ศัลยกรรม...เมื่อดาบสองคมทำพิษ!

ศัลยกรรม...เมื่อดาบสองคมทำพิษ! (Lisa)

          เมื่อเราไม่พอใจกับความงามตามธรรมชาติ การพึ่ง "มีดหมอ" ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่คุณมั่นใจแล้วหรือว่าศัลยกรรมจะทำให้คุณสวย...ไม่แน่อาจจะเสียสวยก็ได้นะ!

          เมื่อไม่นานมานี้การทำศัลยกรรมกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่คนกลับมาให้ความสนใจกันอีกครั้ง เมื่อรายการ “ตีสิบ” นำเสนอเรื่องราวของ "คุณตั๊ก" ผู้เสพติดการทำศัลยกรรมจนตัวเธอเองต้องเสียโฉมถาวรถึงชั้นไม่สามารถออกไปไหนมาไหนตามปกติได้มากว่า 3 ปี และในอีกด้าน รายการ "วีไอพี" กลับเสนอเรื่องราวของ "อภิรักษ์" เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ซึ่งผ่านการทำศัลยกรรมมามากกว่า 16 ครั้ง รวมถึงการเหลาคาง ฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ ฯลฯ ถ้ามองเผิน ๆ ในกรณีหลังเราอาจจะกล่าวได้ว่าการทำศัลยกรรมประสบความสำเร็จ แต่นี่เป็นเรื่องปกติแน่เหรอ? ไม่ปกติแน่นอน และความไม่พอใจในความงามจนต้องแสวงหาการทำศัลยกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ นี่แหละคือปัญหา

คนไทยกับศัลยกรรม

          เราอาจจะเป็นประเทศที่ไม่กว้างขวางนักก็จริง แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกเรามีสถิติเสริมความงามมากที่สุดเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ในขณะที่เพื่อนร่วมทวีปอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีนั้นอยู่ที่อันดับ 6 และ 7 ตามลำดับ (ที่มา : Intemational Society of Aethetic Plastic Surgery)

คนไทยนิยมทำอะไร?

 
ต้องผ่าตัด (Surgical Procedures) ไม่ต้องผ่าตัด (Non-Surgical Procedures)
 
 ขั้นตอน  จำนวนคนไข้ (ราย)  ขั้นตอน  จำนวนคนไข้ (ราย)  เสริมหน้าอก  13,875  ฉีดโบท็อกซ์  19,077  ดูดไขมัน  13,261  ฉีดยาละลายไขมัน  11,636  ตกแต่งเปลือกตา  10,926  ฉีดกรดไฮยาลูรอนิก  10,982  เสริมจมูก  6,076  ฉีดไขมันตนเอง  4,198  ผ่าตัดไขมันหน้าท้อง  5,772  Laser Skin Resurfacing 2,507
 
 
 Botox & Filler


 ความงามบรรจุเข็ม...ทางเลือกสำหรับคนที่ไม่อยากลงมีดหมอ

ข้อควรรู้เรื่องโบท็อกซ์

          "โบท็อกซ์" เป็นชื่อทางการค้าของโบทูลินั่มท็อกซิน โปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งได้จากแบคทีเรียทำงานด้วยการคลายกล้ามเนื้อในบริเวณที่ฉีด จึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ที่ต้องการลบรอยตีนกา รอยเหี่ยวย่น หรือแม้แต่ผู้ที่กรามใหญ่และต้องการให้ใบหน้าเรียวเล็ก ภายในไม่กี่วันหลังจากฉีด สารพิษจะเข้าไปทำปฏิกิริยาเพื่อลดหรือหยุดการคลายตัวของกล้ามเนื้อไม่กี่วันหลังจากฉีด สารพิษจะเข้าไปทำปฏิกิริยาเพื่อลดหรือหยุดการคลายตัวของกล้ามเนื้อผลดังกล่าวไม่ถาวร และแม้ทาง FDA สหรัฐฯ จะเตือนว่าการฉีดโบท็อกซ์เป็นขั้นตอนทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็ยังไม่วายเกิดการจัด "ปาร์ตี้โบท็อกซ์" ซึ่งหลายครั้งไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมด้วย มิหนำซ้ำยังซื้อหาโบท็อกซ์จากอินเทอร์เน็ตที่มักมีราคาถูกกว่า โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยเสียด้วยซ้ำ เราไปคุยกับ นพ.โกสินทร์ แจ่มเพ็ชรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณจากสกินดอร์คลินิก ถึงอันตรายที่คุณควรรู้ก่อนคิดจะฉีดโบท็อกซ์กันเถอะ

ข้อเสียและผลข้างเคียงของโบท็อกซ์คืออะไร?

          "ประการแรก ก็คือ การเลือกผลิตภัณฑ์ผิด โบท็อกซ์ที่มีอย. ในบ้านเรามีแค่สามแบรนด์คือ Botox+ของอเมริกา Dyspoort+ของอังกฤษ และ Neuronox+ของเกาหลี ซึ่งก่อนฉีด คนไข้ควรจะถามคุณหมอก่อนว่าใช้ยี่ห้ออะไรและผลิตจากที่ไหน แล้วก็สังเกตขวดด้วย บางทีเดี๋ยวนี้คลินิกเถื่อนเขาฉลาดแอบเอาขวดคล้ายๆ กันมาทีนี้โบท็อกซ์จีนก็มีเหมือนกัน แต่ถ้ากระบวนการผลิตไม่ดีมันก็อาจติดเชื้อได้ เพราะสกัดไม่บริสุทธิ์พิษจะเป็นพิษเดียวกับบาดทะยัก ถ้าฉีดพลาดก็อาจรั่วไหลเข้าไปในเส้นเลือด สารพิษก็วิ่งเข้าไปในเลือดหมดเลย เคยมีหมอจีนเอามาฉีดเองแล้วก็เสียชีวิตจากกรณีนี้ พอฉีดเข้าไปแล้วก็เหมือนฉีดเอาพิษเข้าร่างกายนั่นแหละครับ

          ประการที่สอง เลือกของที่มีอย. ถูกต้อง แต่ฉีดผิดตำแหน่ง เช่น ฉีดลึกเกินไป ฉีดมากเกินไป ฉีดไม่บาลานซ์ ไปโดนกล้ามเนื้อบางมัดที่เราไม่ต้องการจะคลาย ก็จะเกิดอาการปากเบี้ยว คิ้วตก เคี้ยวไม่ได้

          ประการที่สาม คนที่ฉีดไม่มีความรู้และประสบการณ์ เคยมีข่าวว่าคนที่ทำงานกับหมอเห็นหมอฉีดก็นึกว่าฉีดได้ ความจริงไม่ใช่นะเราต้องรู้กายภาพว่ากล้ามเนื้อมัดนั้นถูกมั้ย ถ้าผิดกล้ามเนื้อก็จะกลับไปสู่ปัญหาข้างต้น"

โบท็อกซ์เป็นสารพิษไม่ใช่หรือ? สารเหล่านี้ จะสะสมในร่างกายไหม?

          "ถามว่าโบท็อกซ์เป็นสารพิษไหม? มันก็ใช่แหละครับ ความจริงแล้วมันเป็นสารพิษจากแบคทีเรียซึ่งเค้าเรียกว่า Botulinum Toxin Type A หลักการของเขาก็คือ ต้องฉีดในชั้นกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่หดก็จะคลาย กล้ามเนื้อที่โตก็จะเล็ก หรือฉีดให้แก่คนที่ปวดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ เช่น เวลานั่งหน้าคอมพ์นาน ๆ เกร็งกล้ามเนื้อตลอด ก็จะฉีดในกล้ามเนื้อที่หดเกร็งให้ผ่อนคลาย

          สารพวกนี้ฉีดอย่างไรก็ไม่ถาวร ร่างกายจะกำจัดออกหมด บางคนสงสัยว่าฉีดนานๆ แล้วกล้ามเนื้อจะตายมั้ย? กล้ามเนื้อไม่ตายหรอกครับ เพราะฉีดปุ๊บร่างกายก็กำจัดออกหมด แต่มันจะดื้อเหมือนเรากินยาบ่อยๆ การฉีดบ่อยๆ ก็ดื้อเหมือนกัน เพราะอย่างนั้นถึงแนะนำไม่ให้ฉีดถี่เกิน 3 เดือนต่อครั้ง ส่วนคนที่ฉีดอย่างถูกต้อง โบท็อกซ์ก็จะอยู่ได้นานขึ้น"

ฟิลเลอร์ รู้ก่อนฉีด

          สำหรับความงามที่คุณฉีดได้อีกประเภท ถ้าบอกว่าฉีด "กรดไฮยาลูรอนิก" หลายคนคงทำหน้างงหรือไม่ก็ต้องการแน่ ๆ แต่ถ้าพูดว่าฉีด "ฟิลเลอร์" หลายคนคงร้องอ๋อพูดว่าฉีด "ฟิลเลอร์" หลายคนคงร้องอ๋อ เพราะปัจจุบันมีการใช้ "สารเติมเต็ม" เพื่อเพิ่มวอลุ่มให้กิ่ว ซึ่งในสมัยก่อน มีประโยชน์อย่างมากในการรักษาร่องแก้มที่เป็นรอย ได้ตาที่โบ๋ ทำแก้มตอบให้เต็ม แต่ระยะหลังมีเทคนิคใหม่ๆ เช่น ฉีดสาร เติมเต็มเพื่อยกคิ้ว เดินขมับให้เต็ม และที่นิยมกันมากก็คือฉีดเสริมจมูกให้โด่งเป็นสัน ข้อดีของมันก็คือมีคนแพ้น้อยมาก แต่ข้อเสียก็คืออยู่ได้ไม่นาน และถ้ายิ่งอยู่นาน ผลข้างเคียงก็จะยิ่งมาก อาจทำให้เกิดอาการอักเสบ กลายเป็นก้อนแดง ๆ ได้ นพ.โกสินทร์ แจ่มเพ็ชรรันต์ อธิบายถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ "ยิ่งนานยิ่งดี" ว่าความจริงแล้วเป็นในทางตรงกันข้าม

ฉีดฟิลเลอร์พลาด แก้ไขได้ไหม?

          เราสามารถแบ่งฟิลเลอร์ได้เป็นสองประเภทคือ แบบที่อยู่ได้นาน 5 ปี กับแบบที่อยู่ได้ระยะสั้น ๆ ประมาณหนึ่งปี ซึ่งแบบหลังเป็นที่นิยมมาก เราเรียกว่ากรดไฮยาลูรอนิกสังเคราะห์

          กรดไฮยารูลอนิกสังเคราะห์ส่วนใหญ่จะได้จากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะฉีดแล้วเห็นผลทันที ถ้าฉีดน้อยก็แค่ไม่ขึ้น ถ้าฉีดมากเกินไปก็มีตัวกำจัด เค้าเรียกว่า Hyaluromidase Enzyme หากฉีดไม่สวยก็ฉีดเอนไซม์ตัวนี้เข้าไปก็จะหายได้ ดังนั้น ข้อดีของมันคือเป็นมิตรกับผิว ฉีดมากได้ก็เอาออกได้

          แบบที่อยู่ได้นานคือ คอลลาเจนสังเคราะห์ มักจะสกัดจากหนังแท้ของเนื้อวัว ข้อดีที่ผู้บริโภคคิดผิดกันก็คืออยู่ได้นาน 5 ปีแล้วถึงจะสลายไป แต่ลืมคิดไปว่าพอนานปั๊บ หน้าเสียก็เสียไป กว่าจะหายก็ 5 ปี ต้องเข้าไปขูดออกอย่างเดียว หรือไม่ก็รอให้ร่างกายกำจัดออกเอง

แล้วในรายการ "ตีสิบ" ที่เสียโฉม เป็นไปได้อย่างไรคะ?

          เราก็จะมาพูดถึงซิลิโคนเหลวหรือพาลาฟิน ซึ่งในทางการแพทย์ไม่ใช้กัน แต่หมอเถื่อนจะใช้ ฉีดเข้าไปแล้วถาวร เอาออกไม่ได้ติดกับเนื้อเยื่อเลย ทีนี้ผู้บริโภคก็จะตกหลุมพรางกับคำว่าถาวรประหยัด โดยที่ลืมไปว่าความถาวรมันไม่ดี และพวกนี้จะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ เมื่อไหร่ร้อนก็จะเหลวย้อยตกลงมาพออุณหภูมิลดก็จะแข็ง เกิดพังผืดข้างใน เอาออกมาไม่ได้ต้องขูดออกมาอย่างเดียว ที่เราเห็นในตีสิบก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ใช้พาลาฟินนั่นแหละครับ

ศัลยกรรม VS ฟัน

          ถ้ามีการผ่าตัดปริมาณริมฝีปาก ก็จะมีผลโดยตรงในการทำให้ฟันเราเห็นน้อยลงหรือเห็นมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อในหน้าของเราทั้งหมด หรือการฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ จะมีผลกับความยาวและสั้น ของริมฝีปาก อาจทำให้มองเห็นฟันมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งการที่เห็นฟันน้อยลง โดยเฉพาะคนที่ยิ้มแล้วไม่เห็นฟันเลย ก็จะทำให้สภาพใบหน้าดูมีอายุมากขึ้นหรือดูบึ้งตึง หรือการยิ้มเห็นเหงือกมากเกินไปก็ดูไม่สวย

          ทพ.ดร.อมรพงษ์ วชิรมน ศัลยแพทย์ช่องปาก ขากรรไกร ใบหน้า และทันตแพทย์จัดฟัน เวอร์เทคคลินิก

Expert’s Corner

          ศัลยกรรมอันตรายแค่ไหน พลาดแล้วรักษาได้รึเปล่า เรามาคุยกับ พญ.ธวลิดา เวชชวณิชย์ หัวหน้าศูนย์ความงาม ร.พ.พญาไท 1 ผู้เชี่ยวชาญประจำเว็บไซต์ Doctorskinhouse.com

Q : ในกรณีของรายการวีไอพีซึ่งเด็กอายุ 17 ปี อ้างว่าทำศัลยกรรมมาแล้ว 16 ครั้ง เด็กอายุเท่านี้ทำศัลยกรรมจะอันตรายมั้ยคะ? แล้วในกรณีนี้ถือเป็นการเสพติดศัลยกรรมรึเปล่า?

        A : ก่อนอื่น ๆ ต้องขออธิบายว่า Plastic and Reconstruction Surgery หรือศัลยกรรมแก้ไขความผิดปกติซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เราสามารถทำให้ได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดค่ะ เช่น เด็กเกิดมาปากแหว่งเพดานโหว่ ก็สามารถทำได้ตั้งแต่เด็ก เพียงแต่เค้ามีตัวชี้วัด (Indication) มีภาวะจำเป็นที่ต้องทำรึเปล่า เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่แล้วไม่สามารถดื่มน้ำได้ มีอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต หรือถ้าหนังตาตกมาปิด การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ก็ต้องแก่ไขตั้งแต่เด็ก ไม่จำเป็นต้องรออายุเยอะ

         ทีนี้ถามว่าจำนวน 16 ครั้ง ถือเป็นการเสพคิดศัลยกรรมได้ไหม? ได้ค่ะ มันจะมีโรคพวก Body Dysmorphic Disorder กลุ่มนี้เขาจะมองตัวเองยังไงก็ไม่สวยไม่ดี แล้วก็ยังต้องการให้สวยให้ดี ถือเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่งค่ะ

Q : สำหรับคนไข้ที่ทำศัลยกรรมแล้วเกิดปัญหาหรือไม่ถูกใจแก้ไขได้ไหมคะ?

        A : การแก้ไขขึ้นอยู่กับว่าปัญหามากหรือน้อยแค่ไหนค่ะ เช่น บางเคสทำจมูกเสริมซิลิโคนจากที่อื่นมาแล้วเบี้ยวไม่ได้รูปมาปรึกษาเรา เราก็สามารถปรับได้ โดยอาจเลาะแก้ไขใหม่ทั้งหมดหรือเติม Fiiler เพื่อลดมุม หลอกแสง ทำให้ดูแล้วไม่เบี้ยว (แต่จริง ๆ ซิลิโคมยังคงอยู่ตำแหน่งเดิม) มันแล้วแต่สภาพของคนไข้ และเทคนิคของหมอแต่ละคน การแพทย์เป็นศาสตร์และศิลป์ค่ะ หรือก็มีตัวอย่างคนไข้บางกลุ่มไปหาหมอเถื่อนตามสถานเสริมความงามที่อื่นมาอยากจะประหยัดเงินในการฉีดฟิลเลอร์ เขาก็ไปฉีดคอลลาเจนปลอม ซึ่งทำจากซิลิโคมปั่นแล้วนำมาผสมน้ำเกลือ พอฉีดปุ๊บก็จะกลายเป็นของแข็ง เป็นก้อน ทีนี้ร่างกายของเราเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ก็จะสร้างเยื่อหุ้มเพื่อป้องกันอันตรายต่อร่างกาย มันถึงเป็นก้อนแข็ง ๆ พอเกิดการติดเชื้อก็จะเป็นหนอง หน้าบวมและ การแก้ไขก็คือต้องเอาสิ่งแปลกปลอมออก แล้วก็เย็บปิด แต่อาจจะมีแผลเป็นไม่กลับมาสวยเหมือนเดิมค่ะ

          คนไข้ที่จะทำศัลยกรรมทุกคนควรตระหนักว่า การแพทย์ไม่มีอะไร 100% หมอไม่สามารถบอกคนไข้ได้ว่า "ทำออกมาแล้วสวยชัวร์หล่อชัวร์" ไม่มีหมอคนไหนกล้าพูดแบบนี้ แต่หน้าที่ของหมอคือ เราจะลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ปลอดภัยที่สุด ทำให้ดีที่สุดและคนไข้พอใจมากที่สุดค่ะ

Credit: โดยกระปุกดอทคอม
1 พ.ย. 54 เวลา 23:22 6,871 9 120
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...