พิศวง ชีวิตลึกลับในราวไพร

พิศวง...ชีวิตลึกลับในราวไพร

ภาพต้นพิศวงจากเวปบอร์ด กลุ่มเรารักษ์ป่า

ประมาณปี 2540 ที่ผมหลงป่าปางสีดา (แถววังจระเข้) ในขณะที่กำลังพักเอาแรงหลังจากเหนื่อยล้ามาทั้งวัน ที่ใต้กอไผ่มีพันธุ์ไม้ประหลาดที่ผมไม่เคยพบมาก่อนชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเจลลี่สีส้ม มีหนวด 3 หนวดยาวออกมาทางด้านบน ผมหยิบเอากล้องฟิล์มมาถ่ายไปหลายรูป แต่เนื่องจากอากาศชื้น ฟิล์มติดกันแน่น กรอฟิล์มไม่ได้จนขาดในที่สุด ผมเลยอดได้ภาพนี้มา หลังจากนั้นก็ไม่ได้เห็นมันอีกเลย

จนเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน ในขณะที่อาจารย์สินธุยศ จันทรสาขา และหัวหน้ามนตรี บัวแก้ว หน.อช.ปางสีดา(ในขณะนั้น) ได้เดินป่าเข้าไปลานหินดาด แต่ก็หลง...... แล้วก็ไปพบไอ้เจ้าต้นพิศวง พร้อมทั้งถ่ายภาพมาลงหนังสือผีเสื้อ (เล่มแรก) ได้

ปี 2551 (ข้อมูลจากภาพถ่ายเมื่อ 7 มิย.51)มีเจ้าหน้าที่ปางสีดาท่านหนึ่ง บอกว่าเจอต้นพิศวงอยู่ชายป่า (คราวนี้ไม่ต้องเดินให้หลงอีก) เป็นพิศวงสีดำ 2-3 ต้น ผมเลยเอากล้องดิจิตอลไปถ่ายมาหลายภาพ พอมาถึงปีนี้ 2552 (วันที่ 7 มิย.52) ไม่น่าเชื่อว่าเป็นวันเดียวเดือนเดียวกับปีที่แล้ว ผมมีโอกาสถ่ายภาพผีเสื้อที่เดิม ก็เลยเดินหาอีกแต่ไม่เจอ จนกระทั่งมีน้องผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ"ต้นข้าว" ไปเจอผมเลยรีบเข้าไปถ่ายภาพ ซึ่งมีอยู่แค่ต้นเดียว ดอกยังตูมๆ อยู่ เป็น"พิศวงสีดำ"

 

 

 

ต้นพิศวงที่ถ่ายได้เมื่อปี 2551 ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา (ภาพโดยธีระ แสงสุรเดช)

 

 

 

 

 

 

 

 

วันนี้เลยขอเข้าไปค้นข้อมูลในเน็ต ได้ข้อมูลมากมายจากเพื่อนบ้านของเรา "กลุ่มเรารักษ์ป่า" ให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน มากมายลองอ่านดูครับ

 

เขาบอกว่า "ต้นพิศวง" เป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะในผืนป่าดงพญาเย็น และเป็นพืช 1 ใน 16 ชนิด ที่มีเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีววิทยาในผืนป่าดงพญาเย็น ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ นำเสนอคณะกรรมการมรดกโลก จนกระทั่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ในนามกลุ่มป่า "ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" เมื่อปี 2548 อีกชื่อหนึ่งเขาเรียกว่า "ดอกพิศวงรยางค์" Thismia javanica (J.J. Smith)

 

 

 

ต้นพิศวงที่ถ่ายได้ล่าสุด เมื่อ 7 มิย.52 ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา (ภาพโดยธีระ แสงสุรเดช)

 

 

 

ภาพต้นพิศวงจากเวปบอร์ด กลุ่มเรารักษ์ป่า

พิศวง...ชีวิตลึกลับในราวไพร

สำหรับพรรณพฤกษชาติที่น่าสนใจและหายาก และมีโอกาสพบได้เฉพาะช่วงฝนเท่านั้น มีชื่อที่เรารู้จักในภาษาไทยก็คือ พิศวง ทางวิชาการจัดให้อยู่ในสกุล Thismia เป็นพืชมีดอกในกลุ่ม พืชใบเลี้ยงเดี่ยว อดีตเคยถูกจัดไว้ในวงศ์หญ้าข้าวก่ำ (Family Burmaniaceae) ทว่าปัจจุบันแยกออกมาเป็น วงศ์พิศวง (Family Thismiaceae) ซึ่งทุกชนิดในวงศ์นี้เป็นพืชกินซากขนาดเล็ก พืชในวงศ์นี้ทั่วโลกมีอยู่ 10 สกุล ราว 25 ชนิด โดยส่วนใหญ่พบเฉพาะป่าฝนเขตร้อน ยกเว้นทวีปแอฟริกาและยุโรปที่ยังไม่มีรายงานการค้นพบ

สำหรับประเทศไทยพบ 1 สกุล จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Thismia javanica (J.J. Smith) กับ Thismia mirabilis (K. Larsen) ชนิดนี้ค่อนข้างพบได้ยากกว่า เพราะมันเป็นพืชเฉพาะถิ่นของบ้านเรา

จากที่เห็นทำให้เราทราบว่าพืชในสกุลพิศวง มีขนาดเล็ก ฉ่ำน้ำ มีลำต้นทอดเลื้อยอยู่ใต้ผิวดิน ลำต้นที่แทงขึ้นมาเหนือพื้นดินส่วนใหญ่มักไม่แตกกิ่ง ใบลดรูปลงเหลือเป็นเพียงเกล็ดเล็กๆ กลีบดอกเชื่อมติดกัน หลอดกลีบดอกมี 6 พู แบ่งออกเป็น 2 ชั้น มีรูเปิด 3 รู เกสรตัวผู้มี 3 อัน ไม่ติดกันหรืออาจรวมกันเป็นหลอดเกสรตัวผู้ติดกับโคนหลอดกลีบดอก ผลเป็นแบบมีเนื้อ มีโคนของหลอด กลีบดอกเป็นวงมีก้าน และ ยอดเกสรตัวเมียติดอยู่

ชนิดแรก มีชื่อเรียกตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทยว่า พิศวงรยางค์ Thismia javanica (J.J. Smith) ดอกสีส้มอ่อน มีเส้นลายสีแดงพาดตามยาวโดยรอบ มีลักษณะงดงามแปลกตายิ่ง ซึ่งชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ต้นแบบ พบครั้งแรกบนเกาะชวา อินโดนีเซีย

 

 

สำหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบอยู่หลายพื้นที่ตั้งแต่ใต้สุดจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา–บาลา อุทยานฯ เขาสก เขตรักษาพันธุ์ฯ คลองนาคา อุทยานฯ ไทรโยค อุทยานฯ เขาใหญ่ และผมได้พบอีกหลายแหล่ง คือ อุทยานฯ ปางสีดา อุทยานฯ ศรีพังงา อุทยานฯ ภูจอง–นายอย เขตรักษาพันธุ์ฯ ยอดโดม

 

 

 

ส่วนพิศวงชนิด Thismia mirabilis (K. Larsen) เป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบได้ค่อนข้างยากกว่าชนิดแรก และมีลักษณะแปลกกว่าดอกไม้ทั่วไป ดอกมีสีดำแกมฟ้า รูปร่างคล้ายคนโท พบขึ้นอยู่ริมลำธารที่มีธาตุอาหารค่อนข้างสมบูรณ์ สำหรับชื่อของชนิดนี้ในภาษลาติน mirabilis แปลออกมาได้ว่า มหัศจรรย์ ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริงดั่งชื่อ ซึ่งมีรายงานการพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2506 ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ใช้เป็นพันธุ์ไม้ต้นแบบในการอธิบายลักษณะและตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ของพืชชนิดนี้ โดยพิศวงสีดำชนิดนี้มีรายงานการพบ 2 ที่เท่านั้น คืออุทยานฯ เขาใหญ่ และบนเกาะช้าง จ. ตราด (แสดงว่าที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา เป็นข้อมูลการค้นพบใหม่)

 

 

 

 

พิศวง วงศ์ Thismiaceae

วงศ์ Thismiaceae เคยถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ Burmaniaceae ภายใต้วงศ์ย่อย Thismioideae แต่ในปัจจุบันกลับมาอยู่ในวงศ์เดิม ทั่วโลกมี 4 สกุล 31 ชนิด ลักษณะทั่วไปเป็นพืชกินซาก (saprophyte) ล้มลุกขนาดเล็ก มีใบคล้ายเกล็ด กลีบรวมมีจำนวน 6 เรียง 2 วง ขนาดเท่ากันหรือ 3 กลีบด้านในใหญ่กว่า เชื่อมติดกันคล้ายหมวกมีรูเปิด 3 ด้าน เกสรเพศผู้มี 3 อัน เรียงติดกันเป็นหลอดติดกับวงด้านในหลอด รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกสรเพศเมียมี 3 แฉก ผลรูปถ้วย เกสรเพศเมียที่ติดทน เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ในประเทศไทยพบเพียงสกุลเดียวคือ Thismia มีประมาณ 3 ชนิด

พิศวง สกุล Thismia Thismiaaceae
ลักษณะสกุลดูที่ พิศวง สกุล สกุลพิศวงมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น ในประเทศไทยพบอย่างน้อย 3 ชนิด คือ พิศวง Thismia mirabilis K.Larsen, พิศวงแดง Thismia aseroe Becc และ พิศวงระยางค์ Thismia javanica J.J.Sm.

พิศวง Thismia mirabilis K. Larsen Thismiaaceae
พืชกินซาก (saprophyte) ล้มลุกขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 7 ซม. มีใบคล้ายเกล็ด รูปรีแกมรูปสามเหลี่ยม มี 1-2 ดอก วงกลีบประดับมี 3 กลีบ สีน้ำเงินเข้ม หลอดกลีบรูปคนโทสีเดียวกัน กลีบรวม 6 กลีบ 3 กลีบด้านนอกมีสีขาว รูปลิ้น กลีบด้านในเชื่อมติดกัน มีช่องเปิด 3 ช่อง ด้านบนแบน มีรอยบุ๋มในแต่ละกลีบ เกสรเพศผู้มี 3 อัน เรียงติดกันเป็นหลอดติดห้อยลงด้านในหลอด แกนอับเรณูแบนกว้างมีเหลี่ยมรยางค์เป็นจีบ เกสรเพศเมีย มี 3 แฉก พิศวงมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในประเทศไทย พบภูวัว จังหวัดหนองคาย เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และเกาะช้าง จังหวัดตราด ขึ้นตามดินทราย ริมลำธารในป่าดิบแล้งระดับต่ำ ถึงป่าดิบเขา ระดับความสูงถึง 1200 เมตร

พิศวงแดง Thismia aseroe Becc. Thismiaaceae
พืชกินซาก (saprophyte) ล้มลุกขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 8 ซม. ลำต้นบางครั้งแตกกิ่ง 1-2 กิ่ง มีใบคล้ายเกล็ด รูปรีใบหอก ยาวถึง 4 มม มี 1-2 ดอก หลอดกลีบรวมรูปกรวยแกมรูประฆัง สีขาวแกมเหลืองขุ่น ยาวประมาณ 1 ซม. กลีบรวมมี 6 กลีบ ขนาดเท่าๆ กัน รูปสามเหลี่ยมขนาดประมาณ 3 มม. ปลายเรียวยาวกว่า 6 มม. สีแดงส้ม เกสรเพศผู้มี 3 อัน เรียงติดกันเป็นหลอดติดห้อยลงด้านใน ตอนปลายมีรยางค์ สั้นๆ 3 อัน แผ่เป็นปีกกว้างกว่าอับเรณู ที่โคนรยางค์มีต่อมน้ำต้อย (nectarines) 2 ต่อม เกสรเพศเมีย มี 3 แฉก ผลรูปถ้วยเป็นริ้ว ยาวประมาณ 5 มม. พิศวงใต้มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะคาบสมุทรมลายู และเป็นพืชพบใหม่ของไทย (new record) ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา บาลา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ขึ้นกระจายห่างๆ ในป่าดิบชื้น ระดับความสูงประมาณ 250 เมตร (M. poopath 182, BKF)

พิศวงระยางค์ Thismia javanica J.J. Sm. Thismiaaceae
พืชกินซาก (saprophyte) ล้มลุกขนาดเล็ก สูงถึง 12 ซม. มีใบคล้ายเกล็ด รูปรีถึงรูปใบหอก มี 1-3 ดอก ทุกส่วนมีสีส้ม วงกลีบประดับมี 3 กลีบ หลอดกลีบรูปคนโท มีสีส้มเข้มเป็นริ้ว ด้านในเป็นแถบยาวเชื่อมกับแนวขวางหลายแนว กลีบรวม 6 กลีบ 3 กลีบด้านในมีรยางค์ ยาว 2-3 ซม. เกสรเพศผู้มี 3 อัน เรียงติดกันเป็นหลอดห้อยลงด้านในหลอด กลายเกสรหยักซี่ฟัน 3 หยัก มีขนด้านบน แกนอับเรณูแบนกว้างมีรยางค์เป็นเหลี่ยม รังไข่รูปรี เกสรเพศเมียมี 3 แฉก ปลายตัด ผลรูปถ้วย สีส้ม ยาวประมาณ 6 มม. เมล็ดรูรี จำนวนมาก พิศวงมีเขตการกระจายพันธุ์กว้างในภูมิภาคมาเลเซีย ในประเทศไทยพบตัวอย่างที่จังหวัดกาญจนบุรี ระนอง จันทบุรี

 

ขอบคุณข้อมูลจากเวปบอร์ดของ กลุ่มเรารักษ์ป่า

ที่มา : สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อ้างอิง : http://www.dnp.go.th/botany/Web_Dict/detail.aspx?words=%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%87&typeword=group


 


« Back
Credit: กลุ่มรักษ์ป่าไม้ดอดคอม
#ป่าไม้ #ชีวิต
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
3 ต.ค. 54 เวลา 07:28 3,583 2 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...