จิตวิทยา ลาง-หลอน สัตว์บอกเหตุ
'ดี-ร้าย' ใจกำหนด ??
คน ไทยเราให้ความสนใจกับเรื่องราว “ความเชื่อ” ที่สืบทอดกันมาเรื่อย ๆ นับแต่โบราณกาลจนปัจจุบัน ดังนั้น...แม้เมืองไทยยามนี้จะมีปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ที่น่าเป็นห่วง แต่...กระแส “นกแสกผี” ก็สามารถที่จะแทรกเข้ามาครองพื้นที่ความสนใจของคนไทยได้อย่างแพร่หลายในวง กว้าง
“ลางบอกเหตุ” “ลางดี-ลางร้าย” ยังมีคนไทยเชื่อกันอยู่
และกับ “สัตว์” คนไทยก็เชื่อกันว่า “บอกเหตุ” ได้ ?!?
ทั้ง นี้ กรณี “สัตว์บอกเหตุ” เป็นลางดี-ลางร้ายนี้ ก็มีสัตว์หลายชนิดที่เชื่อกันว่าบางพฤติกรรมของมันนั้นสามารถบ่งบอกสิ่งที่ จะเกิดได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วกรณีที่มีการพิสูจน์หรือติดตามเก็บข้อมูลกันอยู่ในเชิง “วิทยาศาสตร์” ที่เกี่ยวโยงกับ “ปรากฏการณ์ธรรมชาติ” ก็ดูจะคล้าย ๆ กันอยู่เหมือนกัน ไม่ ว่าจะเป็นสัตว์อย่าง... มด, แมลงต่าง ๆ, กบ, หิ่งห้อย, นก, สัตว์ป่าต่าง ๆ ฯลฯ กับการที่จะเกิด... ฝนตก, น้ำท่วม, น้ำป่า หรือแม้แต่ แผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับความเชื่อของคนไทยเรื่องลางดี-ลางร้ายที่จะเกิดกับคนอันเนื่อง จากพฤติกรรมของสัตว์นั้น ก็ยกตัวอย่างเช่น... จิ้งจก ก็มีความเชื่อเรื่องจิ้งจกร้องหรือ “จิ้งจกทัก” ก่อนจะออกจากบ้าน ก็จะมีทั้งแบบที่เชื่อว่าเป็นลางดีและลางร้าย ซึ่ง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” เคยนำเสนอไปบ้างแล้วเมื่อไม่นานมานี้
ตุ๊กแก เมื่อมาอยู่ในบ้าน คนโบราณส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับวิญญาณบรรพบุรุษมาช่วยคุ้มครอง แต่ถ้า “ตุ๊กแกร้องตอนกลางวัน” ตั้งแต่เช้ามืดถึงก่อนพลบค่ำ เชื่อว่าเป็นการบอกเหตุร้าย และบางคนก็มีสูตรความเชื่อนอกเหนือจากนี้โดยนับจำนวนครั้งการร้องของตุ๊กแก แล้วจึงตีความว่าเป็นลางดีหรือลางร้ายกันแน่
แมว และสัตว์อื่น ๆ ถ้าเป็น สีดำ ถ้าก่อนออกจากบ้านมันวิ่งตัดหน้าจากด้านขวาไปซ้าย เชื่อกันว่าเดินทางจะมีอันตราย เจออัปมงคล ต้องแก้เคล็ดโดยเปลี่ยนไปออกทางอื่น และกับ “แมวดำ” ใครเคยดูหนังไทยแนวผี ๆ สมัยก่อนคงจะคุ้น ๆ กับฉากแมวดำกระโดดข้ามโลงศพแล้วทำให้เกิด “ผีเฮี้ยน”
ผึ้ง ถ้า “ผึ้งทำรังในเขตบ้าน” เชื่อว่าเจ้าของบ้านจะมีโชค และเชื่อว่าถ้าไปไล่ทำลายรังจะเกิดหายนะ, สัตว์ป่าต่าง ๆ ถ้าเข้ามาในเขตบ้านจากทางทิศเหนือและตะวันตก เชื่อว่าจะให้ลาภ แต่ถ้าเป็นทิศอื่น ๆ จะอัปมงคล, ตัวเงินตัวทอง-ตะกวด-... เชื่อว่าเป็นอัปมงคล แต่ถ้าเข้าบ้านให้พูดแต่สิ่งดี ๆ ก็เชื่อว่าจะแก้เคล็ดให้เกิดสิ่งดี ๆ ได้
ที่ว่ามาก็ตัวอย่างความเชื่อเรื่อง “สัตว์บอกเหตุ”
และกับ “นก” ก็มีความเชื่อเรื่องการ “บอกเหตุ”
เช่น... “นกถ่ายมูลรดหัว” จะเป็นนกอะไรก็ตาม ถ้าคนอยู่บริเวณบ้านแล้วนกบินมาถ่ายรดหัว เชื่อว่าจะมีเหตุร้ายให้เดือดร้อน และถ้ากำลังจะออกจากบ้านแล้วโดนนกถ่ายรดหัว เชื่อว่าจะไปเจออันตราย อุบัติเหตุ
อีกาดำ จริง ๆ แล้วกาชนิดต่าง ๆ เป็นนกที่อายุยืน แต่กลับมีความเชื่อว่า “กาดำเป็นนกนำสารจากดินแดนแห่งความตาย” บางคนก็มองมันเป็นสัญลักษณ์ของความ “ดุร้าย-สกปรก-ขี้ขโมย” ซึ่งกับสถานที่สำคัญ ทางการเมืองของไทยอย่าง ทำเนียบรัฐบาล ก็เคยมีอีกาดำมาทำพฤติกรรมแปลก ๆ ให้ฮือฮา ให้วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เนือง ๆ อย่างเช่นบินมาจิกตีกันบนยอดตึกไทยคู่ฟ้า ภายในทำเนียบฯ
กับ พฤติกรรมแปลกของนกที่เกิดที่ทำเนียบฯ ก็เคยมีเหตุ “นกเอี้ยงตามจิกตีตัว...ขนาดใหญ่” ราวกับโกรธแค้นสุด ๆ ซึ่งก็วิจารณ์กันแซดว่าเป็นอาเพศ-ลางไม่ดี และนักการเมืองซีกรัฐบาลขณะนั้นก็ถูกแนะนำให้แก้เคล็ด
สำหรับ นกแสก นี่ดูจะโดนหนักหน่อย เพราะถูกเชื่อว่าเป็น “นกผี” ซึ่งนอกจากกรณีที่เพิ่งเป็นข่าวดังแล้ว โบราณก็เชื่อกันว่าถ้านกแสกบินผ่านหลังคาบ้านแล้วร้อง หรือเกาะหลังคาบ้านไหน “เป็นลางบอกเหตุว่าจะมีคนตาย” ซึ่งก็มีเรื่องเล่าที่ไม่มีการยืนยัน ประมาณว่าบางคนกำลังป่วยหนักอยู่ พอเจอลางแบบนี้ก็ยิ่งใจเสียไปเลย !!
ทั้งนี้ กับเรื่องลางบอกเหตุจากสัตว์นี้ ถ้าจะว่ากันในเชิงจิตวิทยา ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา บอกว่า... ถ้าเป็นเรื่องของเสียงนกแสกที่ร้องตอนกลางคืน ทางด้านจิตวิทยาแล้วเสียงจะเป็นรูปธรรม เป็นเหมือนตัวแทนของอารมณ์ ซึ่งความมืดของเวลากลางคืนที่เงียบสงัดจะควบคู่กับความกลัวของมนุษย์อยู่ แล้ว ยิ่งมีเสียงร้องที่ฟังดูน่ากลัวของสัตว์ต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้เป็นการ “กระตุ้นอารมณ์ความกลัวของมนุษย์” ให้มีมากขึ้นไปอีก
นักจิตวิทยา ระบุอีกว่า... เรื่องของเสียงนั้นเป็นเรื่องของความรู้สึกทางความคิด เมื่อมีเสียงที่กระตุ้นอารมณ์กลัว จิตของมนุษย์ก็จะอุปาทานไปเอง ทำให้เกิดอาการ “หลอน” ได้ ยิ่งเป็นเสียงร้องของสัตว์ในเวลากลางคืนที่มักจะฟังดูโหยหวน ก็ยิ่งกระตุ้นความกลัวของมนุษย์ เพราะเสียงโหยหวนจะคู่กับความน่ากลัว อย่างเช่นเสียงของสุนัขที่เห่าหอนหาคู่ในเวลากลางคืนที่มีผลกับอารมณ์ของคน “ทำให้นึกถึงเรื่องผี” ก็คล้าย ๆ กรณีเสียงนกแสก
“ความเชื่อว่า พฤติกรรมของสัตว์เป็นลางบอกเหตุ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งจากเรื่องความเชื่อนั้น ก็นำไปสู่เรื่องของจิตใต้สำนึกสะสม สัตว์ที่ถูกกำหนดว่าเป็นลางบอกเหตุร้าย อาจจะมีส่วนเชื่อมโยงกับการที่เคยคุกคามมนุษย์ หรือเกี่ยวพันในเหตุการณ์ร้าย ๆ มาก่อน จึงถูกตั้งหรือกำหนดให้เป็นลางบอกเหตุร้าย” ...ดร.วัลลภระบุทิ้งท้ายในทางหลักจิตวิทยา
ณ ที่นี้...มิใช่จะมาหักล้างความเชื่อเรื่อง “ลาง-สัตว์บอกเหตุ”
เป็นแต่เพียงสะท้อนถึงความเชื่อ...ควบคู่กับศาสตร์จิตวิทยา
“ดี-ร้าย” บางทีก็ “จิตใจมนุษย์” นี่แหละ...ที่ “กำหนด”.