ลักษณะคำไทยแท้
๑.คำไทยแท้ส่วนมากมีพยางค์เดียว ไม่ว่าจะเป็นคำนาม สรรพนาม วิเศษณ์ บุพบท สันธาน อุทาน ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าภาษาคำโดด เช่น ลุง ป้า น้า อา กา ไก่ ฯลฯ มีคำไทยแท้หลายคำที่มีหลายพยางค์ เช่น มะม่วง สะใภ้ ตะวัน กระโดด มะพร้าว ทั้งนี้เพราะสาเหตุที่เกิดจาก
๑.๑ การกร่อนเสียง คำ ๒ พยางค์เมื่อพูดเร็วๆ เข้า คำแรกจะกร่อนลง เช่น
มะม่วง - หมากม่วง
ตะคร้อ – ต้นคร้อ
สะดือ - สายดือ
มะตูม - หมากตูม
๑.๒ การแทรกเสียง คือคำ ๒ พยางค์เรียงกันแล้วมีเสียงแทรกตรงกลาง เช่น
ลูกกระดุม - ลูกดุม
ผักกระถิน - ผักถิน
นกกระจอก - นกจอก
ลูกกระเดือก - ลูกเดือก
๑.๓ การเติมพยางค์หน้าคำมูลโดยเติมคำให้มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น
จุ๋มจิ๋ม - กระจุ๋มกระจิ๋ม
เดี๋ยว - ประเดี๋ยว
ท้วง - ประท้วง
ทำ - กระทำ
๒. คำไทยแท้ไม่มีตัวการันต์ ไม่นิยมคำควบกล้ำแต่มีเสียงควบกล้ำอยู่บ้างเป็นการควบกล้ำด้วย ร,ล,ว และมีตัวสะกดตรงตามมาตรา เช่น เชย สาว จิก กัด ฯลฯ
๓. คำไทยแท้มีวรรณยุกต์ทั้งมีรูปและไม่มีรูป เพื่อแสดงความหมาย เช่น ฉันอ่านข่าวเรื่องข้าว
๔. การเรียงคำในภาษาไทยสับที่กันทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น
ใจน้อย - น้อยใจ
กลัวไม่จริง - จริงไม่กลัว
๕. คำไทยจะใช้รูป “ไอ” กับ “ใอ” จะไม่ใช้รูป “อัย” เลย และจะไม่พบพยัญชนะต่อ ไปนี้ ฆ ณ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ธ ศ ษ ฬ ยกเว้นคำบางคำที่เป็นคำไทย คือ ฆ่า เฆี่ยน ศึก ศอก เศิก เศร้า ธ ณ ฯพณฯ ใหญ่ หญ้า เป็นต้น
คำไทยแท้มีตัวสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด มาตราตัวสะกดมี 8 มาตรา คำไทยจะสะกดตรงตามมาตราตัวสะกดและไม่มีการันต์ เช่น
มาตราแม่กก ใช้ ก สะกด เช่น มาก จาก นก จิก รัก
มาตราแม่กด ใช้ ด สะกด เช่น กัด ตัด ลด ปิด พูด
มาตราแม่กบ ใช้ บ สะกด เช่น จับ จบ รับ พบ ลอบ
มาตราแม่กน ใช้ น สะกด เช่น ขึ้น อ้วน รุ่น นอน กิน
มาตราแม่กง ใช้ ง สะกด เช่น ลง ล่าง อ่าง จง พุ่ง แรง
มาตราแม่กม ใช้ ม สะกด เช่น ลาม ริม เรียม ซ้อม ยอม
มาตราแม่เกย ใช้ ย สะกด เช่น ยาย โรย เลย รวย เฉย
มาตราแม่เกอว ใช้ ว สะกด เช่น ดาว เคียว ข้าว เรียว เร็ว
คำที่มีมาตราตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด จะเป็นคำที่เป็นภาษาอื่นที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
บ้านรักไทยดอทคอม พระสมุทรเจดีย์ แหล่งเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม