112 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 : ย้อนอดีตมองดูปัจจุบัน
มติชน
ปีนี้เป็นปีที่ครบ 112 ปี ของวิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่เรียกว่า"วิกฤตการณ์ ร.ศ.112" และในวันที่ 3 เดือนตุลาคมของปีนั้น(ร.ศ.112/ พ.ศ.2436) ได้เกิดข้อตกลงที่เรียกว่า "สนธิสัญญาสันติภาพ"
ประเด็นสำคัญของสนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดให้ 1.สยามต้องจ่ายค่าเสียหายที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 3 ล้านฟรังก์ 2.สยามยกพื้นที่ประมาณ 40,000-50,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส 3.ฝรั่งเศสยึดเอาจันทบุรีกับตราดไปไว้ในอารักขาอีกนานกว่า 10 ปี (พ.ศ.2436-2447)
*สยามบนปากเหว*
ด้วยมูลค่าความเสียหายที่นับเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล บวกกับมูลค่าความเสียหายทางสังคม ทางจิตวิญญาณ เหตุการณ์ที่ผ่านมาร้อยกว่าปี จึงยังคงเป็นกรณีศึกษาคลาสสิคที่ควรแก่การศึกษา "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนตุลาคม 2548 จึงนำบทความ "112 ปีวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 สยามกำสรวล ฝรั่งเศสกำทรัพย์" ของ *วิลาส นิรันดร์สุขศิริ* ขึ้นปกเป็นเรื่องสำคัญ
โดยนำเสนอบริบทข้างเคียงของเหตุการณ์ จากหนังสือที่บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวและพิมพ์ขึ้นในยุคนั้น ซึ่งประกอบด้วย 1.Five years in Siam ของเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ 2.Siam in the Twentieth Century ของ เจ.จี.ดี แคมป์เบลล์ 3.Peoples and Politics of the Far East ของเฮนรี่ นอร์แมน 4.Blue Book หรือหนังสือปกน้ำเงิน(ประมวลจดหมายโต้ตอบของรัฐบาลอังกฤษในระหว่างวิกฤตการณ์) โดยนายสมิธ และนายแคมป์เบลล์นั้นทำงานกับรัฐบาลสยาม ส่วนนายนอร์แมนนั้นเป็นผู้สังเกตการณ์
ทรรศนะของนักเขียนต่างชาติทำให้ประมวลบริบทของสยามในเวลานั้นได้ว่า สยามอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเพียงใด ทั้งจากปัจจัยภายใน คือ ตัวรัฐสยามเอง และปัจจัยภายนอกจากประเทศที่(ดูเหมือน)เป็นมิตร และประเทศที่เป็นศัตรู ซึ่งพอสรุปได้ว่า
"ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นเหตุให้สยามจำต้องสูญเสียดินแดนในครั้งนี้ คือการขาดแผนที่ ซึ่งระบุเขตแดนของประเทศไว้อย่างชัดเจน...
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ผู้บันทึกหลายคนระบุไว้ว่า เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของสยาม คือวิธีการทูตที่ใช้ในครั้งนั้นดังเช่นข้อความในโทรเลขที่ มาร์คีส์แห่งดัฟเฟอริน(ทูตอังกฤษประจำกรุงปารีส) ส่งถึง เอิร์ลแห่งโรสเบอรี(รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ประเทศอังกฤษ) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม ความว่า
"ผมสังเกตเห็นว่า ฝ่ายสยามขาดความช่ำชองในการใช้ภาษาอันแยบยลทางการทูตอย่างชาวยุโรป" ข้อความนี้ตรงกับความเห็นของนายสมิธที่ว่า "ท่าทีและภาษาที่ฝ่ายสยามใช้ตอบข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสนั้น ปั้นปึ่งถือดีเกินขีดการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีจนเกินไป และทำให้ฝ่ายศัตรูโกรธ"...ข้อเสียอย่างหนึ่งของฝ่ายสยามคือ "ความรู้สึกต่อต้านอิทธิพลของยุโรปในสยามที่รุนแรงเกินไป"
*เครื่องมือฝรั่งในกองกำลังสยาม*
นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว กองกำลังสยาม ณ เวลานั้น คือปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า ศักยภาพของกองทัพสยามมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำสูง *จอร์จ นาธาเนียล เคอร์ซอน*ข้าราชการชาวอังกฤษผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงประจำประเทศอินเดีย กล่าวถึงกองทหารของสยามว่า"แม้ในภาวะที่สยามระดมกำลังทหารเกณฑ์ไว้อย่างเต็มที่ก็ตาม...นโยบายป้องกันประเทศของสยามควรเป็นไปเพื่อให้มีกำลังเพียงพอที่จะรักษาพรมแดนและรักษาความสงบสุขภายใน และหันไปพึ่งพากำลังต่างประเทศเมื่อเกิดภาวะสงครามขึ้นจริงๆ"
ขณะที่นายนอร์แมนแสดงความเห็นถึงกองกำลังสยามว่า "โรงเรียนนายทหารที่มีอาคารและการจัดการอันน่าเกรงขาม มีครูฝึกชาวยุโรปสี่หรือห้านายที่มีอำนาจจำกัด เด็กหนุ่มชาวสยามได้พักอาศัยอย่างสะดวกสบาย ได้รับการเลี้ยงดู และรับเงินเดือน เดือนละ 30 ชิลลิ่ง เพื่อให้สวมเครื่องแบบและเล่นในโรงเรียนที่ไม่มีการฝึกอบรมใดๆ...สยามรับวิธีการของฝรั่งมา โดยไม่เอาจิตวิญญาณของฝรั่งติดมาด้วย...จริงๆ แล้ว ไม่มีคำว่า "วินัย" ในภาษาสยาม"
ส่วนนายสมิธเล่าถึงความสามารถของทหารที่ประจำบนเรือรบของสยามว่า "เป็นทหารที่เพิ่งเกณฑ์มาจากท้องนา นอกจากผู้บัญชาการบนเรือรบแล้ว ก็ไม่มีใครอื่นที่รู้วิธียิงปืนรบ...นายทหารสามนายที่รักษาการณ์อยู่ก็มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่พูดภาษาสยามได้ อีกสองนายเป็นชาวเดนมาร์กจากกรมแผนที่ และเพิ่งเดินทางเข้ามายังสยามได้ไม่นาน รวมทั้งเป็นอาสาสมัครที่พูดภาษาสยามไม่ได้แม้แต่คำเดียว ในระหว่างการต่อสู้กันนั้น นายทหารเหล่านี้วิ่งจนหอบไปที่ปืนแต่ละกระบอกสลับกัน...พร้อมทั้งออกคำสั่งเป็นภาษาที่ทหารชาวสยามฟังไม่เข้าใจ"
อย่างไรก็ตาม กองกำลังสยามในเวลานั้นก็ไม่ถึงกับสิ้นเขี้ยวเล็บซะทีเดียว "เรือพระที่นั่งมหาจักรี" ซึ่งเรือลาดตระเวนติดปืนอาร์มสตรอง พร้อมระวางขับน้ำ 2,400 ตัน ความเร็ว 15 น็อต ปืนขนาด 4.7 หอต่อสู้ 2 หอ และหัวเรือที่ใช้ชนได้ ระวางขับน้ำของเรือลำนี้สูงกว่าเรือทั้งสามของฝรั่งเศสรวมกันถึง 600 ตัน เรือที่มีสมรรถนะสูงลำนี้กลับไม่ได้ร่วมสมรภูมิรบ ซึ่งนายนอร์แมนกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า
"คำตอบนั้นง่ายและเจ็บปวด รวมทั้งเป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่า เรือพระที่นั่งมหาจักรีจอดอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง ภายใต้คำสั่งที่เข้มงวดไม่ให้เคลื่อนย้าย ยกเว้นเมื่อจำเป็นต้องใช้เป็นพาหนะให้พระเจ้าอยู่หัว...
แต่ถึงจะมีความตั้งใจใช้เรือลำนี้ก็ตาม คงเป็นไปได้ยาก ข้าพเจ้าเชื่อว่า ตั้งแต่เรือลำนี้มาถึงสยาม ยังไม่มีการลองยิงปืนเลย ไม่มีใครในราชอาณาจักรนี้ ยกเว้นนายทหารชาวเดนมาร์ก 2 หรือ 3 นายเท่านั้นที่รู้วิธีใช้ กระสุนปืนถูกขนขึ้นเรือเป็นครั้งแรกเพียง 2-3 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุที่ปากน้ำ นอกจากนั้นเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่และยุ่งยาก ก็ต้องอาศัยวิศวกรชาวอังกฤษควบคุม ไม่มีชาวสยามคนใดรู้วิธีจัดการกับเครื่องยนต์นี้แม้แต่คนเดียว ส่วนคนในอารักขาของอังกฤษก็ไม่สามารถยื่นมือเข้าช่วยได้"
*ขุนนาง-ราชสำนักสยาม*
นายนอร์แมนยังกล่าวถึงเสถียรภาพของเหล่าเสนาบดีเวลานั้นว่า "การประชุมของเหล่าเสนาบดีมีสภาพคล้ายกับการทะเลาะกันในร้านเหล้า...เหล่าเสนาบดีไม่มีการทำงานที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว หรือแนวคิดและนโยบาย เมื่อคราวเกิดวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) ข้าราชการในคณะรัฐบาลสยามขณะนั้นมีความคิดเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย...
ปัจจัยภายในอีกอย่างที่พึ่งพาไม่ได้คือ ที่ปรึกษาทั่วไป เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือโรแลง ยัคมินส์ ที่นายนอร์แมนวิจารณ์ว่า"มองซิเออร์ยัคมินส์ ในฐานะที่เป็นนักทฤษฎี ไม่ได้วิตกถึงรายละเอียดในทางปฏิบัติอันแท้จริงของกองทหารที่ไร้วินัยและทหารเรือหลอกๆ ถ้ากฎหมายระหว่างประเทศระบุว่าพลเมืองมีสิทธิต่อดินแดนของตน ก็เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านว่า สยามต้องระลึกถึงและยืนยันสิทธิเหล่านี้
ซึ่งสยามก็รับฟังท่านด้วยความชื่นชม และตอบสนองด้วยความกระตือรือร้น แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ความเป็นธรรมแก่ท่านด้วยการกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ท่านไม่ได้รับแจ้งให้ทราบถึงสภาพที่แท้จริงของกองกำลังของสยามตลอดจนวิธีการอื่นๆ ในการป้องกันประเทศ ดังนั้น ผลลัพธ์จากคำแนะนำของท่านจึงทำให้ท่านรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง ดังที่เห็นได้ในวันที่ 14 กรกฎาคม เมื่อท่านพบว่า เรือปืนขนาดเล็กทำด้วยไม้ 2 ลำของฝรั่งเศส ได้แล่นเข้ามาถึงบางกอกได้อย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่ท่านได้รับการยืนยันว่า เรือรบของสยามจะยิงเรือฝรั่งเศสจนเป็นจุณ"
*อำนาจคือเหตุผล*
หรือเหตุผลรัฐบาลฝรั่งเศสส่งเรือปืนอีกสองลำเข้ามาสมทบเรือลูแตง ที่มองซิเออร์ปาวี ทูตฝรั่งเศสประจำบางกอก แจ้งกับฝ่ายไทยว่า "เพื่อคุ้มครองผู้คนและทรัพย์สินของฝรั่งเศสในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่แน่นอน" โดยอ้างว่า...รัฐบาลฝรั่งเศสเพียงแต่ปฏิบัติตามประเทศมหาอำนาจอื่นเท่านั้น
เหตุผลของฝรั่งเศสข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเลยทีเดียว...อังกฤษส่งเรือชื่อสวิฟต์เข้ามาจอดหน้าสถานทูตของตนภายหลังจากที่เรือลูแตงทอดสมอหน้าสถานทูตฝรั่งเศสแล้วหลายสัปดาห์ ฉะนั้นฝรั่งเศสจึงไม่ใช่ผู้ปฏิบัติตาม...บรรดาประชากรชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในบางกอก ซึ่งมีจำนวนประมาณ 600-700 คนนั้น เกินกว่าหนึ่งในสามเป็นชาวอังกฤษ
ส่วนชาวฝรั่งเศสนั้นมีจำนวนน้อยมาก และไม่มีอิทธิพลใดๆ ทางการค้า ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม มีชาวฝรั่งเศสอยู่นอกสถานทูตฝรั่งเศสเพียงสามคนเท่านั้น ตีความง่ายๆ คือ ฝรั่งเศสเป็นห่วงคนของตนมาก ถึงขนาดที่ต้องส่งเรือมาคุ้มครอง "หนึ่งลำต่อคน"
นอกจากนี้ ความจัดเจนในทีท่าข้าศึกของฝรั่งเศส และใช้มันเป็นประโยชน์ ฝรั่งเศสรู้อยู่แก่ใจเกี่ยวกับระบบการทำงาน "หลับกลางวัน ทำงานกลางคืน" ของสยาม
เจ้าพระยาอภัยราชาฯกล่าวไว้ในจดหมายที่เขียนถึงลูกชายเกี่ยวกับโทรเลขที่ฝรั่งเศสส่งมาไว้ว่า "ลูกอาจถามพ่อว่า ถ้าเราได้รับโทรเลขฉบับนั้นเวลา 10.30 นาฬิกา ในตอนเช้าของวันที่ 13 แล้ว เหตุใดเราจึงไม่ติดต่อกับปาวีทันที โชคร้ายจริงที่เหตุผลเป็นเรื่องโง่เขลา ลูกก็ทราบนี่ว่า เสนาบดีสยามหลับตอนกลางวัน และทำงานตลอดจนประชุมกันในเวลากลางคืน เรื่องนี้ส่งผลให้เมื่อโทรเลขฉบับนั้นมาถึง จึงได้แต่รอกันเงียบๆ โดยไม่บอกให้พ่อรู้ด้วยซ้ำ จนกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ทรงตื่นจากบรรทม ซึ่งพระองค์ทรงตื่นขึ้นตอนที่มีคนได้ยินเสียงยิงปืนใหญ่ที่ปากน้ำนั่น"
สุดท้ายคือ บทบาทของพันธมิตรในยามยากอย่างอังกฤษ ในระยะแรกๆ รัฐบาลอังกฤษอาจมีท่าทีว่าจะช่วยเหลืออยู่บ้าง ก่อนจะผันมาเป็นฝ่ายตะล่อมให้สยามยอมจำนนต่อคำขาดของฝรั่งเศส นายนอร์แมนกล่าวถึงคำปรึกษาที่ลอร์ดโรสเบอรี่บอกผ่านกัปตันโจนส์ ทูตอังกฤษ มายังกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ความว่า
"เนื้อหาของคำปรึกษาที่ข้าพเจ้าได้ให้แก่รัฐบาลสยามอย่างสม่ำเสมอตลอดมาเป็นไปในทำนองให้หาทางปรองดองกับฝรั่งเศสโดยเร็ว เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะหันเหไปจากทรรศนะดังกล่าวในขณะนี้...แนวโน้มในข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสมีแต่จะเพิ่มขึ้น และอย่างรวดเร็ว ถ้าสยามยังคงยืนกรานปฏิเสธต่อเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำขาดนั้น"
วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 สั่นคลอนความเชื่อมั่นของคนไทย สั่นคลอนความเป็นสถาบันต่างๆ สยามตระหนักในความสามารถของตนเอง และซึมซับรับทราบกับบทบาทของมหาอำนาจทั้งหลาย หลังเหตุการณ์ดังกล่าวจึงติดตามด้วยการแก้ไข ปรับปรุงบ้านเมืองผู้คนครั้งใหญ่
ดูเหมือนสายลมตะวันตกกำลังพัดโหมแรงมาอีกครั้ง พัดพาเงื่อนไขทางการค้า( FTA-Free Trade Area, GATT-General Agreement on Tariffs and Trade, GSP-Generalized System of Preferences) พร้อมกับมหาอำนาจในศตวรรษที่ 21 (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, สหภาพยุโรป, องค์การสหประชาชาติ ฯลฯ) มาแทนกองกำลัง หากพิจารณาสถานการณ์วันนี้กับเหตุการณ์เมื่อ 112 ปี จึงพอสรุปได้ว่า
"The new thing is history that you don't know."