วิกฤตอุทกภัยหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือ อีสาน กลาง และคาดว่าจะไล่ลุกลามเข้าสู่ภาคใต้ด้วยอิทธิพลของพายุต่างๆ
คนไทยต้องตั้งรับ รับมือ สู้กับมหาภัยน้ำท่วมครั้งนี้อย่างไร ข้อมูลจาก "คู่มือรับสถานการณ์น้ำท่วม" ซึ่งจัดทำโดยหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความรู้เอาไว้ดังนี้
เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่น้ำท่วม โดยทางรัฐและหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องกระทำการป้องกันและฟื้นฟู ระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญก่อน อาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนได้อย่างทันที ดังนั้น ประชา ชนจึงควรมีความพร้อมในการเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อป้องกัน และบรรเทาภัยที่จะเกิดขึ้นได้
l การเตรียมการก่อนน้ำท่วม
การป้องกันตัวเองและความเสียหายจากน้ำท่วม ควรเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพราะหากรอให้เตือนภัยเวลามักไม่เพียงพอ รู้จักกับภัยน้ำท่วมของคุณ สอบถามหน่วยงานที่มีการจัดการด้านน้ำท่วม ด้วยคำถามดังต่อไปนี้
- ภายในละแวกใกล้เคียงในรอบหลายปี เคยเกิดน้ำท่วมสูงที่สุดเท่าไร
- เราสามารถคาดคะเนความเร็วน้ำหรือโคลนได้หรือไม่
- เราจะได้รับการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่น้ำจะมาถึงเป็นเวลาเท่าไหร่
- เราจะได้รับการเตือนภัยอย่างไร
- ถนนเส้นใดบ้างในละแวกนี้ที่จะถูกน้ำท่วมหรือจะมีสิ่งกีดขวาง
l การทำแผนรับมือน้ำท่วม
การจัดทำแผนรับมือน้ำท่วม จะช่วยให้คุณนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่จะต้องทำหลังได้รับการเตือนภัยเดินสำรวจทั่วทั้งบ้านด้วยคำแนะนำที่กล่าวมา พร้อมทั้งจดบันทึกด้วยว่าจะจัดการคำแนะนำอย่างไร ในช่วงเวลาที่ทุกๆ คนเร่งรีบและตื่นเต้นเนื่องจากภัยคุกคาม สิ่งที่สำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือ หมายเลขโทรศัพท์ต่างๆ ที่สำคัญไว้ในแผนด้วย
l ถ้าคุณมีเวลาเล็กน้อยหลังการเตือนภัย สิ่งที่ต้องทำและมีในแผน คือ
- หาทางรับสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉิน และข้อมูลจากสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ที่รายงานสถานการณ์
- จัดทำรายชื่อสถานที่ 2 แห่งที่สมาชิกในครอบครัวสามารถพบกันได้หลังจากพลัดหลงโดยสถานที่แรกให้อยู่ใกล้บริเวณบ้านและอีกสถานที่อยู่นอกพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงระดับการเตือนภัยน้ำท่วม
l สิ่งที่ควรทำหลังจากได้รับการเตือนภัยจากหน่วยงานด้านเตือนภัยน้ำท่วม
1.ติดตามการประกาศเตือนภัยจากสถานีวิทยุท้องถิ่น โทรทัศน์หรือรถแจ้งข่าว
2.ถ้ามีการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและคุณอยู่ในพื้นที่หุบเขาให้ปฏิบัติดังนี้
- ปีนขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
- อย่าพยายามนำสัมภาระติดตัวไปมากเกินไป ให้คิดว่าชีวิตสำคัญที่สุด
- อย่าพยายามวิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำหลาก
3.ดำเนินการตามแผนรับมือน้ำท่วมที่ได้วางแผนไว้แล้ว
4.ถ้ามีการเตือนภัยการเฝ้าระวังน้ำท่วมจะยังมีเวลาในการเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม
5.ถ้ามีการเตือนภัยน้ำท่วมและคุณอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง ควรปฏิบัติดังนี้
- ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแก๊สถ้าจำเป็น
- อุดปิดช่องน้ำทิ้งอ่างล้างจาน
- ปิดพื้นที่ห้องน้ำและสุขภัณฑ์ที่น้ำสามารถไหลเข้าบ้าน
- ล็อกประตูบ้านและอพยพขึ้นที่สูง
- ถ้าไม่มีที่ปลอดภัยบนที่สูง ให้ฟังข้อมูลจากวิทยุหรือโทรทัศน์เกี่ยวกับสถานที่หลบภัยของหน่วยงาน
6.หากบ้านพักอาศัยของคุณไม่ได้อยู่ในที่น้ำท่วมถึง แต่อาจมีน้ำท่วมในห้องใต้ดิน
- ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องใต้ดิน
- ปิดแก๊สหากคาดว่าน้ำจะท่วมเตาแก๊ส
- เคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นข้างบน
- ห้ามอยู่ในห้องใต้ดิน เมื่อมีน้ำท่วมถึงบ้าน
l น้ำท่วมฉับพลันคือ น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากในบริเวณที่ลุ่มต่ำ ในแม่น้ำ ลำธารหรือร่องน้ำที่เกิดจากฝนที่ตกหนักมากติดต่อกันหรือจากพายุฝนที่เกิดซ้ำหลายครั้ง น้ำป่าอาจเกิดจากที่สิ่งปลูกสร้างโดยมนุษย์ เช่น เขื่อนหรือฝายพังทลาย
- ถ้าได้ยินการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันให้วิ่งไปบนที่สูงทันที
- ออกจากรถและที่อยู่ คิดอย่างเดียวว่าต้องหนี
- อย่าพยายามขับรถหรือวิ่งย้อนกลับไปทางที่ถูกน้ำท่วม
l ปลอดภัยไว้ก่อนเมื่ออยู่นอกบ้าน
- ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหล
มีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตจากจมน้ำตายในขณะที่น้ำกำลังมา ความสูงของน้ำแค่ 15 ซ.ม. ก็ทำให้เสียหลักล้มได้ ดังนั้น ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินผ่านที่น้ำไหลให้ลองนำไม้จุ่มเพื่อวัดระดับน้ำก่อนทุกครั้ง
- ห้ามขับรถในพื้นที่ที่กำลังโดนน้ำท่วม
การขับรถในพื้นที่ที่น้ำท่วมมีความเสี่ยงสูงมากที่จะจมน้ำ หากเห็นป้ายเตือนตามเส้นทางต่างๆ ห้ามขับรถเข้าไปเพราะอาจมีอันตรายข้างหน้า น้ำสูง 50 ซ.ม. พัดรถยนต์ จักรยานยนต์ให้ลอยได้
- ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ
กระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งผ่านได้ เมื่อเกิดน้ำท่วมแต่ละครั้งจะมีผู้เสียชีวิต เนื่องจากไฟดูดมากกว่าสาเหตุอื่นๆ เมื่อเห็นสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดเสียหายกรุณาแจ้ง 191 หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
l หลังน้ำท่วมผ่านพ้น
3 ขั้นตอนที่ควรทำในวันแรกๆ หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม
ขั้นตอนที่ 1 : เอาใจใส่ตัวเอง
หลังผ่านเหตุการณ์น้ำท่วม คุณและครอบ ครัวอาจเกิดความซึมเศร้า และต้องใช้เวลากลับสู่ภาวะปกติ อย่าลืมว่าเหตุการณ์น้ำท่วมนั้นอาคารบ้านเรือน ได้รับความเสียหาย คุณต้องดูแลตัวเองและครอบครัว พร้อมกับการบูรณะบ้านให้กลับมาเหมือนเดิม อุปสรรคที่สำคัญคือ ความเครียด รวมทั้งปัญหาอื่น เช่น นอนหลับยาก ฝันร้ายและปัญหาทางกาย โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งคุณและครอบครัวควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
1.ให้เวลากับครอบครัวเพราะความอบอุ่นในครอบครัวอาจช่วยเยียวยารักษาได้ดี
2.พูดคุยปัญหากับเพื่อนและครอบครัว ร่วมแบ่งปันความกังวลจะช่วยให้ได้ระบายและผ่อนคลายความเครียด
3.พักผ่อนและกินอาหารที่เป็นประโยชน์ เพราะมีปัญหาทั้งความเครียดและทางกายเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอ
4.จัดลำดับสิ่งที่จำเป็น ต้องทำตามลำดับก่อนหลังและค่อยๆ ทำ
5.ขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์เมื่อเกิดอาการซึมเศร้าจนที่จะรับมือได้
6.ดูแลเด็กๆ ให้ดี และโปรดเข้าใจเด็กมีความตื่นกลัวไม่แพ้กัน และอย่าตำหนิเด็กที่มีพฤติกรรมแปลกๆ หลังจากน้ำท่วม เช่น ฉี่รดที่นอน ดูดนิ้วโป้งหรือเกาะคุณอยู่ตลอดเวลา จำไว้ว่าเด็กเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่รุนแรงในชีวิต
7.ระวังเรื่องสุขอนามัย เมื่ออยู่ในพื้นที่เคยน้ำท่วม
ขั้นตอนที่ 2 : การจัดการดูแลบ้านของคุณ
ที่ผ่านมามีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตเนื่องจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่เกิดจากถูกไฟดูด หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากน้ำลด สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อกลับบ้านคือ การตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนเข้าบูรณะและอยู่อาศัย โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.ปรับจูนคลื่นวิทยุโทรทัศน์ ฟังรายงานสถานการณ์
2.ติดต่อบริษัทประกันภัย เพื่อตรวจสอบความเสียหาย และซ่อมแซมทรัพย์สินต่างๆ
3.เดินตรวจตรารอบๆ บ้าน และเช็กสายไฟฟ้า สายถังแก๊ส ถ้าหากเกิดแก๊สรั่วจะสามารถรู้ได้จากกลิ่นแก๊สให้ระวังและรีบโทร.แจ้งร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่าย
4.ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้าง ตัวบ้าน ระเบียง หลังคา ให้แน่ใจว่าโครงสร้างทุกอย่างปลอดภัย
5.ตัดระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้าบ้าน
6.ปิดวาล์วแก๊สให้สนิท หากได้กลิ่นแก๊สรั่วไม่ควรเข้าใกล้บริเวณนั้น
7.เข้าไปในบ้านอย่างระมัดระวัง และอย่าใช้วัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟ
8.ถ่ายรูปความเสียหาย เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากประกัน (ถ้ามี)
9.เก็บกู้สิ่งของที่มีค่า และห่อหุ้มรูปภาพหรือเอกสารสำคัญ
10.เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน เปิดหน้าต่างและประตู เพื่อระบายอากาศ และตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งก่อสร้างต่างๆ
11.ซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหาย
12.เก็บกวาดกิ่งไม้ หรือสิ่งปฏิกูลในบ้าน
13.ตรวจหารอยแตกหรือรั่วของท่อน้ำ ถ้าพบให้ปิดวาล์วตรงมิเตอร์น้ำ ไม่ควรดื่มและประกอบอาหารด้วยน้ำจากก๊อกน้ำ จนกว่าจะรู้ว่าสะอาดและปลอดภัย
14.ระบายน้ำออกจากห้องใต้ดินอย่างช้าๆ เนื่องจากแรงดันน้ำภายนอกอาจจะมากจนทำให้เกิดรอยแตกของผนัง หรือพื้นห้องใต้ดิน
15.กำจัดตะกอนที่มาจากน้ำ เนื่องจากเชื้อโรคส่วนมากมักจะมาจากตะกอน
l การรับมือเหตุน้ำท่วมครั้งต่อไป
1.คาดคะเนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของคุณเมื่อเกิดน้ำท่วม
2.ทำความคุ้นเคยกับระบบการเตือนภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนการอพยพ
3.เรียนรู้เส้นทางการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด จากบ้านไปยังที่สูงหรือพื้นที่ปลอดภัย
4.เตรียมเครื่องมือรับวิทยุแบบพกพา อุปกรณ์ทำอาหารฉุกเฉินแหล่งอาหารและไฟฉาย รวมทั้งแบตเตอรี่สำรอง
5.ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม ควรจะเตรียมวัสดุ เช่น กระสอบทราย แผ่นพลาสติก ไม้แผ่น ตะปู กาวซิลิโคน เพื่อใช้ป้องกันบ้านเรือน และควรทราบแหล่งวัตถุที่จะนำมาใช้
6.นำรถยนต์และพาหนะไปเก็บไว้ในพื้นที่ ซึ่งน้ำท่วมไมถึง
7.ปรึกษาและทำข้อตกลงกับบริษัทประกันภัย เกี่ยวกับการประกันความเสียหาย
8.บันทึกหมายเลขโทรศัพท์สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและเก็บไว้ตามที่จำง่าย
9.รวบรวมของใช้จำเป็นและเสบียงอาหารที่ต้องการใช้ ภายหลังน้ำท่วมไว้ในที่ปลอดภัยและสูงกว่าระดับที่คาดว่าน้ำจะท่วมถึง
10.ทำบันทึกรายการทรัพย์สินมีค่าทั้งหมด ถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน
11.เก็บบันทึกรายการทรัพย์สิน เอกสารสำคัญและของมีค่าอื่นๆ ในสถานที่ปลอดภัยห่างจากบ้านหรือห่างไกลจากที่น้ำท่วมถึง เช่น ตู้เซฟที่ธนาคาร หรือไปรษณีย์
12.ทำแผนการรับมือน้ำท่วม และถ่ายเอกสารเก็บไว้เป็นหลักฐานที่สังเกตได้ง่าย และติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมที่เหมาะสมกับบ้านของคุณ
13.ถ้าคุณคือพ่อแม่ ซักซ้อมและให้ข้อมูลแก่บุตรหลานของคุณ ขณะเกิดน้ำท่วม เช่น ไม่สัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำและอยู่ใกล้เส้นทางน้ำ