หากย้อนกลับไปในอดีตยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์ วิธีการทำศพที่โด่งดังที่สุดคงเป็นการทำมัมมี่ (Mummifying) ของอียิปต์ ซึ่งเป็นการรักษาสภาพศพเอาไว้ด้วยความมุ่งหวังว่า วิญญาณของเจ้าของศพจะได้กลับคืนสู่ร่างในภพหน้า
เคล็ดลับในการทำมัมมี่ของอียิปต์ คือการใช้เกลือที่เรียกว่า “นาตรอน (natron)” โดยหลังจากที่แม่น้ำไนล์ท่วมท้นและลดลงแล้ว ก็จะมีหินเกลือตกค้างอยู่ เมื่อนำเกลือยัดใส่ไว้ภายในร่างศพ จะเป็นการเร่งให้เนื้อหนังแห้งเร็วขึ้น และเก็บรักษาไว้ได้นาน (เหมือนเนื้อย่างรมควัน) สี่สิบวันหลังจากที่แห้งดีแล้วก็นำมาห่อหุ้มด้วยผ้าลินินยาวนับร้อยหลา ซากศพก็จะคงทนอยู่ได้นานนับพัน ๆ ปี
แต่ข้อเสียของการทำมัมมี่แบบอียิปต์ คือ ต้องมีการควักเอาอวัยวะภายในออก แล้วเก็บแยกไว้ในโถที่เรียกว่า “คาโนปิก (Canopic Jar)”
ต่อมามีการทำมัมมี่ที่ประวัติศาสตร์จารึก ได้แก่ การรักษาศพของ วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำรัสเซียซึ่งถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1924 ด้วยความที่เลนินเป็นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ เหล่านักวิทยาศาสตร์รัสเซียจึงร่วมปรึกษาหาวิธีเก็บศพของเขาไว้ให้เป็นที่เคารพแก่คนรุ่นหลัง และด้วยวิธีการอันทันสมัย ศพของเลนินจึงยังคงสภาพประหนึ่งครั้งยังมีชีวิตอยู่ แม้เวลาจะผ่านมาแล้วถึง 86 ปี ก็ตาม
ในปัจจุบัน การทำมัมมี่ได้กลับมาเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอีกครั้งด้วยวิธีการที่เรียกว่า “พลาสติเนชั่น (Plastination)” ซึ่งผู้ที่คิดค้นวิธีน้ำคือนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันนามว่า กุนเธอร์ ฟอน ฮาเกนส์ (Gunther von Hagens) โดยอาศัยหลักการใหญ่ ๆ ด้วยการขจัดน้ำและไขมันออกจากซากศพ แล้วแทนที่ด้วยพลาสติก
ฮาเกนส์ สนใจเรื่องกายวิภาคมาตั้งแต่เป็นเด็ก ตอน 6 ขวบ เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส หมอเร่งรีบพาเขาเข้าไปในห้องผ่าตัด ก่อนหมดสติจากการวางยาสลบ เขาได้ยินหมอถกกันว่า “เขาน่าจะไม่รอด” นั่นทำให้เขาคิดถึงเรื่องของความตายมานับแต่นั้น
ปี 1965 ฮาเกนส์ เข้าศึกษาแพทย์ นอกจากผลการเรียนจะดีเด่น เขายังสนใจด้านวัฒนธรรมและการรักษาสภาพศพ ในชั้นเรียนกายวิภาค ฮาเกนส์ได้เห็นตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เก็บไว้ในกล่องพลาสติก กระตุ้นให้เขาคิดสร้างสรรค์ที่จะใส่พลาสติกแทรกลงไปในเนื้อเยื่อโดยตรง แม้จะได้รับการทัดทานว่าเป็นไปไม่ได้
เขายังคงมุ่งมั่นในวิชาการนี้ และศึกษาค้นคว้าทำการทดลอง จนในปี 1977 เขาก็ประสบความสำเร็จในการอัดพลาสติกลงในไต นับเป็นการเริ่มต้นของการทำมัมมี่ยุคใหม่
ฮาเกนส์ ตั้งสำนักงานขึ้นที่เมืองกูบิน (Gubin), เยอรมัน ใกล้เขตแดนโปแลนด์ ชั้นล่างเป็นโกดังเก็บศพกว้างขวาง 8,200 ตารางฟุต ตัวเขาพำนักอยู่ชั้นบนสุด และสถานที่นี้เองได้แปรสภาพซากศพจำนวนมากมายให้กลายเป็นปฏิมากรรม ส่งออกไปยังพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก
ถึงขณะนี้ ฮาเกนส์ทำมัมมี่พลาสติกไปแล้วกว่า 500 ศพ และยังมีอีกเยอะที่เก็บไว้ภายใต้อุณหภูมิต่ำ เขาดอกศพเหล่านี้ไว้ในอ่างน้ำยาอาซีโทน (acetone) เป็นเวลา 2 เดือน จากนั้นให้เทคนิคอัดซิลิโคนเข้าไปในทุกเซลล์ของศพ นั่นคือขับฟองอากาศให้หลุดลอยออกมาก่อน ภายในเซลล์จึงเป็นสุญญากาศ (vacuum) สารโพลิเมอร์พลาสติกหรือซิลิโคนจึงเข้าไปแทนที่ เป็นทริคที่ไม่ยากที่ฮาเกนส์ค้นพบและใช้ต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปีแล้ว
การทำมัมมี่พลาสติกของฮาเกนส์มี 2 รูปแบบ อย่างแรกคือทำมัมมี่ทั้งตัว ซึ่งจะใช้เวลาทำ 15 ชั่วโมงจึงจะเสร็จสมบูรณ์ และอย่างที่สองคือ การรักษาสภาพเซลล์โดยเฉือนออกเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วติดแปะไว้ คล้าย ๆ การทำกระจกหลายสี (stained glass) โดยแรกเริ่มจะใช้ความเย็นราว 94 องศาฟาเรนไฮ ทำให้ศพเยือกแข็ง แล้วแล่ออกด้วยความแม่นยำให้ได้ความบาง 1 ส่วน 4 นิ้ว จากนั้นใช้อีพ็อกซิเรซินอย่างใสเคลือบไว้ แล้วจึงบ่มด้วยรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นขั้นสุดท้าย
[ประติมากรรมที่สร้างจากศพของคนจริง ๆ...]
ทั้ง 2 รูปแบบนี้จะเก็บรักษาสภาพศพไว้ได้นานกว่า 10,000 ปี ถือว่าเหนือชั้นกว่าการทำมัมมี่ของอียิปต์หลายเท่า ยิ่งกว่านั้น ผิวหนังของศพยังสดใส ไม่เหี่ยวย่น มองแล้วเหมือนยังมีชีวิจอยู่ ซึ่งในการแสดงนิทรรศการครั้งแรกปี 1983 นั้น ผู้ชมต่างก็หวาดกลัวไปตาม ๆ กัน กล่าวว่าดูแล้วเหมือนยิ่งกว่าคนเป็น ๆ เสียอีก โดยมัมมี่ของฮาเกนส์จะวางท่าอยู่ในลักษณะเป็นธรรมชาติเหมือนรูปประติมากรรมอิตาเลียน
ความนิยมทำมัมมี่พลาสติกพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว นิทรรศการของฮาเกนส์ที่ใช้ชื่อว่า “Body Worlds” มีผู้เข้าชมแล้วถึง 25 ล้านคน และมีผู้จองทำประติมากรรมศพรอคอยอยู่ถึง 8,000 ราย
ไอแสค อาศิระ เขียน
ขอบคุณภาพจาก http://www.zimbio.com/ ค่ะ
อ่านจบดูเรื่อง "ANATOMIE จับคนมาเป็นศพ" ต่อเลยนะคะ จะได้เห็นภาพ อิอิ
ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~