เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น คุณควรคุยกับคู่กรณีอย่างสุขภาพดีกว่านะ
ประเมินสถานการณ์
ก่อนที่คุณจะพูดอะไรออกไป ลองคิดถึงข้อดีข้อเสียของการพูด คุณรู้จักคนที่คุยด้วยดีแค่ไหน จำเป็นต้องพูดขณะนั้นหรือไม่ ที่สำคัญคือคุณต้องมั่นใจในข้อเท็จจริงก่อนที่จะคุยกับคนอื่นเรื่องปัญหา อย่างเช่น ถ้าคุณมีข่าวร้าย คุณก็ควรจะมีหนทางแก้ไขเตรียมไว้ด้วย หรือถ้าคุณมีเรื่องบ่นก็ควรจะคิดก่อนว่าคุณมีส่วนก่อเรื่องด้วยรึเปล่า อย่าลืมดูกาลเทศะให้เหมาะสมด้วย
สุภาพ
น้ำเสียงและท่าทางสามารถบ่งบอกว่าคุณมีอารมณ์รุนแรงอยู่ภายใน คุณคงไม่อยากจะสุมไฟแทนที่จะดับไฟหรอก สมมติว่าเพื่อนร่วมงานเปิดเพลงเสียงดัง แทนที่คุณจะบอกว่า “นี่เธอจำเป็นต้องฟังเพลงเสียงดังขนาดนี้เลยเหรอ” คุณก็อาจจะพูดว่า “ขอโทษนะ ฉันมีเดดไลน์ต้องส่งงานแล้วไม่มีสมาธิเลย เธอช่วยใช้หูฟังไปก่อนได้มั้ย” เพื่อให้สุภาพ และพยายามไม่ประชดด้วยนะ
หาข้อตกลง
พยายามอย่าจบการโต้เถียงโดยที่ยังไม่มีทางออก คำว่า “ห้าม” หรือ “เด็ดขาด” อาจทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่ดี คุณควรฟังสิ่งที่คู่กรณีบอกและประเมินว่าเขาต้องการอะไร และจงเข้าใจว่าบางครั้ง คุณก็ไม่ได้สิ่งที่ตัวเองคิด จึงต้องมีการประนีประนอมบ้าง