ไขปัญหา 12 ความเชื่อผิด ๆ เรื่องหวัด และไข้หวัดใหญ่ (Lisa)
คุณคิดว่ารู้จักโรคพื้นบ้านอย่าง "หวัด" กับ "ไข้หวัดใหญ่" ดีแล้วหรือ? ลองทบทวนความเชื่อเหล่านี้ดูใหม่เพื่อเสริมสร้างเกราะป้องกันหวัดกันเถอะ
ความเชื่อเกี่ยวกับหวัดและไข้หวัดใหญ่มีอยู่มากมาย เช่น เชื่อว่าวิตามินซีช่วยป้องกันหวัดได้ หรือเชื่อว่าถ้าคุณแข็งแรงแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน ความจริงก็คือความเชื่อเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป เราจึงต้องไขปริศนากันในวันนี้
ความเชื่อผิด ๆ 1 : ไข้หวัดใหญ่ก็คือหวัดธรรมดาฉบับอัพเกรด
ไม่จริงเลย หวัดธรรมดาสามารถเกิดจากเชื้อหลากหลาย เช่น Rhinovirus ที่เป็นสาเหตุของหวัด 30-35% ในผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามชนิด (Influenza Virus) คือมีทั้งประเภท A, B และ C และมีอาการต่างกันด้วย เช่น ไข้หวัดใหญ่จะไม่รู้สึกคัดจมูก ไอแห้ง ไม่มีเสมหะ มีไข้สูงมาก คลื่นเหียน รู้สึกหนาวสั่น อ่อนเพลีย และอาจมีระยะเวลาป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา
ความเชื่อผิด ๆ 2 : ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไม่เป็นอันตราย
เมื่อปีก่อนเราตื่นตัวกันมากกับเชื้อไข้หวัดหมู จนหลายคนลืมนึกถึงไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่อาจเป็นอันตรายได้เหมือนกัน ซึ่งคุณอาจมีอาการแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ได้ แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติในระยะเวลาอันสั้น แต่ถ้านับเฉพาะสหรัฐฯ ที่เดียว ทุกปีจะมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ถึง 200,000 ราย และจากจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 36,000 ราย นี่พอ ๆ กับจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม และมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ถึงสองเท่าเชียวนะ!
ความเชื่อผิด ๆ 3 : ถ้าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วปีหน้าไม่ต้องฉีดก็ได้
นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ต่างจากวัคซีนชนิดอื่น ที่ให้ระยะเวลาการคุ้มครองจากเชื้อโรคนานเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มีแนวโน้มระบาดจะเปลี่ยนไปทุกปี นักวิจัยจึงต้องพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ขึ้นมาสู้ทุกปีเช่นกัน ฉะนั้น เราจึงควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีนั่นเอง
ความเชื่อผิด ๆ 4 : ถ้าเราเป็นหวัดแล้ว ในปีนั้น เราจะไม่เป็นอีก
บางคนคิดว่าพอเป็นหวัดแล้วคุณจะไม่เป็นอีกในปีนั้น และไม่ยอมไปฉีดวัคซีน แต่การติดเชื้อหวัดหรือไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้จากเชื้อหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมักจะมีทั้ง Type A และ B ที่ระบาดในหนึ่งฤดูกาล จึงเป็นไปได้ที่คุณจะเป็นไข้หวัดใหญ่อีกครั้ง และเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ความเชื่อผิด ๆ 5 : หากเราเป็นหวัดนานแล้ว ไม่หายสักที เราอาจเป็นไซนัสอักเสบก็ได้
คนส่วนใหญ่มักจะหายจากหวัดภายใน 10 วัน แม้อาจจะมีอาการคัดจมูก ปวดศีรษะ หรือมีน้ำมูกไหลอยู่ หากคุณไม่หายจากหวัดสักที อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นไซนัสอักเสบ ลองสังเกตดูว่ามีอาการไข้ย้อนรึเปล่า ซึ่งคุณอาจจะรู้สึกว่าหายเป็นปกติแล้ว แต่กลับไข้ขึ้นอีกครั้งและมีอาการหนักกว่าเดิม นี่อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและคุณอาจต้องการยาปฏิชีวนะก็ได้
ความเชื่อผิด ๆ 6 : วิตามินซีช่วยป้องกันไข้หวัดได้
มีความเชื่อว่าการกินวิตามินซีจะช่วยป้องกันหวัดได้ เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ในปี 2007 Cochrane Library เปิดเผยการศึกษาซึ่งชี้ว่า การกินวิตามินซีเสริมวันละ 200 มิลลิกรัม ไม่มีผลต่อความรุนแรงหรือระยะเวลาการเกิดไข้หวัด แต่อย่างไรก็ดี หากคุณเป็นคนที่เจอกับความเครียดมากกว่าปกติ เช่น เป็นนักวิ่งมาราธอน เป็นทหารหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก ๆ การกินวิตามินซีเสริมทุกวันอาจช่วยลดโอกาสเกิดไข้หวัดได้ถึงครึ่ง
สำหรับคนที่ต้องการกินวิตามินซีเสริม ปริมาณที่แนะนำคือ 90 มิลลิกรัม ต่อวันสำหรับผู้ชาย และ 75 มิลลิกรัม ต่อวันสำหรับผู้หญิงหากเกินกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะทำให้คุณเสี่ยงต่อนิ่วในไต ท้องร่วง และคลื่นเหียนได้
Expert’s Corner
ตอบคำถามความเชื่อเรื่องหวัดอีก 6 ข้อกับ พญ.อรอุมา บรรพมัย อายุรแพทย์ (ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโรคติดเชื้อ) ร.พ.สมิติเวช สุขุมวิท
1.จริงหรือเปล่าที่ว่าตากฝนแล้วจะเป็นหวัด?
ความเชื่อนี้คงไม่จริง 100% แต่ถ้าถามว่าตากฝนแล้วอาจเป็นหวัดได้มั้ย? เราพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นหวัดจากการเดินลุยฝนหลังตกใหม่ ๆ ที่ชะเชื้อโรคลงมาแล้วก็อาจจะมาโดนตัวเรา ผ่านเข้ามาทางลมหายใจ หรือแม้แต่น้ำฝนที่มีเชื้อโรคมาถูกเสื้อหรือเส้นผม แล้วเราไม่ได้อาบน้ำเลย เชื้อก็จะอยู่บนตัวเราค่อนข้างนาน และสามารถเข้าไปในร่างกายได้
2.ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้วจะไม่เป็นหวัดเลย
อันนี้ก็เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ตามชื่อคือมันไม่ได้ป้องกันไข้หวัดธรรมดา และถึงจะป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็ป้องกันได้ 80-90% แต่ตอนนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทุกคนฉีดวัคซีน เพราะคนแข็งแรงก็มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ แต่ว่าคนที่ควรจะมาฉีดหรือบังคับให้มาฉีดก็คือเด็ก ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือคนที่กินยาบางประเภท เช่น ยาจำพวกแอสไพริน เพราะว่าการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เขามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
3.ในปัจจุบันเรายังไม่มียาฆ่าเชื้อหวัด
ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อหวัดนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส สมมติว่าเป็นอย่างหลัง ส่วนใหญ่ก็จะใช้ยารักษาตามอาการหรือการพักผ่อน คือจะไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่จะเน้นไปที่การพักผ่อน นอนหลับ ดื่มน้ำ กินอาหารทีดีและมีประโยชน์ แต่ถ้าเชื้อนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และคนไข้มีอาการเจ็บคอ ไอเยอะ มีเสมหะสีเขียว เราก็อาจให้ยาปฏิชีวนะเสริมเข้าไป
ไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียจะมีลักษณะคล้ายกัน 80-90% ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส และเชื้อพวกนี้สามารถทำให้เป็นไข้และเจ็บคอได้เหมือนกัน แต่เราอาจเห็นอาการบางอย่าง เช่น น้ำมูกเขียว เสมหะเขียว จากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
4.หน้ากากอนามัยไม่สามารถป้องกันหวัดได้
ไม่สามารถป้องกันได้ 100% อาจจะป้องกันได้ระดับหนึ่งคือ 30-40% เพราะมันคาดที่จมูกและครอบปากเราไว้แต่ไม่ได้ปิดทั้งหมด เวลาที่เราไอหรือจามมันก็จะลอดผ่านช่องที่จมูกหรือคาง ถ้าเค้าไอ จาม หรือน้ำลายหรือเสมหะกระเด็นไปโดนโต๊ะ แล้วเราเอามือไปจับแล้วไปแคะขี้มูก จับตา เชื้อก็จะสามารถเข้ามาในร่างกายเราได้
5.เราต้องดื่มน้ำอุ่น และไม่ดื่มน้ำเย็นเวลาเป็นหวัด
จริง ๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิด จะดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น อะไรก็ตามที่เป็นของเหลว ๆ เนี่ยดื่มได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราดื่มน้ำอุ่น เราจะรู้สึกสบายคอกว่า ถ้าเรามีเสมหะ เสมหะก็จะนิ่มกว่า ขับออกมาได้ง่าย จริง ๆ แล้วคนไข้อาจจะอยากดื่มน้ำเย็นก็ได้ แต่ขอให้ดื่มในปริมาณเยอะ ๆ เพราะว่าการดื่มน้ำเยอะ ๆ จะทำให้เสมหะในลำคอนิ่มขึ้นภาวะน้ำไหลในร่างกายเยอะขึ้น เราจึงรู้สึกสดชื่นขึ้น และอุณหภูมิในร่างกายเราก็จะลดลงด้วย
6.ถ้าไม่กินยาปฏิชีวนะแล้วจะไม่หาย
คนไข้ชอบขอยาปฏิชีวนะกินเลย แต่อย่างที่หมอบอกไปแล้ว 80-90% ของไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่คนไข้ส่วนใหญ่จะแปลกใจถ้าหมอไม่จ่ายยาฆ่าเชื้อ หรือมีความเชื่อว่าถ้าหมอไม่จ่ายยาฆ่าเชื้อให้แล้วจะไม่หาย ทั้งที่ความจริงก็คือการใช้ยาฆ่าเชื้อเกินความจำเป็นจะทำให้เชื้อโรคดื้อยานะคะ