กำเนิดจากจีนแต่ยิ่งใหญ่สุดในแดนสยามตัวเลขของคนกินเจในเทศกาลเจเพิ่มพูนขึ้นทุกปี ยกให้เป็นขนบประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวไทยไปเสียแล้ว แม้วัฒนธรรมนี้จะมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็ตามที ยืนยันได้นาทีนี้ไม่มีเทศกาลกินเจที่ไหนในโลกที่ยิ่งใหญ่เท่าเมืองไทย เมื่อลองไปตามหารากแห่งการกินเจในแผ่นดินต้นกำเนิดผ่านคำบอกเล่าของนักประวัติศาสตร์จีน อย่าง อ.ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ที่ปรึกษาและผู้ช่วยอธิการบดี ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ถ่ายทอดให้ฟังว่า ความเชื่อในเทศกาลกินเจในเมืองจีนเป็นเรื่องคล้ายกับเป็นตำนานเสียมากกว่า ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อ้างอิงว่าเริ่มต้นในยุคไหน มีทั้งหมด 2 ตำนาน
ตำนานแรกมีความเชื่อว่าในสมัยโบราณมีเทพหรือพระราชาที่ปกครองมนุษย์ เรียกกันว่าเป็น “ราชามนุษย์”และพระองค์ท่านมีพระโอรส 9 องค์เกิดในวันเดียวกันคือ 9 ค่ำเดือน 9 ประเพณีกินเจ 9 วันในเดือน 9 ตามปฏิทินจีนก็คงเริ่มมาจากความเชื่อนี้
ส่วนตำนานที่ 2 ระบุว่าในปี พ.ศ. 2187 อันเป็นปีแห่งการสิ้นราชวงศ์หมิง มีจักรพรรดิฉงเจิงเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ประชาชนรักใคร่ เมื่อตอนที่จะแพ้สงครามครั้งที่ข้าศึกมาประชิดที่กรุงปักกิ่ง ฉงเจิงชิงผูกคอตาย ณ ด้านหลังภูเขาเหมยซังก่อนที่จะให้ข้าศึกจะมาประชิดตัว ต่อมาหลังจากสิ้นราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นกลุ่มแมนจูเข้ามาปกครอง กลุ่มแมนจูจะประกาศห้ามชาวจีนไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษหรือแม้ กระทั่งการทำบุญให้กับจักรพรรดิองค์ก่อน เมื่อถูกทางการห้ามชาวจีนที่ปฏิพัทธ์รักใคร่ในจักรพรรดิองค์ก่อน จึงกำหนดให้มีการ กินเจ แต่มีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำบุญให้กับจักรพรรดิองค์ก่อน ขณะเดียวกันคนจีนที่อพยพไปอยู่ต่างถิ่นก็นำวัฒนธรรมนี้ตามติดตัวไปด้วย
สอดคล้องกับการศึกษาของรองศาสตราจารย์พรพรรณ จันทโร นานนท์ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า ชาวจีนนำเรื่องนี้ไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จีน จนมีเรื่องเล่าขานแตกต่างกัน ชาวจีนเชื่อว่าการที่ชนกลุ่มน้อยอย่างแมนจูมีอำนาจเหนือชาวฮั่น ในปลายสมัยราชวงศ์หมิง ถือเป็นความทุกข์โศกอันยิ่งใหญ่ จนมีคำพูดติดปากว่า “ฝั่นชิงฝูหมิง” คือล้มราชวงศ์ชิงฟื้นฟูราชวงศ์หมิง
เมื่อครั้งราชวงศ์ชิงยึดราชวงศ์หมิง ข้าราชการที่มีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์หมิงต่างหนีการจับกุม โดยตั้งกลุ่มศาสนาเป็นการบังหน้าตามหัวเมืองต่าง ๆ และบางกลุ่มย้ายมาทาง เอเชียอาคเนย์ กลุ่มเหล่านี้หวังฟื้นฟูราชวงศ์หมิง จึงจัดเทศกาลทางศาสนาตามที่ตนนับถือ โดยเลือกวันที่ 9 เดือน 9 เป็นวันทำพิธี ขณะเดียวกันในประเทศจีนเองก็มีเทศกาลวันที่ 9 เดือน 9 เรียกว่า “ฉงหยางเจี๋ย” แปลว่าวันที่เป็นหยางซ้อนกัน 2 วัน
อ.ประพฤทธิ์ เสริมต่อว่าพิธีกรรมในประเพณีกินเจมีการผสมผสานทั้งวิถีของพุทธและลัทธิเต๋าเข้าไว้ด้วยกัน ดังแสดงออกมาจากการสวดมนต์ในศาลเจ้าตลอดในช่วงเทศกาลกินเจของพระสงฆ์ในฝ่าย มหายาน ขณะที่ศาลเจ้าเป็นความเชื่อของลัทธิเต๋า ตลอดจนการแสดงอิทธิฤทธิ์เช่นการลุยไฟ แทงลิ้นในงานเทศกาลถือศีลกินผักใน จ.ภูเก็ตได้รับอิทธิพลจากลัทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งสามารถเข้ากันได้อย่างสนิทแนบแน่นกับหลักศาสนาแบบพุทธมหายาน อีกทั้งพระในนิกายพุทธมหายานยังต้องกินเจด้วย
แม้ประเพณีกินเจจะเกิดขึ้นมาเกือบ 500 ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่ใช่ประเพณีหลักของชาวจีนแผ่นดินใหญ่เสียแล้วในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ของจีน ทำให้ประเพณีกินเจห่างหายไปด้วย
นักประวัติศาสตร์จีนจาก ม.หัวเฉียว กล่าวว่า ในสมัยที่จีน ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ มองว่าเรื่องกินเจเป็นเรื่องงมงาย แม้แต่การไหว้เคารพบรรพบุรุษเป็นการกระทำอันต้องห้ามในสมัยนั้น ชาวบ้านต้องปิดประตูหน้าต่างเพื่อไหว้บรรพบุรุษ แต่หลังจากปี พ.ศ. 2522 ทุกอย่างเปลี่ยนไปแนวคิดของเติ้งเสี่ยวผิงพยายามจะเปิดประเทศให้กว้างขึ้น หันมาติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ มีการส่งเสริม ฟื้นฟูวัฒนธรรมเดิม แต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ถูกหล่อหลอมกับวัฒนธรรมดั้งเดิม จึงไม่ค่อยใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับเทศกาลกินเจเท่าไรนัก
...เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่เทศกาลกินเจไม่เบ่งบานในแผ่นดินมังกร…
รองศาสตราจารย์พรพรรณ ระบุว่า เวลานี้ประเพณีกินเจที่จัดยิ่งใหญ่มีขึ้นที่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศสิงคโปร์ หรือมาเลเซียที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่อย่างหนาแน่นไม่มีการกินเจ 9 วัน และจัดได้ไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับเมืองไทยและถือว่าเป็นประเพณีหนึ่งที่ผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างดีเข้ากับคนไทยและคนไทยเชื้อสายจีนด้วยกัน อีกทั้งเป็นประเพณีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เห็นได้ชัดใน จ.ภูเก็ตที่มีการจัดงานกินเจมีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมงานจำนวนมาก
กลายเป็นอีกหนึ่งเทศกาลกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี.