ความเชื่อผิด ๆ ที่ต้องทิ้งวันนี้

ความเชื่อมากมายที่บอกว่า "ทำอย่างนี้สิ เดี๋ยวจะผอมนะ" มันจริง ไม่จริงอย่างไร ?

      1. ถ้าอยากลดน้ำหนักจำเป็นจะต้องทนหิว

          การลดน้ำหนักโดยการอดอาหารมักจะไม่ได้ผลในระยะยาว อันที่จริงแล้วมันอาจนำไปสู่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างถาวรด้วยซ้ำ ปัญหาก็คือการไดเอ็ตลักษณะนี้ มักจะเป็นไปได้ยากที่จะทำต่อเนื่อง ร่างกายของคุณจะมีพลังงานขับเคลื่อนน้อย ทำให้คุณกระหายอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลสูง เมื่อคุณตัดสินใจกินของเหล่านั้น คุณก็จะลงเอยกับแคลอรีส่วนเกินและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

     2. การออกกำลังอย่างหนักเท่านั้นที่จะช่วยลดน้ำหนักได้

          ไม่จริงเลย การลดน้ำหนักที่เป็นไปได้จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณสามารถทำได้ในระยะยาวมากกว่า ซึ่งหมายถึงการออกกำลัง หรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างน้อย ๆ คุณควรออกกำลังกายวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ

          ทั้งนี้ ใน 30 นาที ก็อาจแบ่งเป็น 10 นาทีเดินเร็ว อีก 20 นาทีว่ายน้ำ ในการลดน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ คุณจะต้องสร้างแบบแผนการใช้แคลอรีมากกว่าที่ได้รับ 500 แคลอรีต่อวัน อาจจะด้วยการกินให้น้อยลง เคลื่อนไหวให้มากขึ้น หรือจะทำทั้งสองอย่างรวมกันก็ได้

     3. ยาลดความอ้วนใช้ได้ดีกับการลดน้ำหนักระยะยาว

        ไม่เลย ยาลดความอ้วนจะไม่ช่วยให้คุณรักษาน้ำหนักที่ลดลงไปได้ และคุณควรใช้เมื่ออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

     4. อาหาร "ไขมันต่ำ" หรือ "ไม่มีไขมัน" มักจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

          ระแวงเอาไว้ก่อน ฉลากอาหารที่เขียนว่า "ไขมันต่ำ" จะต้องได้มาตรฐานตามที่ถูกกำหนดไว้ หากบนกล่องสินค้าเขียนเอาไว้ว่า "ลดปริมาณไขมัน", "ลดน้ำมัน" (Reduced Fat) อาจจะทำให้คุณเข้าใจผิด เพราะ "ลดปริมาณ" เพียงแต่หมายความว่ามีไขมันน้อยลง ไม่ได้บ่งบอกว่ามันดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น และอาจยังมีไขมันอยู่เต็มไปหมด และบางครั้งก็อาจมีน้ำตาลสูงด้วยเช่นกัน

     5. คาร์โบไฮเดรตทำให้น้ำหนักขึ้น

         เมื่อกินในปริมาณที่พอเหมาะ คาร์โบไฮเดรตจะไม่ทำให้น้ำหนักขึ้น ในปี 2003 การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ชี้ว่า คนที่ลดน้ำหนักด้วยวิธีการลดคาร์โบไฮเดรต (หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Atkins Diet") ไม่ได้ลดน้ำหนักเพราะลดแป้ง แต่เป็นเพราะปริมาณอาหารโดยรวมลดลงต่างหาก เวลาที่คุณลดน้ำหนัก ควรเลือกกินอาหารจำพวกธัญพืชหรือข้าวกล้อง และอย่าผัด หรือทอดอาหารจำพวกแป้ง

     6. การดื่มน้ำช่วยให้ลดน้ำหนักได้

        น้ำไม่ใช่ยาลดความอ้วน แต่มันช่วยให้ร่างกายของคุณชุ่มชื้นและอาจทำให้คุณกินของว่างน้อยลง โดยรวมแล้วน้ำมีความสำคัญมากต่อสุขภาพที่ดี บางครั้งเราอาจสับสนระหว่างความกระหายน้ำกับความหิว หากคุณกระหายน้ำคุณอาจจะกินมากขึ้น ดังนั้น จงอย่าได้ลืมดื่มน้ำประมาณ 2 ลิตรต่อวันเด็ดขาด

     7. การไม่กินบางมื้อช่วยให้น้ำหนักลด

         การอดมื้อกินมื้อไม่ใช่ความคิดที่ดีเลย เพื่อลดน้ำหนักให้ได้อย่างถาวร คุณจะต้องลดปริมาณแคลอรีที่กินเข้าไป หรือเผาผลาญแคลอรีให้มากขึ้น ผ่านทางการออกกำลัง แต่การไม่กินบางมื้อ อาจทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลียเนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และอาจกลับไปสู่การกินอาหารไขมันกับน้ำตาลสูงด้วย

     8. มาร์การีนมีไขมันน้อยกว่าเนย

          ทั้งสองอย่างมีไขมันคนละชนิดกัน มาร์การีนมักจะมีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าเนย แต่มักจะมีไขมันทรานส์ หรือ Hydrogenated Fat ซึ่งอาจจะไม่ทำให้คุณอ้วน แต่อันตรายต่อสุขภาพและหัวใจยิ่งว่าไขมันอิ่มตัวเสียอีกในการลดน้ำหนักคุณ จึงต้องลดทั้งไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ซึ่งทำได้ด้วยการอ่านฉลากก่อนซื้ออาหารทุกครั้ง

     9. ถ้าเราไม่กินขนม เราจะผอมลง

           การกินขนมไม่ใช่ปัญหาเวลาที่ต้องการลดน้ำหนัก เป็นประเภทของขนมที่กินต่างหาก หลายคนต้องกินของว่างในระหว่างมื้อเพื่อให้ตัวเองมีพลังงานอยู่เสมอ โดยเฉพาะถ้ามีไลฟ์สไตล์ที่ต้องกระฉับกระเฉง แต่คุณควรจะเลือกผักหรือผลไม้แทนขนมนมเนยของกรุบกรอบ หรือช็อกโกแลตที่มีน้ำตาลกับไขมันอิ่มตัวสูงดีกว่า


Credit: lisa, teenee.com
27 ก.ย. 54 เวลา 19:03 2,033 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...