ราไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ
แค่ติดตามสถานการณ์มาเรื่อยๆ กระทั่งสังหรณ์ใจว่า
น้ำท่วมครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในชีวิตนับตั้งแต่ทุกคนเกิดมาบนแผ่นดินไทย
และน่าจะเป็นสุดยอดวิกฤตที่จะยืดเยื้อยาวนาน
…นานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ แต่โดยส่วนตัวค่อนข้างเชื่อว่า ในกรุงเทพฯ อาจกินเวลาสองถึงสี่สัปดาห์
เพราะความหนาแน่นของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ การตั้งบ้านเรือนขวางทางน้ำ
ล้วนเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้น้ำไหลลงทะเลได้ช้าลง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ค่อนข้างชัดเจน กรุงเทพฯ โดนมวลน้ำมหึมาถล่มแน่นอน
เราต้องยอมปล่อยให้น้ำผ่านกรุงเทพฯ ลงสู่อ่าวไทย
ไม่มีใครปกป้องกรุงเทพฯ ให้แห้งสนิทได้จริงๆ หรอก
ถึงนาทีนี้ เราจึงอยากแจ้งเตือนชาวกรุงเทพฯ ทั้งหลายว่า…
อย่าประเมินศักยภาพตัวเองสูงเกิน อย่าประเมินความสามารถของน้ำต่ำไป
ออกมาได้ก่อนน้ำท่วมก็ควรออก ออกมาได้ก่อนตีนเปียกก็ควรออก
โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูง
และไม่มีภารกิจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้
1. โดยธรรมชาติของคนเมืองที่เสพติดความสะดวกสบายกันจนชิน
ต้องยอมรับว่าพวกเราอ่อนแอและขาดภูมิคุ้มกันเรื่องความยากลำบากอยู่พอสมควร
จึงควรประเมินตัวเองว่า…
เราจะสามารถอยู่ในบ้านที่ไม่มีน้ำสะอาดและไม่มีไฟฟ้าได้นานเกิน 2 สัปดาห์หรือไม่
เพราะหากน้ำท่วมหนักมาก น้ำประปาสะอาดจะขาดแคลน ไฟฟ้าจะโดนตัด
วัยรุ่นวัยทำงานอาจจะแข็งแรงพออึดได้ ทนได้ สู้ไหว
แต่สำหรับเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ คนป่วย คนชราจะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่น้อย…โปรดอย่าเสี่ยง
2. การอพยพเมื่อน้ำท่วมแล้วมีความเสี่ยงต่อการโดนไฟฟ้าดูดไฟฟ้าช็อต
บ้านเรายกคัทเอาท์ แต่เราไม่รู้ว่าบ้านอื่นยกคัทเอาท์หรือไม่
ไฟฟ้าที่รั่วลงน้ำก็มองไม่เห็นอีกต่างหาก
จึงเป็นความเสี่ยงร้ายแรงถึงชีวิตที่ไม่สามารถป้องกันได้เลย
และก็ปรากฏข่าวว่ามีผู้อพยพโดนไฟฟ้าช็อตตกเรือจมน้ำไปแล้วด้วย
3. น้ำที่ท่วมครั้งนี้ไม่ใช่น้ำฝนสะอาดๆ
แต่เป็นน้ำที่ไหลผ่านฟาร์มที่มีซากหมูซากไก่จมน้ำตาย
และไหลผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาแล้วหลายแห่ง
สารพันน้ำทิ้งน้ำเสียน้ำเน่าไหลรวมกันมาหมด
หลายคนพูดตรงกันน้ำที่เอ่อขึ้นมาโชยกลิ่นเหม็นมาก
ความสกปรกของน้ำไม่น่าจะปลอดภัยต่อการเดินลุย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบาดแผลบนร่างกาย
4. สารพัดสัตว์ทั้งมีพิษไม่มีพิษไหลมาพร้อมน้ำท่วม
งู ตะขาบ ปลิง ยังทำอันตรายผู้ประสบภัยได้เสมอ
อย่าลืมว่า น้ำที่ท่วมไม่กิ๊งใสเหมือนในสระว่ายน้ำนะจ๊ะ
5. ออกมาตั้งแต่น้ำยังไม่ท่วม เราสามารถหอบข้าวของเครื่องใช้จำเป็นออกมาได้มากกว่า
เราจะมีขวัญและกำลังใจดีกว่า ทุลักทุเลน้อยกว่า และสามารถฟื้นฟูเยียวยาตัวเองได้รวดเร็วกว่า
เมื่อต้องตกอยู่ในสถานภาพผู้ประสบภัยรอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่
คนที่ต้องนั่งเรืออพยพพกข้าวของมาได้แค่ 1-2 กระเป๋าเท่านั้น
6. เมื่อย้ายมาอยู่นอกเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ความเครียดและวิตกกังวลจะลดลง
แทนที่จะต้องนอนไม่หลับกระส่ายกระสับ เพราะลุ้นว่าน้ำจะมาประชิดตัวเวลาใด
เราจะนอนอิ่มขึ้น นอนหลับสนิทขึ้น ทำให้สมองปลอดโปร่ง สุขภาพจิตไม่เสีย
มีแรงกายแรงใจและแรงสมองในการทำงานหรือช่วยคิดแก้ปัญหาอื่นๆ ของตัวเองและของสังคมได้อีก
7. คนกรุงเทพฯ ผลิตอาหารเองไม่ได้
เมื่อเส้นทางการขนส่งอาหารถูกตัดขาดเพราะน้ำท่วมจะเป็นอย่างไร
โอเค อาจจะขนส่งด้วยเฮลิคอปเตอร์ได้
แต่จะปริมาณเพียงพอสำหรับผู้ประสบภัยจำนวนนับไม่ถ้วนหรือไม่…น่าคิด
อีกทั้งน้ำที่ท่วมก่อนถึงกรุงเทพฯ ก็ทำให้หมูและไก่จมน้ำตายไปเยอะมากแล้ว
8. เมื่อประเมินสถานการณ์เลวร้ายขั้นสูงสุด ยอมอพยพออกมา
แล้วสุดท้ายมันไม่เกิดขึ้นจริงอย่างที่ประเมิน
เราสามารถกลับเข้าไปบ้านตัวเองได้เสมอ
ตรงกันข้าม…เมื่อประเมินสถานการณ์ในแง่ดีเกินไป เลือกที่จะไม่อพยพ
แล้วสุดท้ายมันรุนแรงเลวร้ายกว่าที่คาดคิด
เราจะบอบช้ำเยอะ เรากลับไปบ้านก็ไม่ได้ เราหาที่พักใหม่ก็ไม่ทัน
และอาจจะต้องเป็นผู้อพยพซ้ำซาก…หากศูนย์พักพิงที่เราเข้าไปลี้ภัยโดนน้ำท่วมอีกรอบ
9. เขตเมืองหลวงประชากรหนาแน่นมากถึงมากที่สุด ถ้าไม่ค่อยๆ ทยอยกันออกมา
แต่รออพยพพร้อมกันในนาทีสุดท้ายจะกลายเป็นความโกลาหลยิ่งเดิม
ความวุ่นวายนี้เองจะซ้ำเติมปัญหาให้หนักหนาสาหัสเข้าไปอีก
และพลอยทำให้เจ้าหน้าที่จัดการแก้ไขสถานการณ์ได้ยากเย็นกว่าเดิม
10. ประเด็นสำคัญที่สุด ถ้าเราอยู่รอดปลอดภัยนอกพื้นที่น้ำท่วม
นอกจากจะช่วยลดจำนวนผู้ประสบภัยและลดภาระการให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่แล้ว
เรายังสามารถติดต่อประสานขอความช่วยเหลือแทนคนที่ติดอยู่ในดงน้ำท่วม
หรือกลับเข้าไปเป็นอาสาสมัครช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วมได้อีก
ทั้งหมดนี้เขียนขึ้นเพื่อตักเตือน มิใช่สร้างความตื่นตระหนก
ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนล้วนๆ
อย่าเพิ่งรีบหลงเชื่อหรือรีบคัดค้านในทันที
ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณของตนเองไตร่ตรองอีกครั้ง
ด้วยความปรารถนาดีจากคนที่อพยพออกมาก่อนตีนเปียก
หมายเหตุ : ขอหยิบยืมวลี “อพยพก่อนตีนเปียก” มาจากเจ๊ตู่
และขอบคุณเพิื่อนปุ๋ยที่ช่วยจุดประกายให้ลองคิดถึงช่องทางอพยพแทนที่จะปักหลักสู้น้ำ