การที่บุคคลในแวดวงใดแวดวงหนึ่งจะได้รับสมญาว่า "คิง" นั้นคงไม่ได้มาง่ายๆ
ข้อแรกคงไม่มีใครอุปโลกตัวเองขึ้นมา ประการต่อมาความเป็นเลิศในทักษะด้านนั้นๆ
ต้องได้รับการยอมรับจากคนในสาขาเดียวกันอย่างค่อนข้างเป็นฉันทามติ
แหลม มอริสัน (พิชัย นวลแจ่ม) ก็เช่นกันตำแหน่ง "กีต้าร์คิง" ที่ได้รับการขนานนาม
มาเป็นระยะยาวนานกว่า 2 ทศวรรษนั้น มีที่มาจากการที่แหลมเข้าร่วมประกวดการแข่งขัน
มือกีต้าร์ที่ประเทศเยอรมันในปี 2523 ในรายการ Music Talent มีนักกีต้าร์หลายๆชาติเข้า
ร่วม และแน่นอนเขาชนะเลิศในรายการดังกล่าว
ย้อนกลับไปในปี 2511 วง วี.ไอ.พี. ก่อตั้งขึ้นโดย นิวัฒน์ กองแก้ว (เบส) โดยมี แหลม
เข้าร่วมในตำแหน่งกีต้าร์ลีด, วิน คัมภีร์ (ออร์แกน) และ เอกมันต์ โพธิ์พันทอง (กลอง)
แหลมหัดเล่นกีต้าร์เมื่ออายุ 16 ปี โดยเริ่มเล่นคอร์ด จากนั้นก็หันไปจับเบส และ ร้องอยู่ระยะ
หนึ่ง ก่อนที่จะทุ่มเทให้กับการเล่นลีดอย่างจริงจัง ถึงมาเข้าร่วม วี.ไอ.พี.
วง วี.ไอ.พี. ก็เหมือนกับวงดนตรีอาชีพหลายๆวงในยุคนั้นคือตระเวนเล่นในแคมป์ทหารจี.ไอ.
ในช่วงสงครามเวียตนาม ที่มาปักหลักอยู่ที่ สัตหีบ โคราช หรือ อุดร รสนิยมในการฟังเพลง
ของทหารอเมริกันในแคมป์ไม่ได้ฟังแนวป๊อปหวานแหวน เพลงที่ฟังส่วนใหญ่ จะเป็นดนตรีฮาร์ดร็อค
ในยุคนั้นนิยมเรียกันว่าเพลงอันเดอร์กราวนด์ เพลงที่ วี.ไอ.พี. เล่นส่วนใหญ่เป็นของ The Doors
Deep Purple, Steppenwolf และ Blue Cheer เป็นต้น
วี.ไอ.พี. จัดได้ว่ามีความโดดเด่นกว่าวงรุ่นเดียวกันเป็นอย่างมาก อุดรเป็นจังหวัดที่ วี.ไอ.พี.
ลงหลักปักฐาน สั่งสมชื่อเสียง ประสบการณ์ และรายได้จากที่นี่ นอกจากฝีมือการเล่นที่สุด
เฉียบขาดแล้ว วี.ไอ.พี. เป็นวงดนตรีที่ไม่ยอมแต่งตัวเหมือนกันในการแสดง ซึ่งแตกต่างไปจาก
วงในยุคนั้นที่ต้องแต่งกายเหมือนกัน ปี 2515 รายการ ป๊อปออนสเต็จ (ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อ
เป็นรายการโลกดนตรี) โดย เทิ่ง สติเฟื่อง กล่อมให้ วี.ไอ.พี. ออกแสดงสดในรายการได้สำเร็จ
โดยที่สมาชิกของวงยอมแต่งตัวเหมือนกันเล่นโชว์ในทีวีอีกต่างหาก มีเรื่องเล่าว่ามีอยู่ปีหนึ่งที่
งานแสดงดนตรี ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร วง วี.ไอ.พี. มีคิวขึ้นเล่นแสดง ทางวงจุดอารมณ์ร่วมของ
ผู้ชมจนถึงจุดพีคสุด จน ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ซึ่งต้องขึ้นเล่นเป็นคิวถัดไปถึงกับถอยทัพ เพราะไม่
อยากขึ้นไปฆ่าตัวตายบนเวที
2517 วี.ไอ.พี. ได้รับการว่าจ้างไปเล่นประจำที่เยอรมัน แหลม มอริสัน เล่นดนตรีอาชีพอยู่ที่
ต่างประเทศร่วม 10 ปี ถึงปี 2527 ประเทศสุดท้ายที่เล่นประจำคือนอร์เวย์ โดยระหว่างช่วงระยะ
เวลาดังกล่าวก็กลับมาพักผ่อนและเล่นโชว์ในกรุงเทพเป็นระยะๆ ในเดือนพฤษภาคม 2525
แหลม มอริสัน และ วี.ไอ.พี. แสดงสดในรายการโลกดนตรี เพื่อโปรโมทเพลงคัฟเวอร์สากลที่
ทางวงบันทึกเสียงออกขายในปีนั้นด้วย เมื่อ วี.ไอ.พี.ยุบวง แหลม ก็สร้างวงตรีของตนเองขึ้น
คือ "แหลม มอริสัน แบนด์" และเล่นที่ต่างประเทศอีกระยะหนึ่งก่อนจะกลับมาเล่นประจำที่พัทยา
ตั้งแต่กลางยุคแปดศูนย์เป็นต้นมาแหลมทำงานร่วมกับศิลปินหลายๆคน เช่น บันทึกเสียงโซโล่
กีต้าร์ในเพลง "ไม่เป็นไร" ในอัลบั้มชุดบ้าหอบฟาง ของอัสนี-วสันต์ เป็นต้น ปี 2539 แหลม
ออกงานในนาม "แหลม มอริสัน กรุ๊ป" กับงานชุด "Forever King" (ขณะที่เขียนเพิ่งได้งานชุดนี้
มาและฟังไปได้สองเพลง) เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่านักกีต้าร์ที่เป็นต้นแบบและมีอิทธิพลกับ
แนวทางการเล่นคือ Rory Gallagher, Ritchie Blackmore และ Al Di Meola
โดยส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อว่าจริงๆแล้วการยกย่อง แหลม มอริสัน อาจจะแยกมุมมองแบบ
กว้างๆ ได้สองส่วน ส่วนแรกคือเทคนิคการเล่นที่เขาเล่นได้เหมือนต้นฉบับ ซึ่งแน่นอนว่าการเล่น
ตามลูกโซโล่ยากๆ ได้เหมือนเปี๊ยะเป็นทักษะประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ ตรงส่วนนี้
เชื่อว่าไม่มีใครสงสัยความสามารถตรงนี้ของเขา อีกมุมหนึ่งคือความเป็นออริจินัลตรงนี้ต้องยอม
รับว่าเนื่องจากแหลมมีงานบันทึกเสียงออกมาไม่มาก และน่าจะเป็นชุด Forever King ชุดเดียว
ที่เป็นงานเพลงแต่งใหม่ทำให้น้ำหนักของมุมมองนี้ไม่เห็นเด่นชัด แฟนๆตัวจริงที่ได้ชมการแสดง
สดของแหลมต่อเนื่องอาจจะประเมินตรงจุดนี้ได้ดีกว่าคนอื่นๆ เช่นในขณะที่เขาอิมโพรไวส์ท่อน
โซโล่กีต้าร์ยาวๆ แหลมอาจจะโชว์เทคนิคการเล่นที่เป็นลายเซ็นของตัวเองออกมาให้ผู้ชมได้ฟัง
กันบ่อยๆ ก็เป็นไปได้
หรืออย่างเพลง Night in Bangkok (ชมได้ในคลิ๊ป) ก็เล่นตามเพลง Parisienne Walkways
(1979) งานของ Gary Moore ซึ่งร่วมประพันธ์โดย Phil Lynott (Thin Lizzy) ตรงนี้ส่วนตัวแล้ว
เข้าใจว่า แหลม มอริสัน ไม่ได้ต้องการจะปกปิดแต่อย่างใด แต่เมื่อเขาเล่นเพลงนี้ในแบบบรรเลง
ก็เลยอยากจะตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่เพื่อให้แขกจดจำชื่อเพลงได้ง่ายมากกว่า