ย้อนกลับไปในยุค ค.ศ. 1970 ไล่ไปกระทั่งถึงต้นยุค 1990 มีภาพยนตร์
ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงนั้น เรียกว่า "morning show" (หนังรอบเช้า)
หรือเป็นคำพูดที่รู้จักกันดีในขณะนั้นว่าคือ "หนังโป๊"
ผู้ชม"เพศชาย"ส่วนใหญ่ในขณะนั้น มักเป็นเด็กนักเรียนที่หนีเรียน
หรือไม่ก็หนุ่มโสดที่ต้องหาความเพลิดเพลินใจจากเหนือหนังมังสา
ของสตรีเพศ ในยุคที่หนังดีวีดี หรืออินเตอร์เน็ตยังคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใคร
รู้จัก โดยหนังจะเริ่มฉายในรอบ 10 โมงเช้า หรือไม่ก็เที่ยงครึ่ง
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่มันถูกตั้งชื่อเล่นว่า "หนังรอบเช้า"
และเนื่องจากหนังนำเสนอเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นต้องห้าม
ของสังคมอนุรักษ์นิยมจัดของอินเดียในขณะนั้น มันจึงถูกจัดเข้าอยู่
ในประเภทหนังโป๊เรตอาร์ หรือซอฟท์พอร์น (soft porn) อย่างช่วยไม่ได้
แม้ว่าหน้าหนัง รวมกระทั่งชื่อ และใบปิดหนังจะค่อนข้างมีความล่อแหลม
ไม่ใช่น้อย แต่เมื่อเทียบกับมาตรฐานของหนังเรตอาร์ของประเทศอื่นๆแล้ว
ยังถือว่า"เด็กๆ"กว่ามาก
ธุรกิจหนัง"Morning shows" และโปสเตอร์ เป็นไปได้ด้วยดี
จนกระทั่งการมาถึงของ"โทรทัศน์ 24 ชม." วิดิโอราคาถูก และดีวีดี
ก่อนที่จะปิดตัวลงอย่างสิ้นเชิง เมื่ออินเดียก้าวเข้าสู่โลกแห่งอินเตอร์เน็ต
อย่างเต็มตัว
เมื่อโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์ เข้ามาแทนที่โรงหนังแบบสแตนด์อะโลน
ถือเป็นการตอกฝาโลงธุรกิจหนังอาร์ลงอย่างสมบูรณ์แบบ
กระทั่งบริษัทเอเจนซีโฆษณาอย่าง Wieden+Kennedy ได้เล็งเห็นความงาม
ในศิลปะบนใบปิดหนังประเภทนี้ที่ถูกมองว่าเป็น"ศิลปะขยะ" และเล็งเห็นว่า
นี่ เป็นเวลาที่โปสเตอร์หนังเหล่านั้น ควรจะมี"ที่"และ"ทาง"เป็นของตัวเองเสียที โดยได้รวบรวมใบปิดหนังที่พอหาได้มาจัดแสดงที่แกลเลอรีศิลปะ W+K Exp
ในกรุงนิวเดลี โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า "Morning Show"
ระหว่างวันที่ 26 ส.ค.-23 ก.ย.นี้
นายวี สุนิล ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแกลเลอรี ซึ่งเริ่มสะสมใบปิด
ดังกล่าวเมื่อกว่า 10 ปีก่อน กล่าวว่า ขณะที่โปสเตอร์เหล่านั้นถูกมองว่า
มีความ"ไร้รสนิยมโดยสิ้นเชิง" และเป็นศิลปะที่สื่อความอย่างตรงไปตรงมา
เขากลับประหลาดใจเมื่อพบว่า ขณะที่โปสเตอร์หนังของบอลลีวู้ด
ในยุคปัจจุบันเริ่มแสดงสถานะความเป็นสากลยิ่งขึ้น แต่กลับพบว่ามัน
แฝงไปด้วยการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติมากยิ่งขึ้น
โปสเตอร์"หนังรอบเช้า"มักแสดงภาพที่ดูไม่เกี่ยวข้องใดๆกับเนื้อหา
ของหนัง อาทิ การใช้ภาพโฆษณาชุดชั้นในที่ดูเหมือนถูกฉีกออกมา
จากแม็กกาซีนแฟชั่น หรือภาพของนักแสดงหญิงฮอลลีวู้ดที่บังเอิญ
ต้องมากลายเป็นนางแบบโปสเตอร์หนังโป๊โดยไม่ตั้งใจ
หนึ่งในโปสเตอร์ที่"เรียกแขก"มากที่สุดชิ้นหนึ่งคือภาพของ"บรู๊ค ชิลด์ส"
ซึ่งเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของหนังอีโรติก หลังจากบทบาทอันแสนวาบหวิว
จากหนังเรื่อง "The Blue Lagoon" และถูกดัดแปลงมาเป็นจุดขายของหนัง
โดยไม่ได้รับค่าตัว
ขณะที่หนังเรตอาร์ของอินเดียส่วนใหญ่ มีแหล่งผลิตที่สำคัญในแคว้นเคราล่า
ทางตอนใต้ของอินเดีย และใช้ภาษาท้องถิ่นคือ "ภาษามาลายาลาม"
ก่อนที่จะถูกพากษ์ทับเป็นภาษาฮินดีในภายหลัง
โดยชื่อเรื่องของ หนัง อาทิ Bewafa Biwi (เมียมีชู้), Gair Mard (ชายคนอื่น), Pyar ki ek raat (ราตรีแห่งรัก), Her Nights, Qatil Jawani (เพชฌฆาตสาว)
และ Pyar ke sapne (ห้วงฝันแห่งรัก) มักแสดงการชี้ชวนให้นึกถึงเรื่องอนาจาร ขณะที่ใบปิดหนังที่มักแสดงภาพปลุกใจเสือป่าหรือแนวเซ็กซี่
บทบาทของนักแสดงหญิง มักจะถูกยัดเยียดให้รับบทผู้หญิงที่มัวเมา
ในกามกิเลสและความหรูหรา หลายคนสวมแต่ชุดชั้นในตลอดทั้งเรื่อง
แสดงอารมณ์ปรารถนารุนแรง และมักเป็นเรื่องราวของความบาดหมาง
ระหว่างตัวละคร หรือมักสื่อให้เห็นว่าผู้หญิงเหล่านั้นมีพฤติกรรมเป็นชู้
อย่างชัดแจ้ง โดยการใช้ภาพหญิงชายที่แสดงพฤติกรรม"สนิทสนม"
กันมากเกินปกติ
ขณะที่เนื้อหาของ หนังก็ดูไม่มีลักษณะอย่างที่หนังอีโรติกทั่วไปควรจะเป็น หนังส่วนใหญ่ใช้งบประมาณที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งส่งผลให้ฉากหวือหวาที่ควรจะมีถูกตัอออกไป และถูกแทนที่ด้วยฉากที่คล้ายคลึงกันที่เอามาจากหนังฮอลลีวู้ด
ตัวอย่างเช่น ฉากที่ควรจะเป็นฉากอาบน้ำกลับถูกตัดไปเป็นฉาก"กระอักกระอ่วน"ที่ไม่สมควรมี อยู่ในหนัง หรือแม้จะมีฉาก"อย่างว่า" แต่ก็แทบที่จะไม่ปรากฎภาพหวือหวาใดๆ นอกจากนั้นมันยังถูกแบ่งย่อยให้กลายเป็นหนังประเภทใหม่ที่เรียกว่า "หนังสยองขวัญอีโรติก" ที่สุนิลกล่าวว่า หนังมีความสยองขวัญเพียงน้อยนิด ขณะเดียวกันก็มีความอีโรติกที่น้อยนิดยิ่งกว่า
นายสุนิลกล่าวว่า โปสเตอร์ของหนังหลายเรื่องก็ดู "เร้าอารมณ์"
เกินกว่าเนื้อหาจริงๆของหนังหลายเรื่องเสียอีก หนึ่งในหนังที่ได้รับ
ความนิยมมากที่สุดคือ Her Nights ซึ่งตัวละครหญิงมีเพียงเสื้อเชิ้ตสีขาว
ของชู้รักของเธอปกปิดร่างกายเท่านั้น และเผยให้เห็นเรียวขา
นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้หนังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชม
ขณะที่ผู้สร้างหนังบางรายก็เลือกที่จะตัดแปะเอาภาพจากหนังฮอลลีวู้ด
ที่มีภาพของนักแสดงหญิงและชายกำลังจูบกันอย่างดูดดื่ม หรือเป็นภาพ
ของหญิงในชุดว่ายน้ำที่กำลังกระโดลงสระ ซึ่งก็มากพอที่จะสร้าง
จินตนาการของผู้ชมให้เตลิดไปไกล
อีกสาเหตุหนึ่งที่ ทำให้"หนังรอบเช้า"มีผู้ชมเกือบเต็มโรงในทุกรอบคือ ราคาตั๋วที่ถูกมาก เพียง 1-2 รูปีเท่านั้น ซึ่งแม้แต่เหล่าเด็กนักเรียนที่ไม่มีรายได้ก็สามารถเข้าไปดูได้สบายๆ
แน่นอนว่าในทุก วันนี้ หนังเรตอาร์เหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่หมดมนต์เสน่ห์ไปแล้วโดยสิ้นเชิง ละครซีรีส์ประโลมโลกย์แบบอเมริกัน อาทิ Sex and the City และ Two and a Half Men ดาหน้าเข้ามาฉายในช่วงเวลาทองอย่างไม่ลดละ ขณะที่เนื้อหาของมัน"ไปไกล"ยิ่งเสียกว่าหนังที่เราเรียกว่า"หนังเรตอาร์"ใน ยุคนั้นเสียอีก ซึ่งก็ไม่ต่างกับหนังบอลลีวู้ดในยุคปัจจุบันเท่าใดนัก ที่การขายเนื้อหนังมังสากันอย่างเปิดเผยของตัวละครกลายเป็นเรื่องปกติ
เช่นเดียวกับใบปิด หนังเหล่านั้น ที่มีชะตากรรมไม่ต่างจากหนังของมัน เริ่มกลับกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอีกครั้ง เมื่อมันถูกมองด้วยสาตาที่ต่างจากเดิม แต่ด้วยความเป็นศิลปะในคำจำกัดความใหม่ นักสะสมเริ่มเสาะแสวงหาอดีตอันรุ่งโรจน์ของมัน หลายรายต้องใช้เงินจำนวนหลายแสนดอลลาร์เพื่อแลกมากับใบปิดเพียงไม่กี่ใบ
และด้วยนิทรรศการ ดังกล่าวนี้เอง สุนิลหวังว่ามันจะช่วยให้มีคนสนใจศิลปะในใบปิดหนังเหล่านี้มากขึ้น ตลอดถึงให้คนในรุ่นหลังได้ระลึกย้อนถึงวัฒนธรรมต้องห้ามอันแสนวาบหวามของคน ในรุ่นก่อน