"แมงกะพรุน" บุกอ่าวสัตหีบ

 

 

 

 

 

"แมงกะพรุน" บุกอ่าวสัตหีบ นอภ.

เตือนนักเที่ยวเล่นน้ำระวังแพ้พิษ

 

 

ศูนย์ข่าวศรีราชา-เตือนภัย “แมงกะพรุน” บุกอ่าวสัตหีบนับล้านตัว นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำระวังแพ้พิษ เผยเคล็ดลับเด็ดใช้ “ผักบุ้งทะเล” บดทาผิวหนังถอนพิษ ชี้เป็นปรากฏการณ์บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่สิ่งบอกเหตุภัยพิบัติ
      
        วันนี้ (7 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในอ่าวสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้มีแมงกะพรุน ชนิดแมงกะพรุนถ้วย บุกเข้ามาจำนวนมาก ลอยตัวดาษดื่นแพร่กระจายในวงกว้างไปทั่วอ่าว ทำให้ชาวประมงน้ำตื้นจำนวนมากหวาดกลัว และส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่มาเล่นน้ำสะอาด หาดสวยในพื้นที่สัตหีบ
      
        โดยเฉพาะหาดกองเรือยุทธการ หาดหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อ่าวเตยงาม และอ่าวดงตาล ไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเลกัน แต่ก็มีนักท่องเที่ยวบางส่วนไม่กลัว เพราะรู้ว่าแมงกะพรุนถ้วย มีพิษไม่ร้ายแรง ถ้ามีการแพ้พิษก็สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองได้ โดยใช้ธรรมชาติบำบัด ก็คือต้นและใบผักบุ้งทะเล ที่กองทัพเรือปลูกอนุรักษ์ไว้ตามชายทะเลทั่วไปในพื้นที่อำเภอสัตหีบ
      
        นายสมชาย จิตประจง หรือมืด อายุ 45 ปี อยู่บ้านเช่าไม่มีเลขที่ ซอยเย็นฤดี หมู่ที่ 6 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ ชาวประมงน้ำตื้นหากินแนวชายฝั่ง กล่าวว่า วันนี้ได้มีเพื่อน ๆ บอกว่าได้มีปลากระบอก จำนวนมากเข้ามากินอาหารที่บริเวณหาดดงตาล หน้าที่ว่าการอำเภอสัตหีบ จึงได้นำอวนมาล้อมปลา ปรากฎว่าได้พบแมงกะพรุนถ้วย เป็นจำนวนมากมาก นับแสน นับล้านตัวภายในอ่าวสัตหีบ ซึ่งไม่เคยเห็นมีจำนวนมากอย่างนี้มาก่อน น่าจะเป็นลางบอกเหตุ หรือปรากฏการณ์ในทะเล
      
        โดยเฉพาะคลื่นลมทะเล ด้านนอกอาจรุนแรง หรืออาจเกิดภัยพิบัติ ซึ่งขณะที่ลงไปล้อมปลา ก็เกิดอาการคันผิวหนังไปทั้งตัว โชคดีที่ตัวเองไม่แพ้พิษแมงกะพรุนถ้วย แต่ถ้าเป็นแมงกะพรุนไฟ สงสัยต้องเข้าโรงพยาบาลแน่นอน
      
        หลังทราบข่าวว่าได้มีแพงกะพรุนนับล้านตัวบุกอ่าวสัตหีบ ทำให้ นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ นายอำเภอสัตหีบ ได้นำหัวหน้าส่วนราชการโดยเฉพาะ ประมงอำเภอสัตหีบ ลงไปตรวจสอบ บริเวณอ่าวดงตาล ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอสัตหีบและทั่ว ๆ ไป ปรากฏว่าได้พบแมงกะพรุนชนิดถ้วย ลอยดาษดื่นบนผิวน้ำ ไล่จับสัตว์เล็ก ๆ เป็นอาหาร ทำให้ดูฝักใฝ่ หนาแน่น ถ้าดูอย่างมีศิลปะก็จะดูน่ารัก แต่ถ้าจะมองในเรื่องอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประมงน้ำตื้น และนักท่องเที่ยว คงต้องให้มีการระมัดระวังอย่างมาก
      
        เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงช่วงระยะหนึ่งที่อ่าวสัตหีบ เกิดความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก มีแพลงค์ตอนตัวเล็กเข้ามาในช่วงฤดูกาล ที่น้ำเปลี่ยน ทำให้เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของสัตว์น้ำชายฝั่ง อีกทั้งสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง โขดหินแนวเกาะ แก่งต่าง ๆ ในอ่าวสัตหีบ ก็จะเข้ามากินแพลงค์ตอนจำนวนมาก ส่งผลให้ประมงชายฝั่งหาปลาไปเป็นอาหาร และจำหน่ายเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย ปรากฏการณ์นี้ก็คงใช้เวลาเพียงประมาณ 10 วัน ถ้ามีการถ่ายเทน้ำลงมาก็จะหมดไป แพงกะพรุนก็จะเคลื่อนย้ายตัวเองไปหากินที่อื่นต่อไป
      
        ส่วนทางด้าน พลเรือโท ชุมพล วงศ์เวคิน ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ กล่าวว่า ทัพเรือภาคที่ 1 ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์หญ้าทะเลตามแนวชายฝั่งทะเล เพื่อไว้เป็นแหล่งอาหารของพะยูน ที่หมุนเวียนเข้ามาตามฤดูกาลในอ่าวสัตหีบ อีกทั้งได้มี กองสนับสนุน กองเรือยุทธการ ที่รับผิดชอบอ่าวกองเรือยุทธการ, ฐานทัพเรือสัตหีบ รับผิดชอบหาดแหลมเทียน ,หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน รับผิดชอบอ่าวเตยงาม ,หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รับผิดชอบหาดเทียนทะเล ได้ร่วมกันปลูกและอนุรักษ์ผักบุ้งทะเลตามแนวชายหาดไว้จำนวนมาก เพื่อไว้แก้พิษร้ายจากแมงกะพรุนนานาชนิด โดยเฉพาะแมงกะพรุนไฟที่เป็นอันตรายที่สุด
      
        ทั้งนี้ ผักบุ้งทะเล เป็นไม้ล้มลุกเถาเลื้อย ลำต้นทอดไปตามยาวบนพื้นดิน มักขึ้นใกล้ทะเล ผิวเถาเรียบสีเขียวและม่วง ใบเป็นรูปหัวใจปลายเว้าเข้าหากัน ตามเถาและใบมียางสีขาว ดอกจะออกเป็นช่ออยู่ตามง่ามใบ ช่อหนึ่ง จะมีดอกอยู่ประมาณ 2-6 ดอก แต่จะทยอย กันบานทีละดอกเท่านั้น ลักษณะของดอกเป็น รูปปากแตร ยาวประมาณ 2.5 นิ้ว มีสีม่วงอมชมพู ม่วงอมแดง ชมพูหรือม่วง ผักบุ้งทะเลมีพิษ ถ้ารับประทานจะเกิดอาการเมา คลื่นไส้ วิงเวียน เพราะมีสารที่มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน หรือแอนตี้-ฮีสตามีน แต่สามารถยับยั้งพิษแมงกะพรุน และแมลงกัดต่อยได้ โดยใช้ใบและเถาล้างให้สะอาดแล้วเอาไปโขลกให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาในบริเวณที่เกิดอาการบวมแดง เพียงไม่นานก็จะหายเป็นปกติ ถ้าจะให้ดีต้องอาบน้ำจืด ฟอกด้วยสบู่ ด้วยก็จะดีมาก

Credit: http://www.toptenthailand.com/
8 ต.ค. 54 เวลา 13:45 1,802 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...