เก้าทัพต้องยับย่อย

....นับแต่การเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นต้นมา กรุงรัตนอังวะก็อยู่ในความวุ่นวาย เริ่มจากการสงครามกว่า ๓ ปีกับกองทัพแมนจูที่ยกทัพเข้ามาทางยูนนาน และการก่อกบฏของพวกมอญในพม่าตอนล่างยืดเยื้อมาถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๖ ซึ่งนั่นก็ช่วยให้สยามมีเวลามากพอในการเยียวยาตนเองจากความพ่ายแพ้ในสงครามครั้งก่อน

ถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๘ อังวะก็ได้ยกกองทัพใหญ่นำโดยขุนพลเฒ่า"อะแซหวุ่นกี้" และขุนพลผู้น้อง"แมงแยงยางู" กลับมาอีกครั้ง เพื่อหวังจะทำลายกรุงธนบุรี มิให้ชาวสยามตั้งตัวเป็นเสี้ยนหนามมารบกวนหัวเมืองเชียงแสนและหวังจะยึดเชียงใหม่ที่เสียไปคืนจากธนบุรีให้ได้

สงครามในครั้งนี้กรุงธนบุรีจวนเจียนจะพ่ายแพ้อีกครั้ง ด้วยกองทัพของอะแซหวุ่นกี้สามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จำต้องนำไพร่พล ครัวเมือง ตีฝ่าหนีไปตั้งหลักทางเมืองเพชรบูรณ์ด้วยเหตุเสบียงกรังร่อยหรอ กองทัพพม่ารุกคืบต่อลงมาเกือบถึงค่ายของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกขึ้นไปตั้งรับที่นครสวรรค์ ซึ่งผลของสงครามก็ยังไม่ชัดว่าธนบุรีจะต้านทัพพม่าไหวไหม เพราะกำลังพลก็พอ ๆ กัน

แต่ก็เป็นโชคดีของแผ่นดินสยาม ที่พระเจ้าเซงพยูเชงหรือมังระผู้พิชิตกรุงศรีอยุธยาเกิดสวรรคตกะทันหัน กองทัพต่าง ๆ ถูกเรียกกลับไปอังวะ เพราะเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างกัน อะแซหวุ่นกี้ เมื่อถอนทัพกลับไปอังวะ ก็ประสบชะตากรรมถูกประหารชีวิต จากผลพวงของการเมืองในราชบัลลังก์

พระเจ้าจิงกูจา (Singu Min) " เซงกูเมง" พระโอรสของพระเจ้ามังระ เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษาเพียง ๑๙ ปี ทรงปราบบรรดาผู้ต่อต้าน ทั้งพระญาติพระวงศ์และเหล่าขุนนางด้วยความรุนแรง หลายคนถูกลดอำนาจหรือส่งไปอยู่หัวเมืองที่ห่างไกล แต่พระเจ้าอาอย่างพระเจ้าปดุง ก็ยังโชคดีหน่อยถูกส่งให้ไปควบคุมตัวที่เมืองสะกาย ที่ตั้งอยู่อีกด้านฟากหนึ่งของแม่น้ำอิระวดีเท่านั้น

พระเจ้าจิงกูจา ครองอังวะได้ประมาณ ๔ ปี ก็ถูกรัฐประหารโดยพระเจ้ามองหม่องผู้น้อง โอรสของพระเจ้ามังระ โดยมีขุนนางและเชื้อพระวงศ์หลายคนเข้าร่วม รวมทั้งอะแซหวุ่นกี้ (ซึ่งก็เป็นผลทำให้ต้องถูกประหารโดยพระเจ้าปดุงภายหลังเกิดเหตุการณ์ “รัฐประหารซ้อน” ) แต่การรัฐประหารในครั้งนี้ก็เพียงช่วยพระเจ้ามองหม่องมีสิทธิในราชบัลลังก์ได้เพียงหนึ่งอาทิตย์เท่านั้น เพราะพระเจ้าลุงที่ถูกเนรเทศไปเมืองสะกายอาศัยจังหวะความชุลมุนความวุ่นวายยกทัพกลับมาทวงราชบัลลังก์คืนในทันที

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ อันเป็นปีสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ของชาวสยาม ก็เป็นเวลาเดียวกัน ที่ "พระเจ้าโบดอพญา หรือพระเจ้าปดุง (Bodawpaya)" ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองแผ่นดินกรุงรัตนอังวะ พระเจ้าปดุงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖ แห่งราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์แห่งสุดท้ายของพม่า ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ ๕ ใน ๖ พระองค์ของพระเจ้าอลองพญา พระองค์มีพระนามเมื่อครองราชย์ว่า "ปโดงเมง" หมายถึง "พระราชาจากเมืองปโดง" แต่มีพระนามที่เป็นที่เรียกขานในพม่าภายหลังว่า "โบดอพญา" (Bodopaya) อันมีความหมายว่า "เสด็จปู่ "
 



เมื่อเริ่มรัชกาล พระองค์ก็โปรดให้ย้ายพระราชวังและสร้างเมืองหลวงใหม่ที่อมรปุระ (Amarapura) ทางเหนือประมาณกว่า ๑๐ กิโลเมตรเหนือกรุงอังวะเดิม ตามคำแนะนำของโหรหลวงที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองมณีปุระ และทรงสั่งให้ทุบทำลายบ้านเรือน เปลี่ยนเส้นทางเดินของแม่น้ำให้ไหลเข้ามาท่วมเมืองอังวะเดิม และให้นำไม้สักของพระราชวังกรุงอังวะจำนวน ๑,๒๐๘ ต้น มาสร้างเป็นสะพานอูเป็ง (U Bein Bridge) จนปัจจุบันกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมานมุ่งตรงไปสู่เจดีย์เจ๊าดอจี ที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ ที่มีชื่อสะพานว่า อูเป็ง นั้น มาจากชื่อของขุนนางผู้เป็นแม่กองคุมการก่อสร้างสะพาน


พระเจ้าปดุง ได้เริ่มทำสงครามประกาศพระราชอำนาจใหม่ โดยการเอาชนะอาณาจักรยะไข่หรืออารากัน (Arakan) ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของพม่า ที่พม่าไม่เคยครอบครองได้มาก่อนได้สำเร็จ ได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีหรือพระเมี้ยตมุนี อันเป็นพระพุทธรูปประจำชาติของพม่าในปัจจุบันจากยะไข่มาประดิษฐานไว้ที่นครมัณฑะเลย์ รวมทั้งนำรูปสำริดศิลปะเขมรที่อยุธยาปล้นมาจากเมืองพระนครหลวงของเขมร แล้วพระเจ้าบุเรงนองนำไปจากกรุงศรีอยุธยา ยะไข่ปล้นชิงไปจากหงสาวดีหลังสมัยพระเจ้านันทบุเรงอีกที และหลังจากได้ไปท่องเที่ยวมาหลายอาณาจักร ในที่สุดรูปสำริดเขมรก็กลับมาอยู่ที่ลุ่มน้ำอิระวดีอีกครั้ง ((สงสัยว่ารูปสำริดมี"อิทธิฤทธิ์" อะไรดีนักหนาจึงไม่ถูกหลอมทิ้ง ขนไปขนมากันอยู่ได้)

เมื่อเอาชนะอาณาจักรที่ไม่เคยพ่ายอย่างอารากัน เป็นพลังครั้งสำคัญที่พาให้พระองค์เกิดความฮึกเหิมได้ใจ ไร้สามัญสำนึกที่จะประมาณศักยภาพของไพร่พลกำลังรบที่แท้จริง พระองค์ถึงกับทรงประกาศว่า "เราจะทำสงครามเพื่อพิชิตโมกุล (อินเดีย) จีน และโยดะยาให้ได้ "

 

 ลุถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระเจ้าปดุง สั่งเกณฑ์กองทัพจำนวนกว่า ๑๒๐,๐๐๐ คน ซึ่งนับเป็นไพร่พลที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การยุทธของพม่าและสยาม จัดเป็น ๙ ทัพ แยกเป็น ๕ เส้นทาง หมายตีกรุงรัตนโกสินทร์ให้ย่อยยับเช่นเดียวกับอารากันและมณีปุระ

พระองค์ทรงเป็นจอมทัพ โดยตั้งฐานบัญชาการที่เมืองเมาะตะมะ เมืองท่าด้านอ่าวเบงกอล อันเป็นชุมทางทัพเข้าตีบ้านเมืองสยามในครั้งก่อน แต่เมื่อพระองค์เสด็จจากอมรปุระมายังเมืองเมาะตะมะแล้ว ก็ทรงทราบว่า ทางหัวเมืองเบงกอลไม่สามารถเตรียมเสบียงและยุทธปัจจัยในการสงครามได้ทันภารกิจ พระองค์ทรงพิโรธมากถึงขนาดขว้างหอกซัดเข้าใส่แม่ทัพใหญ่ที่รับผิดชอบในภารกิจท่ามกลางที่ประชุมพลทันที และพระองค์ก็ยังทรงละเลย นิ่งเฉย หรือจะเรียกว่าไม่ทรงสนพระทัยกับข้อด้อยทางทหาร ที่ก่อให้เกิดความไม่พร้อมของกองทัพใหญ่โดยรวม ซึ่งนั้นก็คือสัญญาณแห่งหายนะครั้งใหญ่ของมหากองทัพที่จะตามมาในอีกไม่ช้านี้

ทัพทั้งเก้า แยกเป็น

ทัพที่ ๑ มี แมงยีแมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพ มีทั้งทัพบก ทัพเรือ จำนวนพล ๑๐,๐๐๐ เรือกำปั่นรบ ๑๕ ลำ ลงมาตั้งที่เมืองมะริด ให้ยกทัพบกมาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนถึงเมืองตะกั่วป่าและเมืองถลาง แต่แมงยีแมงข่องกยอตายเพราะถูกหอกซัดในที่ประชุมพล เกงหวุ่นแมงยีมหาสีหะสุระ อัครมหาเสนาบดีจึงขึ้นเป็นแม่ทัพที่ ๑ แทน

ทัพที่ ๒ มี อนอกแฝกคิดหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๐,๐๐๐ ลงมาตั้งที่เมืองทวาย ให้เดินเข้าทางด่านบ้องตี้ มาตีกวาดหัวเมืองสยามฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี แล้วให้ลงไปใต้เพื่อไปบรรจบกับกองทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร

ทัพที่ ๓ มี หวุ่นคยีสะโดะศิริมหาอุจจะนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพ ถือพล ๓๐,๐๐๐ ยกมาทางเมืองเชียงแสน ให้กวาดลงมาทางเมืองนครลำปางและหัวเมืองแม่น้ำยม ตั้งแต่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย ให้ลงมาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ

ทัพที่ ๔ มี เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ ยกลงมาตั้งที่เมืองเมาตะมะ เป็นทัพหน้าเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๕ มี เมียนเมหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๕๐,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหนุนเข้าตีกรุงเทพ ฯ เมื่อทัพที่ ๔ ทัพหน้าเปิดทางให้แล้ว

ทัพที่ ๖ มี ตะแคงกามะ ราชบุตรที่ ๒ (พม่าเรียกว่าศิริธรรมราชา) เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๒,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้าที่ ๑ ของทัพหลวงที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๗ มี ตะแคงจักกุ (พม่าเรียกว่า สะโดะมันชอ) เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ มาตั้งที่ เมืองเมาะตะมะเป็นแม่ทัพหน้าที่ ๒ ของทัพหลวง

ทัพที่ ๘ มี พระเจ้าปดุงเป็นจอมทัพ เป็นกองทัพหลวง จำนวนพล ๕๐,๐๐๐

ทัพที่ ๙ มี จอข่องนรทาเป็นแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาะแขวงเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร ให้ลงมาบรรจบทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ

ทางฝ่ายกรุงเทพ ฯ เมื่อได้ทราบข่าวการระดมไพร่พลเข้าสู่สงครามที่เมืองเมาะตะมะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ประชุมเสนาบดี ขุนนางและขุนทหารเป็นการเร่งด่วน ทรงประเมินว่า กองทัพของฝ่ายพม่าในครั้งนี้มีจำนวนมาก แต่ก็มีเป้าหมายสุดท้ายที่กรุงเทพ ฯ เช่นเดียวกัน พระองค์จึงให้เกณฑ์ไพร่พลซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า ๗๐,๐๐๐ คน แบ่งกำลังตั้งรับตามแนวเข้าสู่กรุงเทพทั้ง ๔ เส้นทางหลักโดยแบ่งเป็น

ทัพที่ ๑ ให้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์(ภายหลังได้รับสถาปนาพระยศขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือ กรมพระราชวังหลัง) เป็นแม่ทัพถือพล ๑๕,๐๐๐ ขึ้นไปตั้งรับอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ อย่าให้เพลี่ยงพล้ำมิให้ถอย ประวิงเวลายันทัพเหนือของพม่าให้ได้นานที่สุด ( ๑๕,๐๐๐ ตั้งรับ ๓๕,๐๐๐ )

ทัพที่ ๒ มีกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ ถือพล ๓๐,๐๐๐ ให้ไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี (เก่า) สกัดทั้ง ๕ กองทัพ ที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๓ ให้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับ เจ้าพระยายมราช ถือพล ๕,๐๐๐ ไปตั้งรับอยู่ที่เมืองราชบุรี เพื่อรักษาทางลำเลียงยุทธปัจจัยของกองทัพที่ ๒ และคอยสกัดกองทัพพม่าที่อาจจะยกขึ้นมาจากทางเมืองทวาย

ทัพที่ ๔ เป็นทัพหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นจอมทัพ เกณฑ์ไพร่พลเตรียมพร้อมที่ชานพระนคร จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ เศษ เป็นทัพหนุน พิจารณาจากสภาพการณ์จริง หากการศึกทางด้านใดเพลี่ยงพล้ำก็จะยกไปช่วยในทันที

กองทัพใหญ่ของฝ่ายพม่ามีปัญหามากมาย ทั้งการตั้งแนวลำเลียงเพื่อส่งเสบียงกรังและยุทธปัจจัย จากแนวหลังสู่ทัพหน้าก็เป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งความไม่ชำนาญในภูมิประเทศและการติดต่อประสานงานระหว่างกองทัพที่ห่างไกลกัน ก็เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้หลายทัพที่เกณฑ์มาจากหัวเมืองประเทศราชของอมรปุระ ขาดศักยภาพในการทำสงครามกับสยาม คือมีแต่ปริมาณแต่ขาดคุณภาพ แต่กระนั้น ปริมาณที่มีศักยภาพในการรบจริง ๆ ของกองทัพพม่า ก็ยังมีจำนวนมากกว่าของฝ่ายกรุงสยามอยู่ดี และทัพเหล่านั้นก็ได้เร่งรุดยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์แล้ว

หลายครั้งที่มีการเล่ากันเพื่อเชิดชูพระเกียรติยศจนเกินจริงที่ว่าศึกนี้เป็นศึกใหญ่ที่ฝ่ายกองทัพพม่าน่ากลัว และได้เปรียบเพราะมีกำลังพลมากกว่าฝ่ายกรุงเทพฯ แต่ในความคิดเห็น ศึกนี้หากวัดกันระหว่างกองทัพและจำนวนไพร่พลที่ปะทะกันจริง ๆ แล้วก็พอ ๆ กัน เพราะทัพใหญ่เกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่เป็นกองหนุนและทัพหลวงของพม่านั้น แทบจะไม่ได้เข้าร่วมรบด้วยเลย

 

มหายุทธสงคราม ๙ ทัพนี้ “กรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ วังหน้าพระยาเสือ” ทรงเป็นผู้พิชิตศึกอย่างแท้จริง เพราะผลจากการรบในยกแรก ทำให้กองทัพใหญ่จำนวนมหาศาลของฝ่ายพม่าติดอยู่ในช่องเขา และต้องเผชิญกับกลศึกมากมายในสงครามกองโจรแบบ"จรยุทธ์" เคลื่อนที่ไปข้างหน้าก็ไม่ได้ เพราะทัพหน้าถูกตรึงอยู่กับที่ มีทางเดียวคือต้องถอยทัพ และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้กองทัพพม่าเรือนแสนไม่มีโอกาสได้เข้าต่อรบ

"สมรภูมิทุ่งลาดหญ้า" จังหวัดกาญจนบุรี ที่ราบกว้างใหญ่ระหว่างแม่น้ำแควใหญ่กับลำน้ำตะเพิน จึงถือเป็นสมรภูมิสำคัญ ที่จะชี้ขาดความเป็นความตายให้กับชาวสยามในสงครามครั้งนี้

ยุทธศาสตร์การสงครามของพระองค์ คือ “การสกัดกั้น” ตรึงกำลังผ่ายศัตรูให้ตั้งมั่นอยู่ในที่เสียเปรียบ และกักกันมิให้กองทัพใหญ่ตามออกมาจากช่องเขาได้ พระองค์จึงเร่งเคลื่อนทัพจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปตั้งค่ายชักปีกกาอุดทางออกของช่องเขาบรรทัดของทุ่งลาดหญ้า ก่อนที่ทัพของพม่าจะมาถึง เพราะถ้ามาถึงได้ก่อน พม่าก็จะสามารถขยายพลรบในที่ราบกว้าง จัดทัพใหม่เก็บเสบียง ทัพหนุนจะตามออกมา กองทัพพม่าจะกลายเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาในทันที !!!

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงได้พระยาเจ่งและกองทัพมอญสวามิภักดิ์ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศเป็นอย่างดีมาช่วยรบ กองทัพสยามตั้งค่ายชักปีกกา ขุดสนามเพลาะ ปักขวากหนาม ตั้งปืนกะระยะยิง และส่งทหารไปร่วมกับทัพมอญขึ้นไปสกัดถ่วงเวลาที่ด่านกรามช้าง

เมื่อกองทัพที่ ๔ ของพม่ายกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเมืองไทรโยคเข้ามาทางเมืองท่ากระดาน ตีด่านกรามช้างแตกอย่างยากลำบาก จึงยกเข้ามาเผชิญกับกองทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่ตั้งค่ายรอรับอยู่แล้ว ฝ่ายพม่าจึงเร่งตั้งค่าย ปลูกหอรบประจันหน้ากับฝ่ายไทยบนเชิงเขา ซึ่งดูจะได้เปรียบด้านความสูงกว่า แล้วนำปืนใหญ่ขึ้นหอสูงยิงถล่มค่ายของฝ่ายสยาม จนยากจะหาที่ปลอดภัยจากกระสุนปืนใหญ่ฝ่ายพม่า ไพร่พลสยามเริ่มเสียขวัญและเริ่มระส่ำระสาย แต่ด้วยความเด็ดขาดของ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่ทรงประกาศว่า หากใครถอยหนีหรือไม่ยอมสู้รบ ให้ลงโทษอย่างหนักโดยจับตัวใส่ครกขนาดใหญ่และโขลกให้ร่างแหลกละเอียด ซึ่งนั่นก็ทำให้ไพร่พลหันหน้ากลับมาฮึดสู้กับฝ่ายพม่าอีกครั้ง

ปืนใหญ่ของฝ่ายพม่าก็ยังระดมยิงใส่ค่ายสยามอย่างรุนแรง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ โดยประยุกต์ปืนใหญ่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทรงให้ตัดไม้ยาวสองศอก เสียบเข้าปลายกระบอกปืนใหญ่แทนลูกกระสุน แล้วยิงใส่ค่ายพม่าจนหอรบปืนใหญ่ของพม่าพังลงมาทั้งหมด

 

ในระหว่างสงครามทรงนำทหารส่วนหนึ่งออกจากค่าย ไปปฏิบัติการสงครามกองโจร "จรยุทธ์" ตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของข้าศึก ซึ่งพระองค์ก็ได้มอบหมายให้ “พระองค์เจ้าขุนเณร” เป็น ผู้คุมกองโจรไปปฏิบัติการ มีหน้าที่ปล้นสดมภ์ขบวนลำเลียงของพม่าที่พุไคร้ ช่องแคบแควน้อย ซึ่งก็สามารถยับยั้งและปล้นสดมภ์ขบวนลำเลียงของพม่าได้สำเร็จ ทำให้ค่ายทัพหน้าพม่าขาดเสบียงอาหารและกระสุนดินดำที่จะยิงต่อสู้กับฝ่ายไทย

เมื่อกองทัพหน้าถูกตรึงอยู่ที่หน้าช่องเขาบรรทัด ทัพที่ ๖ ทัพที่ ๗ ของพม่าที่ยกตามมาก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จึงต้องตั้งทัพอยู่รออยู่ในหุบเขาแม้ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงเองซึ่งเป็นทัพที่ ๘ จะยกเลยด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาแล้ว ก็ต้องหยุดทัพไม่สามารถเดินหน้าต่อเข้ามาได้ อีกทั้งยังขาดแคลนเสบียงอาหารอย่างหนัก แต่ก็ต้องแบ่งเสบียงใช้ช้างบรรทุกข้ามเขาไปให้กองทัพหน้า ก็ยังถูกฝ่ายไทยซุ่มโจมตีตัดการลำเลียงเสบียงอีก จนทหารพม่าโดยเริ่มอดอยาก เจ็บป่วย เป็นไข้ป่าและเริ่มล้มตายไปทีละคน

ขณะที่กองทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สู้รบติดพันอยู่กับพม่าที่ทุ่งลาดหญ้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปริวิตกว่าจะยันทัพพม่าไม่อยู่ จึงได้เสด็จยกทัพหลวงมาถึงทุ่งลาดหญ้า แต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้กราบทูลว่า พม่าอดอยากมากพออยู่แล้ว อย่าทรงวิตกเลย อีกไม่นานก็จะแตกแล้ว ขอให้เร่งเสด็จกลับไปตั้งมั่นที่พระนคร ด้วยเกรงว่าทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางอื่นจะฝ่าด่านเข้ามาได้ จะได้ยกไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที

เมื่อการส่งเสบียงถูกตัดขาดโดยกลศึกสงครามกองโจร จนเกิดความอดอยากและเสียขวัญไปทั่วค่ายพม่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงใช้กลยุทธ์หลอกฝ่ายพม่า โดยให้ทหารลอบออกนอกค่ายในเวลาค่ำคืน แล้วให้ตั้งทัพถือธงทิวเดินเป็นกระบวนกลับมาในตอนเช้า ส่งเสียงสดชื่นอึกทึก ฝ่ายพม่าอยู่บนที่สูงกว่าเห็นกองทัพไทยมีกำลังหนุนเพิ่มเติมมาเสมอ ก็ให้ครั่นคร้ามจนเสียขวัญหนัก เมื่อเหมาะสมแก่เวลา กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ก็ทรงประกาศปลุกขวัญแก่ไพร่ทหารว่า “ พวกเจ้าเป็นไพร่หลวง ข้าเป็นพระราชวงศ์ แต่เจ้ากับข้าเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือเราเป็นคนไทย เป็นเจ้าของแผ่นดินเหมือนกัน รบวันนี้เราจะแสดงให้ผู้รุกรานเห็นว่าเราหวงแหนแผ่นดินแค่ไหน รบวันนี้เราจะไม่กลับมาค่ายนี้อีกจนกว่าจะขับไล่ศัตรูไปพ้นชายแดน ข้าจะไม่ขอให้พวกเจ้ารบเพื่อใคร นอกจากรบเพื่อแผ่นดินของเจ้าเอง แผ่นดินที่เจ้ามอบให้ลูกหลานของเจ้าได้อยู่อาศัยอย่างเป็นสุขสืบไป”

วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๒๘ กองทัพสยามก็เข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่าย พร้อมทั้งใช้ปืนใหญ่ระดมยิงสนับสนุนอย่างหนักตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ทัพหน้าที่ ๔ และทัพที่ ๕ แตกกระเจิงจนหมดทุกค่าย ไพร่พลสยามไล่ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือต่างก็วิ่งหนีกระจัดกระจาย แต่ก็ถูกกองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรเข้าตีซ้ำเติม จับเชลยริบศัสตราวุธกลับมาเป็นจำนวนมาก ในพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "ไทยตีค่ายพม่า แตกที่แนวรบทุ่งลาดหญ้านั้นทหารพม่ากำลังอดอยากอิดโรย ถูกไทยฆ่าตายและจับเป็นเชลยทั้งนายและไพร่พล ประมาณ ๖,๐๐๐ คน"

เมื่อพระเจ้าปดุงทราบว่ากองทัพหน้าแตกพ่ายกลับมาอย่างสะบักสะบอม อีกทั้งเสบียงอาหารก็ขัดสนมาก
ไพร่พลของทัพหนุนก็เป็นไข้ป่าเจ็บป่วยล้มตายกันมาก เห็นควรว่าหากจะนำทัพเข้าต่อรบอีก ขวัญและกำลงใจของกองทัพก็ไม่มีเหลือแล้วจะพาให้ยับย่อยมากกว่านี้ จึงสั่งให้เลิกทัพ ทั้ง ๕ ทัพ ไพร่พลรวมกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ถอยกลับไปเมืองเมาะตะมะเสียในทันที

ส่วนทัพที่ ๒ ของพม่า เมื่อผ่านด่านบ่องตี้ ก็เข้ามาตั้งทัพอยู่ที่เขางูราชบุรี ด้วยขาดการติดต่อจึงไม่รู้ว่าทัพหน้าได้แตกพ่ายไปแล้ว จึงยังคงคุมเชิงอยู่ โดยที่ทัพที่ ๓ ของสยามก็ไม่รู้ข่าวว่าพม่าเข้ามาถึงเขางูแล้ว จนเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ เสร็จจากศึกทุ่งลาดหญ้าแล้วยกทัพหมายช่วยหัวเมืองทางใต้ก็ผ่านมาบังเอิญเข้าปะทะกับทัพพม่าที่เขางูโดยไม่ทันรู้ตัว จึงเกิดการรบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน ทัพที่ ๒ พม่าจึงแตกพ่ายกลับไป

เมื่อนำทัพกลับพระนครได้ ๖ วัน ทรงปรึกษากับพระเชษฐาธิราช แล้วทรงแยกทัพเป็นสองทัพใหญ่ กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกทัพลงมาช่วยเหลือหัวเมืองปักษ์ใต้ที่ถูกพม่ายึดครอง ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกทัพขึ้นหนุนทัพสยามทางภาคเหนือ

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงยกไปตั้งทัพปะทะพม่าที่ไชยา และตีเมืองนครศรีธรรมราช และในที่สุดกองทัพของชาวสยามก็สามารถขับไล่และทำลายกองทัพพม่าที่เหลืออีก ๓ ทัพออกไปจากผืนแผ่นดินไปได้จนสิ้น....“เก้าทัพต้องยับย่อย” ลงแล้ว

ความหมาย “เก้าทัพต้องยับย่อย” จึงไม่ได้หมายถึงเพียง สงครามเก้าทัพที่ฝ่ายพม่าต้องถอยทัพกลับไปทั้ง ๆ กำลังพลยังเหนือกว่ามาก แต่ความยับย่อยในความหมายเริ่มต้นจาก"สมรภูมิทุ่งลาดหญ้า" ที่สร้างความเสื่อมถอยให้กับมหาจักรวรรดิผู้เคยพิชิตกรุงศรีอยุธยาในครั้งต่อ ๆ มา



“ทุ่งลาดหญ้า” ที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงใช้กลศึกและสงครามกองโจร"จรยุทธ์" ตรึง ทัพหน้ากักทัพใหญ่กว่าแสนให้ละลายหายไปในพริบตา ทั้งไพร่พลและขวัญกำลังใจ แม้แต่พระเจ้าปดุงผู้เกรียงไกรยังต้องถอนทัพกลับไปอย่างอดสู ราชวงศ์คองบองสิ้นความอหังการ เสื่อมพระเกียรติยศแห่งราชาเหนือราชา จนต้องหันไปพึ่งพระพุทธศาสนา ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้พระเจ้าปดุงเข้าใจในโลกแห่งความเป็นจริง นอกจากการสร้างตนเป็นราชาเหนือพระพุทธเจ้าและราชาเหนือโลกในฐานะพระโพธิสัตว์เท่านั้น

ซึ่งนั่นก็ได้นำไปสู่ "ความยับย่อย"ของพม่า เมื่อไม่สามารถเอาชนะใจประเทศราชและแว่นแคว้นที่เคยยึดครอง ปวงประชาราษฎร์ของพม่าก็เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

"เก้าทัพต้องยับย่อย" คือจุดเริ่มต้นที่ไปสู่การย่อยยับในเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของพระเจ้าปดุง พ่วงไปถึงความเสื่อมถอยของพม่าในทุก ๆ ด้าน ถือเป็นสัญญาณครั้งสำคัญของจุดเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดราชวงศ์คองบองในเวลาต่อมา

พระเจ้าปดุง เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. ๒๓๖๒ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๒ ของราชอาณาจักรสยาม รวมระยะเวลาการครองราชย์นานถึง ๓๗ ปี !!!


สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าพระยาเสือ) ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” เพื่อเป็นพุทธบูชาในการพระราชสงครามที่พระองค์ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง ๓ ครั้ง ทั้งในสงครามเก้าทัพ ปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ศึกท่าดินแดงและสามสบ ปี พ.ศ. ๒๓๒๙ และสงครามที่นครลำปางป่าซาง ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ และได้โปรดให้บรรจุพระเนื้อดินดิบ"วัดชนะสงคราม" ไว้ในกรุพระเจดีย์เพื่อถวายเป็นเครื่องพุทธบูชาหลังจากที่ต้องสังเวยชีวิตผู้คนมากมายเพื่อปกปักษ์รักษาแผ่นดินเอาไว้

 

 

 


Credit: http://atcloud.com/stories/100080
#สงคราม
Messenger56
1st Asst. Director
สมาชิก VIPสมาชิก VIP
30 ก.ย. 54 เวลา 09:54 8,358 13 200
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...