืมไปว่า”น้องน้ำ”นั้นผ่าน”สถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเซีย”หรือ”เอไอที”ที่สอนระดับปริญญาโทและเอกมาแล้ว
เมื่อ”น้องน้ำ”เป็นคนไขว่คว้าหาความรู้เช่นนี้
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ประสานมิตร มหาวิทยาลัยรามคำแหง
หรือแม้แต่“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”และ”นิด้า”
อาจเป็นเป้าหมายต่อไปของ”เธอ”
...ประมาทไม่ได้เลย