Apple + Nike = รองเท้าอัจฉริยะ
เมื่อสองยักษ์ระดับโลกที่อยู่คนละวงการมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว อะไรจะเกิดขึ้น...ที่สำคัญการรวมตัวครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการเชื่อมเครือข่ายทางสังคมอย่างชาญฉลาด
ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ เทรเวอร์ เอ็ดเวิร์ด หัวหน้าฝ่ายการตลาดของไนกี้ได้นำผู้จัดการจากหลายๆ ฝ่ายตั้งแต่ฝ่ายเครื่องแต่งกาย ฝ่ายเทคโนโลยี ฝ่ายวิจัย ฝ่ายออกแบบรองเท้าและเพลง มาทำงานร่วมกันโดยใช้เทคโนโลยีของแอ็บเปิ้ล “ทีมที่ดีที่สุดจะทำงานโดยไม่มีขอบเขต” ไมเคิล โดนาฮิว ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมรองเท้าของไนกี้กล่าว “เราไม่มีขีดจำกัดสำหรับการทำงาน มันเป็นอะไรที่มากกว่าไอเดีย”
ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จะเปลี่ยนแปลงวิธีการวิ่งโดยสิ้นเชิงนี่คือความเห็นของ แม็ท พาวเวล นักวิเคราะห์จาก SportScanInfo บริษัทที่วิจัยเกี่ยวกับรองเท้ารุ่นดังกล่าว โดยเขากล่าวว่า “Nike Plus ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มุ่งหวังเพียงการปรับปรุงกลไกที่จะลดการกระแทกของรองเท้าเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้นักวิ่งมีประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับการวิ่ง และมุ่งเน้นที่การสร้างสรรค์สังคมอีกด้วย”
ความจริงแล้วชุดเครื่องมือไอพ็อดของ Nike Plus มีราคาเพียง 29 เหรียญ วางจำหน่ายแล้วเมื่อกลางปี 2006 โดยอุปกรณ์ชุดนี้จะช่วยให้นักวิ่งแทรกอุปกรณ์ส่งสัญญาณไว้ที่พื้นรองเท้า Nike Plus ที่มีราคาคู่ละ 100 เหรียญ ชุดเครื่องมือนี้จะรวมไปถึงเครื่องรับสัญญาณขนาดเล็กที่ติดมากับอุปกรณ์ไอพ็อดนาโน มีความสามารถในการวัดสมรรถภาพในการวิ่ง เช่น ความเร็ว ระยะทาง จำนวนแคลอรีที่ร่างกายเผาผลาญ โดยข้อมูลเหล่านี้จะแสดงที่หน้าจอขณะเปิดเครื่อง (หรือจะใช้ระบบเสียงก็ได้) นอกจากนี้ยังมีบริการเสริมที่เว็บไซต์ nikeplus.com ซึ่งผู้วิ่งสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบความเร็วหรือท้าทายกับนักวิ่งคนอื่นๆ ทั่วโลกในชุมชนออนไลน์ด้วยกัน
สำหรับการรวมมือกันครั้งนี้ ข้อมูลของ SportScanInfo บอกว่าถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะแค่ 7 เดือนที่ Nike Plus วางจำหน่าย ไนกี้ก็ได้รับส่วนแบ่งตลาดมากถึง 56.7 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่ารวมในตลาดรองเท้าวิ่งที่มีมูลค่า 36,000 ล้านเหรียญ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 15.3 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าเบียดคู่แข่งรายอื่นๆ อย่าง New Balance, Asics และ Adidas ตกขอบไปเลยทีเดียว
ความสำเร็จครั้งนี้ของไนกี้ถือเรื่องที่ไม่ธรรมดา หากคำนึงถึงการก้าวพลาดทางเทคโนโลยีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะสร้างอุปกรณ์ขนาดเล็กที่สามารถวัดความเร็วและระยะทางในการวิ่งโดยติดไว้กับเชือกผูกรองเท้า แต่ด้วยความเทอะทะของอุปกรณ์ก็ถึงขนาดทำให้ มาร์ค ปากเกอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานไนกี้ในขณะนั้นออกปากตำหนิ และเรียกอุปกรณ์ชิ้นว่า “เนื้องอก” จนเมื่อปี 2004 กลุ่มทำงานของโดนาฮิวจึงก้าวเข้ามาเสนอแนวคิดต้นแบบของอุปกรณ์ที่จะสามารถติดตามการทำงานของอุปกรณ์ส่งสัญญาณที่ฝังไว้ที่พื้นของรองเท้า เพื่อที่จะกำจัดเจ้าเนื้องอกออกไป จนกลายเป็น Nike Plus ที่ประสบความสำเร็จอยู่ในปัจจุบัน