บอกต่อ ๆ กัน อย่าจอดรถหนีน้ำบนสะพาน-ทางด่วน





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านสายตาชาวกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลนานนับเดือน ทำให้ชาวเมืองตื่นตัวอยู่ไม่น้อย ยิ่งหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาประกาศเตือนให้พื้นที่จุดเสี่ยในกรุงเทพมหา นคร และปริมณฑล เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ก็ยิ่งทำให้หลายคนหวาดผวากลัวว่า บ้านของตัวเองจะจมน้ำในคราวนี้

          และทันทีที่สนามบินดอนเมือง ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งสถานที่หลายแห่ง ประกาศเปิดพื้นที่ให้รถยนต์ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมาจอดหนีน้ำได้ คนจำนวนมากต่างพากันนำรถไปจอดยังจุดที่เปิดพื้นที่ให้ ซึ่งในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ที่จอดรถนับพันคัน หมื่นคัน ก็เต็มทั้งหมด และทำให้รถยนต์อีกจำนวนมากยังไม่สามารถหาที่จอดหนีน้ำท่วมได้

          ด้วยความตื่นตระหนกของเจ้าของรถ พวกเขาจึงพากันนำรถไปจอดกันในที่ที่ไม่สมควรจอด ไม่ว่าจะเป็นบนสะพานข้ามแยก สะพานกลับรถเกือกม้า แม้กระทั่งบนทางด่วนที่หลายคนคิดว่า นี่เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยจากน้ำที่สุด แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม!!!

          ล่า สุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ออกมาประกาศห้ามจอดรถยนต์บนทางพิเศษ หรือทางด่วนทุกสายแล้ว โดยหากพบรถฝ่าฝืนจอด จะทำการเคลื่อนย้ายออกทันที เนื่องจากทางดังกล่าวจะใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง วัสดุ อุปกรณ์ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามจุดต่าง ๆ

          พูดง่าย ๆ ก็คือ หากสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครเข้าขั้นวิกฤต ถนนด้านล่างคงถูกน้ำท่วมเสียหายไม่สามารถสัญจรได้ ทางด่วนจึงเป็นทางหลักที่จะใช้ในการลำเลียงสิ่งของ และความช่วยเหลือต่าง ๆ ไปถึงมือผู้ประสบภัย แต่หากมีการนำรถยนต์มาจอดกีดขวางเส้นทาง การจราจรจะเป็นอัมพาตไปทั่วเมือง การขนส่งทุกอย่างต้องหยุดชะงัก หรือทำให้ความช่วยเหลือไปถึงได้อย่างล่าช้านั่นเอง

          อย่างเช่นกรณีที่ชาวพระนครศรีอยุธยานำรถยนต์ไปจอดหนีน้ำบนสะพานปรีดีธำรงค์ แทบจะเต็มทุกช่องทาง ส่งผลให้รถที่ลำเลียงถุงยังชีพ เรือ และความช่วยเหลือต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าไปยังจุดที่ต้องการได้ เพราะมีรถยนต์กีดขวาง สุดท้ายแล้ว ทางการจึงต้องสั่งยกรถลงจากสะพานปรีดีธำรงค์ไปจอดไว้ที่อื่นแทน เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าไปถึงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันไม่ให้สะพานพังลงมา เพราะแบกรับน้ำหนักที่มากเกินไปเป็นเวลานานนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กทพ.จะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ไปจอดบนทางด่วน แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทาง กทพ. จึงได้จัดจุดจอดรถใต้ทางด่วนเพิ่มเติมให้อีกจำนวน 9 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับรถได้ 2,900 คัน ประกอบด้วย

          1. ใต้ทางด่วนด่านฯ งามวงศ์วาน จำนวน 200 คัน
          2. ใต้ทางด่วนด่านฯ รัชดาภิเษก จำนวน 100 คัน
          3. ลานกีฬาใต้ทางด่วนหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวน 200 คัน
          4. ที่จอดรถใต้ทางด่วนด่านฯ อโศก 1 จำนวน 300 คัน
          5. ใต้ต่างระดับวัชรพล ถนนรามอินทรา (ฝั่งเหนือ) จำนวน 200 คัน
          6. ใต้ทางด่วนรามอินทรา ตั้งแต่จุดกลับรถ จำนวน 1,000 คัน ติดถนนรามอินทราถึงแนวคลอง
          7. ใต้ทางด่วนด่านฯ พระราม 9-1 จำนวน 500 คัน (ศูนย์ฝึกกู้ภัย ศูนย์ควบคุมทางพิเศษฉลองรัช)
          8. ใต้ทางด่วนสาธุประดิษฐ์ จำนวน 100 คัน
          9. ใต้สะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี จำนวน 300 คัน

          สำหรับผู้ประสบอุทกภัยที่ต้องการนำรถไปจอด สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ประสานงานการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบ อุทกภัยของ กทพ. โทร. 1543 (EXAT Call Center) ตลอด 24 ชั่วโมง

          เช่นเดียวกับบนสะพานข้ามแยก สะพานกลับรถเกือกม้า ที่มีผู้นำรถยนต์ไปจอดเป็นจำนวนมาก ล่าสุด ตำรวจจราจรนครบาลออกประกาศห้ามจอดรถ บริเวณทางด่วนพิเศษฯ ทางยกระดับ จุดกลับรถ สะพานข้ามแยก สะพานข้ามแม่น้ำ สะพานข้ามคลอง สะพานกลับรถ ทั้งหมดแล้ว เนื่องจากเป็นการกีดขวางเส้นทางการจราจร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมจุดจอดรถฉุกเฉินไว้ให้จำนวน 109 จุด รองรับรถได้ 69,959 คัน สามารถตรวจสอบได้ที่ trafficpolice.go.th  หรือ โทร.1197

          ขณะเดียวกัน ยังมีจุดอื่น ๆ ที่ไม่ควรนำรถยนต์ไปจอด ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหน้าโรงพยาบาล หน้าสถานีดับเพลิง หรือบริเวณท่อสูบน้ำดับเพลิง เป็นต้น เพื่อที่ว่าเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้น รถยนต์จะได้ไม่กีดขวางเส้นทางจราจรที่จะทำให้การช่วยเหลือเข้าไปถึงอย่างล่า ช้าจนไม่ทันการนั่นเอง

          ทราบแล้วกระจายข่าวบอกต่อกันด้วยค่ะ เพราะหากเกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้นมาจริง ๆ อย่างน้อย...ก็อย่าให้รถของคุณ ไปสร้างความเดือดร้อนเพิ่มเติมให้กับคนที่กำลังรอรับความช่วยเหลือจริง ๆ เลยนะคะ

Credit: kapook.com
#น้ำท่วม #จอดรถ
xkolalax
ช่างเทคนิค
สมาชิก VIP
13 ต.ค. 54 เวลา 22:52 4,424 5 150
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...