รศ. วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ
เมื่อพูดถึงจังหวัดบุรีรัมย์ หลายคนจะนึกถึงปราสาทหินพนมรุ้ง และก็จะนึกเลยไปถึงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ด้วย ทั้งนี้เพราะปราสาทหินพนมรุ้ง นอกจากจะมีความสง่างาม เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจของคนที่ได้ไปชมมาแล้ว ยังมีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เพราะทับหลังดังกล่าว ได้ไปปรากฏโฉมถึงเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่มีใครทราบว่า ข้ามน้ำข้ามทะเลไปได้อย่างไร และที่สำคัญก็คือ ได้มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แม้กระทั่งนักเรียนโรงเรียนบ้านสวายจีก โรงเรียนบ้านบัว และอีกหลายโรงเรียน ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีส่วนร่วมในการเรียกร้องขอทับหลังดังกล่าวคืน เพื่อนำมาติดตั้งไว้ยังที่เดิม การเรียกร้องทับหลังชิ้นนี้ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นเมื่อใครไปเที่ยวชมปราสาทหินพนมรุ้ง จึงต้องพากันไปดูทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ให้ได้
ทับหลัง คือแผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางทับอยู่บนกรอบประตูทางเข้าปราสาท ในศาสนสถานแบบขอมที่สร้างด้วยหิน ทับหลังนอกจากจะเป็นส่วนช่วยเสาประตูรับน้ำหนักโครงสร้างส่วนบนแล้ว ยังช่วยลดขนาดความสูง ความกว้างของประตูทางเข้า ซึ่งมีผลต่อการรับน้ำหนัก และยังเป็นส่วนประดับตกแต่งที่สำคัญของประตูทางเข้าอีกด้วย ดังนั้น ทับหลังจึงได้รับการแกะสลักเป็นลวดลายและเรื่องราวต่างๆเพื่อสื่อความหมาย ตามที่ต้องการอย่างงดงาม และจากลวดลายและเรื่องราวที่แกะสลักบนทับหลังนี้เอง ได้เป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาค้นคว้าหาวิวัฒนาการของลวดลายเหล่านั้น จนสามารถนำมาใช้กำหนดอายุโบราณสถานขอมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ทับหลังแกะสลักเรื่องนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประดับอยู่ที่ประตูทางเข้ามณฑปปราสาทประธาน ด้านทิศตะวันออก ปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ แกะสลักเป็นภาพพระวิษณุหรือพระนารายณ์ สี่กร บรรทมตะแคงขวา บนหลังพญาอนันตนาคราชซึ่งทอดตัวอยู่บนหลังมังกร พระหัตถ์ขวาหน้ารองรับพระเศียร พระหัตถ์ขวาหลังทรงถือจักร พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือคทา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือสังข์ (?)ที่ปลายพระบาทของพระนารายณ์ เป็นภาพพระนางลักษมีชายาของพระองค์ เหนือองค์พระนารายณ์ แกะสลักเป็นรูปดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาจากพระนาภีองค์พระนารายณ์ ภายในดอกบัวแกะสลักเป็นรูปพระพรหม สี่พักตร์ สี่กร พระหัตถ์ทั้งสี่ไม่สามารถระบุได้ว่าทรงถืออะไร ภาพทั้งหมดจัดไว้กึ่งกลางทับหลัง ส่วนด้านซ้ายและด้านขวาทำเป็นรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย เหนือขึ้นไปเป็นรูปครุฑ ข้างครุฑเป็นภาพนกหัสดีลิงค์คาบช้าง และภาพลิงอุ้มลูก ส่วนด้านใต้หน้ากาลเป็นภาพนกแก้ว 2 ตัว การออกแบบลวดลายและการแกะสลักประณีต จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นทับหลังที่งดงามที่สุดในประเทศไทย
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธ์ุ หรือเรื่องของการสร้างโลก เป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตามคัมภีย์วราหะปุรณะ ได้ให้ความสำคัญกับพระนารายณ์ ว่าเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ ในขณะที่พระองค์บรรทมหลับอยู่ที่เกษียรสมุทร หรือทะเลน้ำนม ได้มีดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี บนดอกบัวนั้นได้บังเกิดพระพรหมขึ้น และพระพรหมทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์และสิ่งต่างๆต่อไป
การบรรทมของพระนารายณ์ คือการบรรทมในช่วงการสร้างโลก การกำหนดอายุของจักรวาลตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุด เรียกว่า หนึ่งกัลป์ อันหมายถึงหนึ่งวันของพระพรหม ซึ่งเมื่อตื่นขึ้นในตอนเช้าก็จะสร้างสรรพสิ่งต่างๆตลอดทั้งวันถึงเย็น เหตุการณ์เช่นนี้จะวนเวียนไปจนครบ 100 ปีของพระพรหม จากนั้นโลกทั้งสามตลอดจนเทพเจ้าต่างๆ รวมถึงพระพรหมจะถูกทำลายลง และพระพรหมองค์ใหม่ซึ่งจะบังเกิดขึ้นและสร้างโลกต่อไป
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2507 – 2508 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ได้หายไปจากปราสาทหินพนมรุ้ง กรมศิลปากรได้พยายามค้นหา จนเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2508 ได้ไปพบชิ้นส่วนด้านซ้ายของทับหลัง ซึ่งสูญหายไปก่อนหน้านี้แล้ว ที่ร้านค้าของเก่า Capital Antique แถวราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร และได้ยึดไว้
ตามหลักฐานภาพถ่ายในจดหมายเหตุการเสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2472 ทับหลังชิ้นนี้ตกลงมาจากกรอบประตูมณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน และแตกหักออกเป็น 2 ท่อน คือส่วนด้านซ้ายหักหายไป เหลือแต่ส่วนกลาง และส่วนที่เป็นลวดลายด้านขวา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ดร. ไฮแรม วูดเวิร์ด จูเนียร์ (Hiram W.Woodword Jr.) อดีตอาสาสมัครสันติภาพ ที่เคยสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ไปพบทับหลังนารายณ์บรรทม สินธุ์ชิ้นนี้ ที่สถาบันศิลปะ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (The Art Institute of Chicago) และทรงมีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมศิลปากรอย่างเป็นทางการว่าควรจะขอกลับคืน
ปรากฏว่าส่วนลวดลายขอบด้านขวาของทับหลังถูกกระเทาะออกไปครึ่งหนึ่ง ทับหลังดังกล่าวเป็นสมบัติของนายเจมส์ อัลสดอร์ฟ (Jeames Alsdorf) มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน
ตั้งแต่นั้นมา กรมศิลปากรได้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อจะนำทับหลังชิ้นดังกล่าวกลับคืนมาให้ ได้ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2531 ขณะที่การบูรณะปราสาทหินพนมรุ้งใกล้จะเสร็จเรียบร้อย
มีการรื้อฟื้นเรื่องการขอคืนทับหลังขึ้นมาใหม่ ซึ่งครั้งนี้ได้รณรงค์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในกรุงเทพมหานคร ต่างจังหวัด ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในนครชิคาโกรวมทั้งชาวอเมริกันและชาติอื่นๆได้ให้การสนับ สนุน
สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ และมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ครั้งนี้ โดยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 ชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีรองศาสตราจารย์วันชัย วัฒนกุล อธิการวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ เป็นประธาน อาจารย์เทียนชัย ให้ศิริกุล และ ผศ. วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ เป็น เลขาฯ ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้าประชาชน และนักเรียนนักศึกษา กว่า 15,000 คนได้ชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องขอทับหลังคืน โดยทำหนังสือถึงเอกอักคราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายพร อุดมพงษ์ จากนั้นมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จากหลายๆฝ่าย
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2531 สถาบันศิลปะ นครชิคาโก ได้ส่งทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กลับคืนสู่ประเทศไทย ในพระนามของศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ทับหลังจะถึงสนามบินดอนเมืองในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 โดยสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 พล.อ. มานะ รัตนโกเศศ ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับมอบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จาก ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ณ สนามบินดอนเมือง ในวันนั้น ได้มีประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ไปต้อนรับที่สนามบินอย่างเนืองแน่น กรมศิลปากรได้นำทับหลังไปจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปชื่นชมความงามก่อน ที่ศาลามุขมาตย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จากนั้นจะนำกลับไปประดิษฐานไว้ยังที่เดิม
วันที่ 2 ธันวาคม 2531 ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ รัตนกุล ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ได้ส่งมอบทับหลังให้กับ นายพร อุดมพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายสุชิน คชินธร นายอำเภอนางรอง และนายสามารถ ทรัพย์เย็น หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จากนั้นได้นำทับหลังกลับไปติดตั้งไว้ยังที่เดิมเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531 เวลา 09.09 น
.
และเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ ในพิธีนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
10 ปี ต่อมาได้เกิดข้อสงสัยจากทั้งนักวิชาการและประชาชนทั่วไปว่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ได้กลับคืนมานั้น น่าจะไม่ใช่ของจริง ซึ่ง รองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องทับหลังชิ้นนี้ว่า มีนักโบราณคดีหลายคน รวมทั้งท่านด้วย ที่ไม่ค่อยมั่นใจกับทับหลังที่ได้มา เพราะทับหลังนั้นจำลองหรือปลอมกันง่าย (The Sunday Nation. 11 ,8. 41.)
เรื่องการปลอมหรือการจำลองทับหลังนั้น พงศ์ธันว์ บรรทม และ สหวัฒน์ แน่นหนา (กรมศิลปากร. 2542 : 108) จากสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ”ตามข้อเท็จจริงแล้วโบราณสถานประเภทหินในเขตอีสานล่าง ซึ่งสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา รับผิดชอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทพิมาย เรามิได้ทำปลอมเฉพาะทับหลัง หากปลอมกันตั้งแต่ ฐาน ผนัง เสาประดับกรอบประตู หน้าบันกันทีเดียว การทำปลอมเพื่อเอาไปประกอบเป็นอาคาร เป็นสิ่งที่ผู้ปฎิบัติแต่ละฝ่ายต้องการหลีกเลี่ยง แต่จำเป็นต้องปฏิบัติด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ทดแทนหินเก่าที่เสื่อมสภาพซึ่งอยู่ในบริเวณที่ต้องรับน้ำหนักจากส่วนบน ทดแทนส่วนที่หักหายไปและต้องนำกลับมาประกอบ เช่น เสาประดับกรอบประตู หรือเหตุผลเพื่อการอนุรักษ์ซึ่งเราทราบรูปแบบเดิมอยู่แล้ว” จากทัศนะดังกล่าว ได้สร้างความมั่นใจให้แก่ฝ่ายที่คิดว่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ น่าจะเป็นของปลอมมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น จึงได้มีการเรียกร้องให้กรมศิลปากร พิสูจน์ว่าทับหลังชิ้นนี้ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม ซึ่งกรมศิลปากรก็ยืนยันว่า เป็นของจริงแท้อย่างแน่นอน ได้ทำการพิสูจน์เรียบร้อยแล้ว ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์กันอีก
นอกจากนั้นยังมีข้อเคลือบแคลงต่อไปอีกว่าการส่งมอบทับหลังชิิ้นนี้ เป็นการส่งมอบนอกระบบ จึงสงสัยว่า มีข้อตกลงกันอย่างไร รัฐต้องเอาโบราณวัตถุอะไรไปแลกเปลี่ยน หรือเสียเงินเสียทองไปมากน้อยเแค่ไหน “เพราะครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลไทยได้รับพระพุทธรูปโบราณ : หลวงพ่อศิลา กลับคืนมานั้น ต้องหาผู้บริจาคเงินเป็นจำนวนสูงถึง 5 ล้านบาท เพื่อให้บรรลุข้อตกลง” (สมประสงค์ พระสุจันทร์ทิพย์.2543 : 31) และเรื่องนี้ยังไม่มีการพูดถึง
แต่อย่างไรก็ตาม จากที่ได้พิจาณาทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ อย่างใกล้ชิด มีข้อน่าสังเกตหลายประการดังนี้
1. ถ้าหากดูทับหลังชิ้นนี้อย่างพินิจแล้ว คงจะสังเกตได้โดยง่ายว่า สีของทับหลังค่อนข้างซีด และลวดลายดูลบเลือน ไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับสีและลวดลายของส่วนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น หน้าบันหรือเสากรอบประตู เป็นต้น
2. ปรากฏว่าทับหลังชิ้นนี้มีรูพรุนมาก ในขณะที่ส่วนอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงกันไม่มี ผู้เขียนได้สอบถาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จุมพล วิเชียรศิลป์ อาจารย์สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหิน ท่านกล่าวว่า หินทรายที่ใช้สร้างปราสาทในภาคอีสานนั้น เป็นหินกลุ่มโคราช ส่วนใหญ่เป็นหินตะกอนสีน้ำตาลปนแดง มีหลายหมวด หมวดที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่การนำมาสร้างปราสาท มี 2 หมวด คือ หมวดหินพระวิหาร ประกอบด้วยหินทรายสีขาวเป็นชั้นหนา และมีการเรียงตัวชั้นเฉียงระดับ (Cross bedding) อันเป็นลักษณะเด่นของหินหมวดนี้ เกิดจากการสะสมตะกอนตามแนวลำน้ำที่ประสานสายกัน เรียกว่า “ธารประสานสาย” มีอายุประมาณตอนกลางยุคจูแรสสิค หินทรายหมวดนี้มีความรุนแรงและแข็งแกร่งดีมาก จึงนิยมใช้เป็นหินในการก่อสร้างปราสาท และหมวดหินพูพาน ประกอบด้วยหินกรวดมนและหินทรายสีขาวเทาอ่อน และน้ำตาลอ่อนปนเหลือง เกิดจากการสะสมของตะกอนในบริเวณธารประสานสาย คล้ายกับหมวดพระวิหาร ดังนั้นลักษณะหินและความแข็งแรงจึงคล้ายคลึงกัน และนิยมนำมาสร้างปราสาท เช่นกัน ดังนั้น การเกิดรูพรุนของทับหลัง คงจะต้องพิจารณาลักษณะของหิน และลักษณะของรูพรุนด้วย
3. จากการเปรียบเทียบภาพ Slide ที่ถ่ายเมื่อทับหลังชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก สีมีลักษณะค่อนข้างดำคล้ำ แตกต่างจากภาพถ่ายทับหลังของกรมศิลปากรที่ถ่ายเมื่อได้ทับหลังกลับคืนมา ก่อนที่จะนำไปติดตั้งที่องค์ปราสาท จากข้อแตกต่างดังกล่าว อาจสันนิษฐานไว้เป็นเบื้องต้นได้ว่า น่าจะมีการทำความสะอาดทับหลังนี้ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก่อนที่จะนำไปติด ตั้ง คำถามก็คือว่า ใครเป็นคนทำ และทำเพื่ออะไร
4. จากรูปถ่ายทับหลังนารายณ์บรรทมสินธ์ุนั้น ปรากฏว่ามีไลเคนส์ ซึ่ง จิราภรณ์ อรัญยะนาค ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร (สยามรัฐรายวัน 4 มิย. 42) กล่าวไว้ว่า “ไลเคนส์ (Lichens) หรือจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากสาหร่ายและราอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างช่วย เหลือซึ่งกันและกัน โดยสาหร่ายทำหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหาร ส่วนราทำหน้าที่ดูดน้ำ อาหารและแร่ธาตุ เก็บรักษาความชุ่มชื้นและเป็นฐานให้สาหร่ายได้เกาะยึด ไลเคนส์ ที่พบบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์นั้น เป็น ไลเคนส์
ประเภท Crustose Lichen มีรูปร่างเป็นแผ่น ทัลลัส เกาะติดแน่นกับเนื้อหิน ไลเคนส์ชนิดนี้สร้างกรดอินทรีย์บางชนิดออกมาทำปฏิกริยากับเนื้อหินแล้วเกิด สารประกอบที่ไม่ละลายน้ำเกาะติดแน่นคล้ายปูนอยู่บนผิวของหิน”
รูปรอยของไลเคนส์ในภาพถ่ายทับหลังนารายณ์บรรทมสินธ์ุ ที่ถ่ายเมื่อยังอยู่ที่ปราสาท และในภาพถ่ายใหม่เมื่อได้ทับหลังกลับคืนมานั้น ส่วนใหญ่มีรูปรอยลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่น่าเสียดายที่รูปรอยไลเคนส์บนทับหลังที่ติดตั้งอยู่ที่ปราสาทในปัจจุบัน นั้น ได้ลบเลือนไปเป็นอันมาก จนทำให้ยากต่อการศึกษาเปรียบเทียบและวินิจฉัยให้ชัดเจนได้อย่างมั่นใจ
5. ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นทับหลังของประตูมณฑปปราสาทประธานทางด้านทิศตะวันออก อันเป็นด้านหน้า ถือได้ว่าเป็นทับหลังชิ้นสำคัญ ดังนั้น หินที่จะใช้สำหรับแกะสลัก คงจะต้องได้รับการเลือกสรรอย่างดีและพิถีพิถัน คงจะไม่ใช้หินที่มีคุณภาพต่ำอย่างนี้
6. เนื่องจากทับหลังชิ้นนี้แตกชำรุด จนไม่สามารถนำไปติดตั้งในลักษณะเดิมได้ เป็นศิลปวัตถุชิ้นสำคัญ (Master piece) การนำไปติดตั้งน่าจะใช้เทคโนโลยี หรือภูมิปัญญามากกว่านี้ การนำไปติดตั้งโดยเอาไปติดกับแผ่นปูนซีเมนต์อย่างที่ทำไว้นั้น ได้ทำลายคุณค่าของงานศิลปะดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดาย
จากการที่ประเทศของเรามีโบราณวัตถุสถานเป็นจำนวนมาก มีหน่วยงานของรัฐ คือ กรมศิลปากร ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว มีขนาดเล็ก มีบุคลากรจำกัด ดูแลได้ไม่ทั่วถึง จึงปรากฏว่าโบราณวัตถุถูกโจรกรรม หรือกะเทาะส่วนสำคัญไปจากโบราณถาน ไปอยู่ตามบ้านนักสะสมโบราณวัตถุ ร้านค้าของเก่า หรือลักลอบนำออกนอกประเทศ ปรากฏอยู่ตามพิพิธภัณฑสถานในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การเรียกร้องขอคืนก็เป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็น แต่ก็ต้องทำ ส่วนประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า เราจะป้องกันการลักลอบนำโบราณวัตถุออกนอกประเทศได้อย่างไร การป้องกันน่าจะง่ายกว่าการขอคืน แต่ก็ยังทำกันไม่ได้ ซึ่ง สมประสงค์ พระสุจันทร์ทิพย์ (์.2543 : 2) ระบุว่า “สาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเสียหายทั้งหมด เป็นผลมาจากความหย่อนยาน และ การร่วมมือกันทุจริต ต่อความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล ได้ร่วมแรงร่วมใจสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกัน จนสามารถเรียกร้องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนมาได้นั้น เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นนิมิตหมายอันดี ในการสร้างแบบอย่างให้แก่อนุชนรุ่งหลังในการดูแลรักษา รักและหวงแหนสมบัติทางวัฒนธรรม ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติมาแต่อดีตเป็นเวลายาวนาน ให้คงอยู่ตลอดไป
ส่วนข้อสงสัยต่างๆที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติของการศึกษา ค้นคว้า เป็นเรื่องของการเรียนรู้ การใช้ความร่วมมือร่วมใจสมัครสมานสามัคคีกัน หาวิธีอธิบาย ชี้แจง หรือตรวจสอบหาความกระจ่าง เพื่อขจัดความเคลือบแคลงสงสัย ก็อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า คนไทยมีสิทธิรักและห่วงแหนสมบัติทางวํฒนธรรมของชาติทุกคนและเท่าเทียมกัน
บรรณานุกรม
จิราภรณ์ อรัญยะนาค. หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน. 4 มิย. 2542.
วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ.พจนะ-สารานุกรมศิลปะไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา.สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์.2542.
ศิลปากร,กรม.การตรวจพิสูจน์ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง. อมรินทร์พริ้นติ้ง
แอนด์ พับลิชชิ่ง.2542.
ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม. The Sunday Nation. 11 ,8. 2541.
สมิทธิ ศิริภัทร์ และ มยุรี วีระประเสริฐ.ทับหลัง การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและ
ประเทศกัมพูชา.กรมศิลปากร.1990.
สมประสงค์ พระสุจันทร์ทิพย์.เจาะเส้นทางขบวนการค้าโบราณวัตถุ.ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์.2543.
สรเชต วรคามวิชัย.ปราสาทหินพนมรุ้ง.ชมรมอีสานใต้ศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์.เรวัตการพิมพ์.2530.
……………………………ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์.เรวัตการพิมพ์.2531.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์.ปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย.สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2.2535.
ขอขอบคุณทุกๆ ข้อมูล