สัมภาษณ์ ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย ผมไม่คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นอาชีพ…ผมตอบตัวเองได้เพียงว่า…ผมตายบนเวทีได้แค่นั้นเอง”

 

วรุณพร พูพงษ์ : สัมภาษณ์
จีนี่ เรคคอร์ด : ภาพ   “…ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน หกล้มคลุกคลานเท่าไหร่ มันจะไปจบที่ตรงไหน แต่จะยังไงก็ต้องไปให้ถึง ที่สุดถ้ามันจะไม่คุ้ม แต่มันก็ดีที่อย่างน้อยได้จดจำว่าครั้งหนึ่งเคยก้าวไป แค่คนที่เชื่อในความฝัน จะเหน็ดจะเหนื่อยก็ยังต้องเดินต่อไป…”

ข้อความข้างต้นคือท่อนหนึ่งในเพลง “ความเชื่อ” ของวงบอดี้สแลม ร่วมขับร้องโดย แอ๊ด คาราบาว ผู้มีศักดิ์เป็นอาของนักร้องนำ–อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว เพลงนี้ถือเป็นเพลงสร้างแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยมุ่งมั่นก้าวเดินตามความเชื่อ จุดไฟฝันในหัวใจ และหลายคนยังคงนึกถึงเพลงนี้ยามรู้สึกทดท้อสิ้นหวัง

เป็นเรื่องจริงที่บทเพลงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงสร้างความบันเทิง ตูนรับรู้ถึงพลังของบทเพลงที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้แต่ละชีวิต เมื่อแฟนเพลงบอกเล่าประสบการณ์ครั้งคิดฆ่าตัวตายแต่ล้มเลิกความคิดหลังจากฟังเพลง “อกหัก” (อัลบั้มที่ ๔ Save My Life) ท่อนหนึ่งว่า “…ชีวิตแค่โดนทำร้าย แต่ที่สุดมันต้องไม่โดนทำลาย…”

ใช่เพียงผู้ฟังเท่านั้นที่ได้รับพลังผ่านบทเพลง แต่นักร้องนักดนตรีผู้ถ่ายทอดเสียงเพลงนั้นก็ได้รับพลังสะท้อนกลับด้วยเช่นกัน ดังที่ตูนกล่าวไว้ว่า “สิ่งที่ผมแสดงออกบนเวทีล้วนเป็นพลังงานพิเศษที่ผมได้รับจากผู้ชมทั้งสิ้น”

บอดี้สแลม (Bodyslam) เป็นวงดนตรีร็อกที่เพลงส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลดนตรีร็อกฝั่งอเมริกาช่วงต้นยุค ๙๐ ผสานดนตรีโปรเกรสซีฟร็อก  พวกเขาเริ่มต้นอัลบั้มแรกด้วยดนตรีป๊อปร็อก ถ่ายทอดเรื่องราวความรักของวัยรุ่นสู่เรื่องความเชื่อความฝันในอัลบั้มต่อ ๆ มา ด้วยท่วงทำนองที่หนักแน่นขึ้นอย่างอัลเทอร์เนทีฟร็อก

ตลอดการเดินทางบนถนนสายดนตรีร่วม ๑๐ ปี บอดี้สแลมบ่มเพาะ หล่อหลอมแนวคิด และสั่งสมประสบการณ์กระทั่งตกผลึกทางความคิด จนงานเพลงของพวกเขาค่อย ๆ ก้าวข้ามเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว สู่อัลบั้มที่ ๕ “คราม” ที่สะท้อนมุมมองต่อโลกและชีวิต เช่น เพลง “คราม” เปรียบสีครามของน้ำทะเลกับจิตใจมนุษย์อันยากแท้หยั่งถึง ผสานกับดนตรีที่มีการใช้ซินธิไซเซอร์ (เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งแตกต่างจากอัลบั้มที่ผ่านมา  หรือเพลง “คิดฮอด” ที่มีการผสมผสานดนตรีร็อกกับหมอลำ ร่วมขับร้องโดย ศิริพร อำไพพงษ์  สร้างปรากฏการณ์คล้ายเพลง “แฟนจ๋า” ของเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย เป็นต้น

ตูนบอกว่าพวกเขาไม่ได้พยายามโตหรือสร้างความต่างใด ๆ เพียงแต่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านงานเพลงตามแบบของบอดี้สแลมในแต่ละขวบปีเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าอัลบั้มคราม อัลบั้มล่าสุดของบอดี้สแลม ได้เปิดมิติใหม่ทางดนตรีรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

จากการจัดอันดับเพลงยอดนิยมตามคลื่นวิทยุ เพลงในทุกอัลบั้มของบอดี้สแลมมักขึ้นสู่อันดับ ๑ หลายสัปดาห์ติดต่อกัน เช่นเพลงงมงาย, อากาศ, ความซื่อสัตย์, ปลายทาง, ความเชื่อ, ยาพิษ, อกหัก, คราม, ความรัก, คิดฮอด เป็นต้น  รวมถึงรางวัลจากหลายเวทีที่พวกเขาได้รับก็ถือเป็นเครื่องการันตีคุณภาพงานเพลงตลอดการเดินทาง ๕ อัลบั้ม เช่นปี ๒๕๔๙ เข้าชิงรางวัลศิลปินยอดนิยมประเทศไทยในงาน MTV Asia Awards  ปีเดียวกันได้รับรางวัล Song of the Year (เพลงความเชื่อ) จากเวที Fat Awards ครั้งที่ ๔  รางวัลศิลปินกลุ่มร็อกยอดเยี่ยม, อัลบั้มร็อกยอดเยี่ยม (อัลบั้ม Save My Life) และรางวัลเพลงร็อกยอดเยี่ยม (เพลงยาพิษ) จากเวทีสีสันอวอร์ด ครั้งที่ ๒๐ ในปี ๒๕๕๐  ล่าสุดปี ๒๕๕๔ ได้รับรางวัลเพลงร็อกยอดเยี่ยม (เพลงคราม) และเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (เพลงคิดฮอด) เวทีสีสันอวอร์ด ครั้งที่ ๒๓ ฯลฯ

ผลสำรวจความนิยมจากหลายสถาบันต่างยกให้บอดี้สแลมเป็นวงดนตรีที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด อาทิ สวนดุสิตโพลสำรวจ “ที่สุดแห่งปี ๒๕๕๑” บอดี้สแลมอยู่ที่ร้อยละ ๓๙.๗๖  เอแบคโพลสำรวจ “ที่สุดบันเทิงแห่งปี ๒๕๕๓” อยู่ที่ร้อยละ ๒๙.๒  ปลายปี ๒๕๕๓ บริษัทแอทแวนเทจ จำกัด จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้เฟซบุ๊กค้นหาบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและชีวิต พบว่าบอดี้สแลมอยู่อันดับ ๓ รองจากวู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ตูน บอดี้สแลม ชายหนุ่มวัย ๓๒ ปี นักร้องเพลงร็อกผู้เต็มที่กับท่วงท่าลีลาการแสดงและดนตรีอันหนักหน่วงในทุกคอนเสิร์ต  เขาคือกุญแจสำคัญที่พาวงบอดี้สแลมก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดหนึ่งของวงการดนตรี

เด็กสุพรรณฯ คนนี้สนใจเรื่องกีฬาและดนตรีตั้งแต่วัยเยาว์  ขณะอยู่มัธยมได้ตั้งวงดนตรีกับเพื่อนชื่อวงละอ่อน คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ด ครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๓๙)  เมื่อเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ รั้วจามจุรี ก็ไม่ทิ้งฝันด้านดนตรีจนมีโอกาสออกอัลบั้มชื่อ “ละอ่อน” ก่อนจะแยกตัวจากวงมาทำเพลงในแนวทางที่ชอบ  เมื่อเรียนจบทำงานเป็นสจ๊วตก็ยังรับงานร้องเพลงกลางคืนในนามวงกุหลาบขาว กระทั่งพิสูจน์ตัวเองจนได้ออกอัลบั้มแรกชื่อว่า “บอดี้สแลม” ในปี ๒๕๔๕

ทั้งหมดนี้ ตูนบอกทีมงาน สารคดี ว่า “ชีวิตผมเป็นเหมือนขั้นบันไดที่ค่อย ๆ เดินขึ้นมาทีละก้าว ถอยหนึ่งก้าว ขึ้นสองก้าว ไม่ได้ก้าวกระโดด แต่เดินมาเรื่อย ๆ ด้วยความสุข ความรัก หรือด้วยอะไรก็ตามที่มีในแต่ละช่วงเวลา จนวันหนึ่งหันกลับไปมองถึงได้เห็นว่า เราเดินขึ้นมาสูงมากโดยที่ไม่รู้ว่าจะเดินมาสูงขนาดนี้ ไกลขนาดนี้ แค่ก้าวเล็ก ๆ ที่ผมไม่หยุดเดิน ไม่หยุดไขว่คว้า มันพาผมมาโดยไม่รู้ตัว… “ตราบใดก็ตามที่เรายังไม่เลิกฝัน สิ่งที่เรามุ่งมั่นตั้งใจต้องมาถึงสักวันหนึ่ง”

ท่วงทำนอง

ชีวิตวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร
ผมเป็นคนสุพรรณบุรี มีพี่น้อง ๓ คน ผมเป็นลูกคนกลางมีพี่สาวกับน้องชาย  บ้านอยู่ในอำเภอเมืองแต่ไม่ได้อยู่ในเขตเมือง อยู่ห่างตลาดออกมาสัก ๕ กม.  บ้านผมเป็นโรงสีข้าวทำด้วยไม้ พ่อเป็นเถ้าแก่โรงสี มีรถไถขนข้าวมาที่โรงสีเรา บางทีมาเป็นคันรถสิบล้อบ้างรถหกล้อบ้าง ผมก็วิ่งเล่นอยู่แถวนั้น บางทีเล่นซ่อนหากับลูกคนงานในโรงสี แอบอยู่ตามกระสอบข้าวที่วางซ้อนกัน บางทีก็วิ่งเล่นบนกองข้าวเปลือก ตกปลาบ้างตามเรื่องตามราวแต่ไม่ถึงกับขี่ควายในทุ่งนา  ผมโตมาท่ามกลางบรรยากาศอย่างนี้ ได้เห็นภาพลูกชาวนา ลูกคนงาน ไปจนถึงลูกเศรษฐีในตลาด ซึมซับทุกอย่างในวัยนั้น

ทราบมาว่าคุณเคยเป็นนักกีฬาโรงเรียน
ผมมาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ม.๑ สมัยมัธยมผมเป็นนักฟุตบอล  ผมชอบเตะบอลตั้งแต่อยู่สุพรรณฯ มีหลายครั้งที่จะได้เป็นนักกีฬาของจังหวัด โค้ชที่สุพรรณฯ ก็ถามว่าจะเป็นนักกีฬาไหม แต่เพราะผมตัวเล็กกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน ที่บ้านกลัวจะบาดเจ็บเลยไม่ให้เล่น  พอเข้าเรียน ม.๑ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผมอยากเป็นนักกีฬา เผอิญทางโรงเรียนเห็นแววเลยให้เล่นตำแหน่งมิดฟิลด์ปีกขวา เป็นเบกแฮม (หัวเราะ) ตอนนั้นก็ยังตัวเล็กกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน โชคดีที่มิดฟิลด์ต้องใช้ความเร็ว  ผมได้เป็นนักกีฬาของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ อยู่ ๑ ปี ผมมีความสุขมากกับการได้ซ้อมฟุตบอลตอนเย็นทุกวัน ได้สวมเสื้อทีมโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ที่ต่างจากเสื้อในชั่วโมงเรียนพละ ซึ่งผมรู้สึกว่าเท่สุดยอด (หัวเราะ) ผมดีใจมากที่ได้เป็นนักกีฬาโรงเรียนไปแข่งกีฬาองกรมพลศึกษา ได้เหรียญรางวัลที่ ๓ เป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้เรียนรู้  ผมชอบดนตรีกับกีฬามาก ชอบการแข่งขันที่ทำให้ได้แอ็กทีฟ  มันมีเสน่ห์ สร้างแรงบันดาลใจ สร้างจุดมุ่งหมายที่ผมต้องไปให้ถึง ผมชอบชีวิตช่วงนั้น

จากกีฬาสู่ดนตรีถือเป็นจุดเปลี่ยนไหม
ผมว่าไม่ใช่ มันเป็นแค่แก๊กเล็ก ๆ  ถึงไม่ได้เป็นนักกีฬาฟุตบอลตอนมัธยม ๒-๓ แต่ผมก็ยังเตะบอลทุกวันอยู่ดี ดนตรีแค่เข้ามาในจังหวะที่เหมาะสม เป็นช่วงรอยต่อที่ได้เดินทางไปเจอสิ่งใหม่ ท้าทายกับเรื่องใหม่ ๆ

ดนตรีเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเมื่อไร
ผมอยู่กับเพลงตั้งแต่เด็กเพราะพ่อเป็นคนชอบฟังเพลง เวลาขับรถไปส่งผมในเมืองก็จะเปิดทั้งเพลงไทย เพลงลูกทุ่ง เพลงสากล ตั้งแต่ สุรพล สมบัติเจริญ ไปจนถึง บี จีส์ (Bee Gees) ผมได้ฟังและซึมซับโดยไม่รู้ตัว  เรื่องดนตรีมาเข้มข้นอีกครั้งตอนผมเรียนมัธยม ๓-๔  เพื่อนเริ่มตั้งวงดนตรี ผมชอบร้องเพลงก็ไปร้องกับเขา  ช่วงแรก ๆ นักร้องนักดนตรีในวงมีเยอะมาก ตอนนั้นเล่นอะไรไม่เป็นก็ร้องอย่างเดียว สนุกมาก และทำให้ผมได้ฟังเพลงมากขึ้น ฟังเพลงร็อก เพลงยาก ๆ หนัก ๆ อย่างที่มือกีตาร์มือกลองชอบเล่นกัน  ได้ร้องเพลงภาษาอังกฤษ ฝึกฟังสำเนียงและเลียนแบบการร้อง เริ่มอ่านและท่องจำเนื้อเพลงภาษาอังกฤษ  ช่วงนั้นในวงมีคนตั้งแง่ว่าผมไม่เก่ง ร้องเพลงฝรั่งไม่ได้ แต่ผมเป็นคนไม่ยอมแพ้ กลับมาฝึกและบอกตัวเองว่าต้องร้องให้ได้ ต้องพยายาม  จากเสียงเพื่อนที่บอกว่าเราไม่เก่งกลายเป็นแรงผลักให้เราพัฒนาตัวเองโดยไม่รู้ตัว

ผมสนุกกับช่วงเวลานั้น สนุกกับการร้องเพลงในแต่ละเวที คือไม่ได้คิดว่าอีก ๑๐ ปีต้องเป็นนักร้อง ต้องออกอัลบั้ม ผมแค่สนุกกับช่วงเวลานั้น ทำอย่างจริงจัง ทำด้วยความรัก ประกอบกับต้องเรียนหนังสือ และไม่ได้ฝันว่าฉันจะต้องออกอัลบั้มหรือต้องโด่งดัง ไม่มีอยู่ในหัวเลยจริง ๆ  ผมกลับคิดว่าที่สุดแล้ววันหนึ่งจบปริญญาตรีก็ทำงานประจำในอาชีพปรกติ มีดนตรีเป็นงานอดิเรกที่ผมรักมากที่สุด ผมคิดแค่นั้น

ทำไมเลือกสอบเอนทรานซ์เข้าคณะนิติศาสตร์
ผมมองว่ากฎหมายมันกว้าง ทุกอย่างบนโลกใบนี้อ้างอิงกับกฎหมาย จะไปทำงานเอกชนหรือราชการก็ได้ เพราะทุกหน่วยงานต้องมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย และตอนนั้นผมยังไม่รู้จริง ๆ ว่าอยากเป็นอะไร เลือกเพราะคะแนนถึงและได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ดี เรียนจบอาจนำไปต่อยอดได้  คณะที่เลือกอันดับ ๑ คือคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์  ผมอยากเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์หรือคนทีวี เพราะผมชอบกีฬาอยากเป็นนักข่าวกีฬา มันคงมีความสุขถ้าได้เดินทางไปดูกีฬาต่าง ๆ รอบโลก คิดแค่ว่าทำยังไงถึงจะผูกติดกับสิ่งที่เราชอบได้  ส่วนอันดับ ๒ ผมเลือกรัฐศาสตร์เพราะผมชอบเดินทาง ผมอยากเป็นทูต ผมอยากเห็นโลก  สุดท้ายผมก็ได้เรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ทิ้งดนตรี เรียนจบก็เลือกจะไม่ทำงานด้านกฎหมาย
ใช่ครับ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยผมเล่นดนตรีตลอด กับวงที่มหาวิทยาลัย  เราเดินสายประกวดตามเวทีต่าง ๆ  เล่นเพลงที่อยากจะเล่น เช่นเพลงของวงเอ็กซ์ตรีม (Extreme) ดรีมเธียเตอร์ (Dream Theater)  มิสเตอร์บิ๊ก (Mr. Big) หรือเพลงร็อกที่ชอบ ต่อยอดมาจากตอนเรียนมัธยม  มือกีตาร์ที่เจอตอนเรียนจุฬาฯ คือ พี่บิ๊ก (ขจัดภัย กาญจนาภา) วงพาราด็อกซ์  เขาเป็นรุ่นพี่ผม ๑ ปี ตอนหลังมาเจอกันอีกที่ จีนี่ เรคคอร์ด  พี่บิ๊กเป็นคนเก่ง ถือเป็นโชคดีที่ได้เจอกันทั้งตอนเรียนและทำงาน

ตอนเรียนปี ๓ ผมเริ่มเห็นแววตัวเองว่าเรียนไม่เก่ง (หัวเราะ) ถ้าเทียบกับเพื่อนในชั้นปีเดียวกัน  เราคงเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือแม้กระทั่งทนายดี ๆ ไม่ได้แน่ เพราะผมไม่แม่นเรื่องข้อกฎหมาย ไม่คิดว่าจะรับผิดชอบชีวิตใครได้ สมมุติผมเป็นทนายให้ใครคนหนึ่ง แล้วว่าความแพ้ ทำให้เขาต้องติดคุกทั้งที่เขาไม่ผิด ผมคงรู้สึกแย่มากและมองหน้าเขาไม่ติด  ประกอบกับช่วงนั้นผมเริ่มบ้าดนตรีมากขึ้น  หลังจากได้รางวัลฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ด และออกอัลบั้มชื่อ “ละอ่อน” ทำให้รู้สึกว่ามีประสบการณ์ประมาณหนึ่ง อยากเดินทางทำเพลงแต่ไม่ใช่ในแบบที่เป็นละอ่อน ผมเลยตัดสินใจออกจากวงมากับเภา (รัฐพล พรรณเชษฐ์-มือกีตาร์คนแรกของวงบอดี้สแลม)  ตอนปี ๑-๒ เราเริ่มทำเพลงด้วยกันมาเรื่อย ๆ โดยที่ยังไม่มีชื่อวง  ช่วงเรียนปี ๓-๔ ก็เริ่มเข้มข้นขึ้น เลยลองทำเพลงไปเสนอพี่เอก (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) ค่ายมิวสิคบั๊กส์ (Music Bugs) จนเรียนจบผมยังคงทำเพลงกับเภา แต่ก็ยังไม่อาจทำให้พี่เอกมั่นใจว่าเพลงของเราดีพอจะออกผลงานเป็นอัลบั้ม

ช่วงเรียนจบผมตัดสินใจใช้ชีวิตโดยไม่ขอเงินพ่อแม่และเริ่มหาอาชีพมาหล่อเลี้ยงความฝัน ตั้งใจว่าอยากออกผลงานสักอัลบั้มก่อนทำงานประจำ เพราะผมกับเภาทำเพลงและคุยกับพี่เอกมานานมาก  ตอนนั้นไม่มีเงิน โชคดีมีรุ่นพี่คนหนึ่งทำงานที่สายการบินโอเรียนท์ไทย ชวนให้ทำงานตำแหน่งพนักงานสจ๊วต สัญญาระยะสั้น ๖ เดือน  ผมไม่ได้อยู่เมืองไทยเลย ผมได้ไปอินเดีย จอร์แดน และซาอุดีอาระเบีย ประมาณ ๔-๕ เดือน  ลองนึกภาพสจ๊วตที่ไม่ได้ลากกระเป๋าแต่สะพายกีตาร์ตัวหนึ่ง แต่งเพลง ทำงานเก็บเงิน และได้เห็นโลกไปด้วย ผมรู้สึกว่ามันเจ๋งและโชคดีมากที่ได้ไปสัมผัสหลาย ๆ เมือง

คุณได้อะไรจากการเป็นสจ๊วต
อันดับแรกคือได้ใช้ชีวิต สองคือมีรายได้จุนเจือในจังหวะที่ต้องตามหาความฝันในการทำอัลบั้ม ได้เจอเพื่อนร่วมงานใหม่ ๆ ได้พูดคุยกับคนหลายแบบตั้งแต่พนักงานจนถึงจับกังหรือคนงานยกของประจำสนามบิน เพราะผมมีหน้าที่รับของจำพวกอาหาร เครื่องดื่ม และคอยเช็กของในครัว

สองปีนับจากเป็นสจ๊วต การทำอัลบั้มก็เริ่มเข้มข้นขึ้น  ผมไม่อยากลอยชายเพราะเงินที่หามาก็พออยู่ได้แค่ช่วงหนึ่ง ระหว่างนั้นผมร้องเพลงกลางคืนและทำอัลบั้มไปด้วย  เรียนจบมา ๒ ปีผมถึงได้ออกอัลบั้ม ถือเป็นการเรียนรู้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องเข้าห้องเรียน คือใช้ชีวิตในทางที่เราเลือก โชคดีที่สุดท้ายผมก็ทำให้ค่ายมิวสิคบั๊กส์เชื่อมั่นและออกอัลบั้มแรกชื่อ “บอดี้สแลม” (Bodyslam) ตอนนั้นที่ค่ายมีวงและนักร้องในสังกัดคือ บิ๊กแอส, ลาบานูน, เกิร์ล, ฟรายเดย์แอมอินเลิฟ และพี่เก๋ (จิโรจน์ วรากุลนุเคราะห์)

ครอบครัวว่าอย่างไรจากสจ๊วตมาร้องเพลงกลางคืน
เขาไม่เห็นด้วย แต่ผมโชคดีที่พ่อแม่ไม่เคยสั่งไม่เคยบอกให้ผมหยุดทำอะไร ในใจเขาคงอยากให้ผมทำงานประจำหรือถ้าเป็นสจ๊วตก็ทำให้เป็นงานที่มั่นคงถาวร แต่เขาเคารพในทุกการตัดสินใจของผม เขาเฝ้าดูและเป็นห่วงอยู่ห่าง ๆ ตลอดเวลา  เขาบอกว่าก็ทำเพลงไปแต่ลองสมัครเรียนเนติฯ ไว้ไหม สมมุติว่าตรงนี้ไม่สำเร็จจะได้มีความรู้ด้านอื่นรองรับ เพราะในใจเขามองว่าคงไม่สำเร็จและอยากให้ผมเป็นอัยการ ผู้พิพากษา หรือนิติกร  เขาเพียงแนะแนวทาง ท้ายที่สุดผมคือผู้เลือกทางเดิน  ตอนนั้นผมรู้สึกกดดันแทนพ่อแม่ เพราะเรียนจบมา ๒ ปียังไม่มีงานประจำ และเป็นลูกชายคนโตซึ่งเขาคงฝากความหวังไว้ค่อนข้างเยอะ เวลาคุยกับญาติพี่น้องว่าลูกชายทำอะไรอยู่ เขาคงเสียใจที่เรายังไม่เป็นโล้เป็นพาย

มีวันหนึ่งคล้ายเป็นจุดพลิกของชีวิต คือผมตัดสินใจเข้าไปคุยกับพี่เอกตรง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมผมยังไม่ได้ออกอัลบั้ม ทั้งที่มีเพลงที่คิดว่าคงไม่ทำให้ค่ายเจ๊ง  ผมไม่ได้ดื้อดึงขอร้องในสิ่งที่มองไม่เห็น เพียงแต่รู้สึกว่าทำงานมาหนักพอสมควร อยากทำงานให้เสร็จเป็นอัลบั้ม  วันนั้นผมคุยกับพี่เอก ๓ ชั่วโมง คุยเรื่องทางบ้าน สุดท้ายผมร้องไห้ และจากที่นั่งคนละฟากของโต๊ะ พี่เอกก็เข้ามานั่งข้าง ๆ แล้วขอโทษและให้โอกาสในการออกอัลบั้มแรก  ผมแค่อยากทำให้ที่บ้านเห็นว่า ๕-๖ ปีที่ผ่านมามันคือสิ่งนี้ แสดงให้เห็นว่าผมไม่ได้จับจด เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หรือไปสำมะเลเทเมา แต่มีสิ่งที่จับต้องได้ให้เขาเห็น  มันจะพาผมไปถึงไหนก็ไม่รู้แล้ว ขอแค่ออกอัลบั้มเท่านั้นจริง ๆ ไม่ได้คิดว่าอยากดัง เพราะช่วงเวลานั้นผมเหนื่อยมาก เหนื่อยใจ เหนื่อยกาย เหนื่อยฝัน เพราะเราคาดหวังกับการเกิดอัลบั้มแรก เราใช้เวลา ลงแรงไปเยอะ โชคดีที่ผมไม่ล้มฟุบยอมแพ้เสียก่อน

แล้วชีวิตทุกวันนี้ถือว่าเหนื่อยหรือหนักเกินไปไหม
ไม่หนักเลย สนุกมาก โคตรสนุก ผมคิดว่าเป็นชีวิตที่น่าอิจฉาและโชคดี  ผมไม่ใช่นักร้องที่ร้องเพลงดีที่สุดในโลกหรือในประเทศนี้ และไม่ใช่วงดนตรีที่เก่งที่สุด แต่อย่างน้อยผมได้ใช้ชีวิตของตัวเอง ได้เลือกว่าจะตื่นกี่โมง ได้เดินทาง ได้เจอโลก ได้ทัวร์คอนเสิร์ตในเมืองไทยหรือต่างประเทศบ้าง มีคนจ่ายตังค์ค่าตั๋วเครื่องบินให้ไปร้องเพลงให้เขาฟัง ไปเล่นคอนเสิร์ตให้เขาดู

คุณคิดว่าท่วงทำนองชีวิตตัวเองเป็นไปในแบบไหน
ชีวิตผมเป็นเหมือนขั้นบันไดที่ค่อย ๆ เดินขึ้นมาเรื่อย ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้ เดินขึ้นมาทีละก้าว ถอยหนึ่งก้าว ขึ้นสองก้าว ไม่ได้ก้าวกระโดด แต่เดินมาเรื่อย ๆ ด้วยความสุข ความรัก หรือด้วยอะไรก็ตามที่มีในแต่ละช่วงเวลา จนวันหนึ่งหันกลับไปมองข้างล่างถึงได้เห็นว่า โอ้โฮ ! เราเดินขึ้นมาสูงมากโดยที่ไม่รู้ว่าจะเดินมาสูงขนาดนี้ ไกลขนาดนี้ แค่ก้าวเล็ก ๆ ที่ผมไม่หยุดเดิน ไม่หยุดไขว่คว้าตามหา มันพาผมมาโดยไม่รู้ตัว  ผมไม่ได้ตั้งเป้าว่า “เดี๋ยวฉันจะเดินไปตรงนี้ อีก ๕ ปี ต้องไปให้ถึง” ถ้าผมคิดแบบนั้นคงมาไม่ถึงทุกวันนี้  ตราบใดก็ตามถ้าไม่ได้ทำด้วยแรงบันดาลใจที่ดี กดดันตัวเองมากเกินไป ผลที่ตามมาอาจจะออกมาดีแต่คงกดดันจนไม่ไหว ผมทำไม่สำเร็จแน่ถ้าตั้งเป้าหมายแบบนั้น

จังหวะ

ทราบมาว่าวงดนตรีกลางคืนที่คุณร้องก่อนมาเป็นวงบอดี้สแลมใช้ชื่อว่า “กุหลาบขาว”

 ช่วงที่กลับมาเมืองไทยหลังจากเป็นสจ๊วตผมกลับมาเล่นดนตรีกลางคืนเพื่อหาเลี้ยงชีพ ก็ตั้งชื่อวงเล่น ๆ กับพี่อ๊อฟ(พูนศักดิ์ จตุระบุล) และพี่หมู (อภิชาติ พรมรักษา) มือกีตาร์วงบิ๊กแอส ว่า “กุหลาบขาว” ซึ่งอ่อนหวานแตกต่างจากชื่อ “บอดี้สแลม” (หัวเราะ)  ผมรู้สึกว่าได้อารมณ์เหมือนวงตามคาเฟ่หรือห้องอาหาร เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาสนุก ๆ และรู้สึกดีที่ได้พูดประโยคหนึ่งในทุกคืนว่า “ขอเชิญพบกับวงกุหลาบขาวได้ในทุกค่ำคืน” (หัวเราะ)  ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขเพราะได้เล่นเพลงที่อยากเล่น ร้องเพลงที่อยากร้อง

แล้วชื่อ “บอดี้สแลม” มีที่มาอย่างไร
ตอนเด็ก ๆ ผมชอบดูมวยปล้ำ โคตรบ้าเลย (หัวเราะ) ผมดูแล้วจำท่าทางมาเล่นกับน้อง มีท่าหนึ่งชื่อ “บอดี้สแลม” ซึ่งเมื่อก่อนเป็นท่าที่รุนแรงมากแต่ตอนนี้เชยมาก (หัวเราะ) พอได้ฟังคำนี้ผมรู้สึกว่ามันแรง โดยผมแปลเป็นภาษาไทยแบบง่าย ๆ คือ บอดี้ แปลว่า ร่างกายหรือตัว  สแลม คือ การทุ่ม เหวี่ยงหรือฟาดลงด้วยความรุนแรง  ผมแปลแบบไทย ๆ ว่าเราลงแรงกายกับสิ่งนี้อย่างเต็มที่ ทุ่มเทร่างกายและจิตใจอย่างเต็มที่ ฟาดลงไปอย่างเต็มแรงกับสิ่งที่เรารักคือดนตรี

ตอนนั้นตัดสินใจเลือกแนวดนตรีแล้วหรือยัง
ผมไม่รู้จะเรียกว่าแนวอะไร แต่ก็คือป๊อปร็อก เป็นเพลงป๊อปที่เล่นด้วยเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ เบส กลอง มีดิสทอร์ชัน(Distortion) บ้าง มีอะคูสติกบ้าง เสียงแตกบ้างไม่แตกบ้าง  ผมแค่ชอบ ไม่รู้หรอกว่าเล่นหนักหรือเบาแค่ไหน แค่รู้สึกว่าชอบร้องเพลงกับดนตรีแบบนี้ บรรยากาศแบบนี้ ผมไม่คิดว่ามันต้องร็อกหรือไม่ร็อก

บอดี้สแลมมีวงดนตรีต้นแบบไหม
ก็มีหลายวงที่เป็นไอดอล  วงซิลลี่ฟูลส์ถือเป็นวงหนึ่งที่เราชื่นชอบ ทุกตำแหน่งของวงเก่งทุกคน ยังเสียดายอยากให้เขากลับมารวมตัวกัน  ผมชอบวงซิลลี่ฟูลส์มากโดยเฉพาะอัลบั้มแคนดี้แมน ผมยกให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดเรื่องการบาลานซ์ระหว่างพาณิชย์ในเพลงรักกับเพลงร็อก  สำหรับผมถือเป็นเพลงเมนสตรีม (Mainstream) ที่ลงตัวที่สุดอัลบั้มหนึ่งของเมืองไทย

แล้วนักร้องต้นแบบของคุณล่ะ
ผมมีนักร้องในดวงใจเยอะ ในเมืองไทยก็มีพี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก, พี่ปู แบล็คเฮด, พี่ปู พงษ์สิทธิ์  ส่วนฝรั่งมีคนหนึ่งที่ชอบมากคือ ไมเคิล แจ็กสัน  ผมคิดว่าเขาไม่ใช่คิงออฟป๊อป สำหรับผมเขาคือคิงออฟร็อก ผมมองไมเคิลว่าเขาร็อกมาก คำว่าร็อกสำหรับผมไม่ใช่แค่การเล่นดนตรีหนัก ๆ ใส่ดิสทอร์ชัน ใส่จังหวะกลองที่เร็วและแรงลงไปในเพลง  ร็อกในความรู้สึกผมหมายถึงการพูดหรือร้องความรู้สึกแท้จริงให้คนฟังสัมผัสและเป็นแรงบันดาลใจได้  มันร็อกกว่าเพลงร็อกบางเพลงที่เล่นดนตรีหนักหน่วงแต่ร้องเนื้อหาเบาหวิวไม่ได้รู้สึกถึงเนื้อเพลงจริง ๆ  สำหรับผม ไมเคิล แจ็กสัน คือคิงออฟร็อก เพราะเขาถ่ายทอดความจริงในทุกบทเพลง  วันที่เขาตายผมร้องไห้เป็นเด็ก ๆ เลย เขาเป็นบุคคลหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผม ผมมีรูปไมเคิลซ่อนในรอยสักของผมด้วยแต่ไม่มีใครรู้

วัตถุดิบในการเขียนเพลงของบอดี้สแลมมาจากอะไร
ในช่วงแรกมีทีมเขียนเพลงของมิวสิคบั๊กส์ ๔-๕ คน เป็นเหมือนมันสมองของวง  แกนนำคือพี่กบ (ขจรเดช พรมรักษา-มือกลองวงบิ๊กแอส) และพี่อ๊อฟ เป็นโปรดิวเซอร์  พี่กบจะดูภาพรวมของเนื้อเพลง เขียนเนื้อเพลงหลักของบอดี้สแลมในชุดแรก ๆ จนถึงชุดล่าสุด  พี่กบเป็นคนคอยตัดขอบเพราะผมจะฟุ้งเรื่อย ๆ คิดอะไรได้จะจดไว้เป็นเพลง วรรคเดียวหรือแค่คอนเซ็ปต์แล้วมาเล่าให้ทุกคนฟัง หลังจากนั้นทุกคนก็จะเทไอเดียออกมา วิธีการเป็นแบบนี้มาตั้งแต่อัลบั้มแรก  มิวสิคบั๊กส์เป็นค่ายอินดี้แต่มีระบบการทำงานเหมือนแกรมมี่ คือรวมหัวพูดคุยกัน  เนื้อหาเพลงช่วงแรกเป็นเรื่องราวของวัยรุ่นยุคนั้น อายุ ๒๐ ต้น ๆ เรื่องความรักเยอะหน่อย มีเรื่องความฝันบ้าง เราเริ่มมีแฟนก็อยากจะร้องเพลงให้ผู้หญิงบ้าง

มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เนื้อเพลงของบอดี้สแลมเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในอัลบั้มหลัง
มันมาโดยธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเหมือนกับอัลบั้มแรก เป็นสิ่งที่เรารู้สึกและพูดถึงในช่วงชีวิต ณ ตอนนั้น  ในอัลบั้มแรกอาจพูดถึงความรักเยอะเพราะอินกับความรัก อัลบั้มต่อมาเรื่องเหล่านี้ก็ค่อย ๆ เจือจางไป  สิ่งที่พบเจอระหว่างทางอย่างความเชื่อความฝันก็เข้มข้นขึ้น เริ่มเป็นผู้ใหญ่ขึ้น พูดเรื่องที่คนวัยนั้นคุยกัน  อัลบั้มล่าสุด “คราม” ก็เป็นตัวผมในขวบปีนั้น คือเราไม่ได้พยายามพูดเรื่องที่โตกว่าตัวเอง มันแค่เป็นตัวเราในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น  ผมเลือกร้องเฉพาะสิ่งที่มีความสุข สิ่งที่เชื่อในแต่ละช่วงเวลา เป็นเรื่องที่เราคุยกันกับพี่กับเพื่อนบนโต๊ะอาหาร เพราะโดยธรรมชาติผมทำเพลงเพื่อนำไปร้อง สถานที่แรกคือห้องอัด ผมต้องมีความรู้สึกร่วมกับเนื้อเพลง ถ้าคิดถึงใครก็ต้องคิดถึงจริง ๆ รักใครก็ต้องรักจริง ๆ ไม่ว่ามันจะอ้วกแตก หวานเลี่ยนแค่ไหน ถ้าผมรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ ผมไม่แคร์ ผมร้องได้  ถ้าเพลงพูดเรื่องความเชื่อเราก็ต้องเชื่อก่อน ตราบใดก็ตามถ้าผมไม่รู้สึกเชื่อแม้แต่ตอนอยู่คนเดียวในห้องอัด ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปยืนบนเวทีแล้วสื่อสารให้คนฟังเชื่อ

แต่เพลงรักของบอดี้สแลมก็มีความต่างจากวงอื่น ๆ โดยเฉพาะในอัลบั้มคราม
ผมนำธรรมชาติมาเปรียบเทียบ ยกตัวอย่างเพลง “คราม” จริง ๆ ไม่ใช่เพลงรัก  ผมคิดคำว่า คราม ตั้งแต่อัลบั้มก่อน (อัลบั้ม Save My Life) ผมชอบสีคราม สีน้ำเงิน ชอบทะเล ท้องฟ้า ผมมองและอยู่กับมันได้เป็นวัน ๆ  ผมรู้สึกว่าสีครามเป็นสีจริงของโลกใบนี้ ถ้ามองโลกจากอวกาศก็จะเห็นเป็นสีนี้  มันมีเสน่ห์ ทั้ง ๆ ที่ดาวดวงอื่นเป็นสีแดง สีน้ำตาล บางดวงไม่มีสี แต่โลกมีสี ผมรู้สึกว่าต้องมีใครสักคนทำให้มันเป็นสีนี้  สีครามไม่ใช่สีแดง เหลือง หรือเขียว ซึ่งแต่ละคนรู้สึกถึงอารมณ์แตกต่างกัน แต่สีครามมีมิติ เมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบก็เป็นครามที่สวยงาม สดใส ทำให้เราอยากอยู่กับมัน แต่หากแสงอาทิตย์หายไปสีครามนั้นก็เริ่มมืดครึ้ม ทั้ง ๆ ที่เป็นทะเลแห่งเดียวกัน แต่เมื่อไม่มีแสงตกกระทบเรากลับกลัวมัน หรือสีครามใต้ทะเลลึกก็เป็นสีครามที่น่ากลัว เราเลือกที่จะอยู่แต่บนชายหาดที่สวยงาม อยู่กับครามที่สดใส  เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับคน ธรรมชาติของคนก็เหมือนกับสีคราม ไม่มีใครดีหรือเลวจนสุดโต่ง ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ช่วงจังหวะชีวิตของแต่ละคนว่าจะมีอะไรมาตกกระทบทำให้คนอื่นมองเราเป็นคนดี มองเราน่าคบ น่าค้นหา แต่จังหวะหนึ่งของชีวิตอาจไม่มีแสงมาตกกระทบ ทำให้เราอยู่ในมุมมืด ไม่มีใครกล้าเข้ามาคุยด้วย บางครั้งเรามีอารมณ์โกรธ คนอื่นมองเราเป็นคนเลว เป็นคนไม่ดี พูดคำหยาบคำเดียวทุกคนก็ตีความว่าเราแย่  ชีวิตคนเราก็เหมือนสีครามที่เปลี่ยนไปได้ตามสิ่งที่มากระทบ เหมือนเราคบผู้หญิงคนหนึ่ง เรารักเขามากในสิ่งที่เขาเป็น ในแบบที่เขาให้ความสุขกับเราได้ แต่ถ้าเขามีมุมมืด และเรารักผู้หญิงคนนี้จริง ๆ เราพร้อมจะอยู่กับเขาตรงนั้นหรือเปล่า ผมคิดว่าทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ

ทำไมถึงเลือกเพลงหมอลำมาผสมผสานกับงานเพลงของตนเอง
พูดตรง ๆ คืออยากลอง และอาจเพราะผมโตมากับเพลงพวกนี้ ตอนเด็ก ๆ ผมมีพี่เลี้ยงเป็นคนอีสาน ผมฟังหมอลำลูกทุ่งจากคลื่นวิทยุ AM ผมคิดต่อยอดว่าพอจะมีทางนำจังหวะหรือคำร้องแบบนี้มาผสมกับบอดี้สแลมหรือดนตรีที่เราเล่นอยู่บ้างไหม ก็ทดลองมาเรื่อย ๆ  ผมตื่นเต้นกับหมอลำ ตื่นเต้นกับแนวดนตรี ที่ตื่นเต้นที่สุดคือหมอลำมีท่อนแร็ป ผมรู้สึกว่าเป็นศาสตร์ที่แม้แต่เราซึ่งเป็นคนไทยยังฟังไม่ออก ผมจึงอยากนำท่อนแร็ปนี้มาอยู่ในบอดี้สแลม

เพลงคิดฮอดเป็นเพลงที่ยากมาก ทำเสร็จเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม เรียกได้ว่าเกือบจะถอดใจแล้ว เพราะโจทย์ของเพลงนี้คือต้องไม่ตลก ต้องทำให้ลงตัว กลมกล่อม กลมกลืน เชิดชูความเป็นไทยอีสานหรืออีสานพื้นบ้าน ถ้าทำออกมาฟังดูตลก เราจะผิดทันที กลายเป็นดูถูกวัฒนธรรม ดูถูกดนตรีที่เป็นของเราเอง

คุณไม่ได้มองดนตรีร็อกสูงส่งกว่าดนตรีอื่น ๆ
ไม่ครับ เรายืมฝรั่งมาเล่นด้วยซ้ำ ทั้งกีตาร์ เบส กลอง เราควรทำให้มันไปด้วยกันได้ กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันมากกว่าที่จะชูอะไรให้เด่นกว่า มันต้องอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว

อีกเพลงที่มีกลิ่นอายเพื่อชีวิต คือเพลง “โทน” มีที่มาอย่างไร
ผมดูข่าวแล้วรู้สึกอินกับมัน ผมเห็นทหารตาย เห็น

Credit: -
killcassnova
นักแสดงรับเชิญ
23 ก.ย. 54 เวลา 01:46 6,517
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...