ฮือฮา ...! สับปะรดกินไม่ต้องปอกเปลือก

         สับปะรด พันธุ์เพชรบุรี เป็นพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Queen กลุ่มเดียวกับพันธุ์ภูเก็ต สวีหรือตราดสีทอง โฉมใหม่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดงานเปิดตัวยิ่งใหญ่ ฉลองครบ 36 ปี

         แปลกดี นะ!! ....เมื่อสับปะรดกินได้ไม่ต้องปอกเปลือก  โดยกรมวิชาการเกษตรวิจัยสับปะรด "พันธุ์เพชรบุรี" หรือที่รู้จักกันว่า "สับปะรดไต้หวัน" มี ลักษณะเด่น บริเวณปลายคอดเล็ก ตาค่อนข้างใหญ่และนูนเล็กน้อย ทำให้สามารถแกะผลย่อยออกรับประทานได้ทันทีไม่ต้องปอก รสหวาน หอมแรง และเนื้อกรอบ  กำลังได้รับความนิยมอย่างยิ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

         เรื่องนี้ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า  ตลอดระยะเวลา 36 ปี กรมวิชาการเกษตรทำการวิจัยและพัฒนาพืชผลทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ได้ให้มีการพัฒนาพันธุ์สับปะรดกว่า 10 ปี จนกระทั่งได้สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี หรือที่เรียกกันว่า สับปะรดไต้หวัน ที่รับประทานได้ทันทีโดยไม่ต้องมานั่งปอกเปลือกเหมือนเช่นสับปะรดทั่วไป ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากตลาดอย่างมาก

         ลักษณะพิเศษของสับปะรดพันธุ์เพชรบุรีดังกล่าว คือสามารถแกะผลย่อย หรือตา (fruitlet) ออกจากกันได้ง่าย ทำ ให้สามารถแกะผลย่อยออกมารับประทานได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก  อีกทั้งแกนผลยังสามารถรับประทานได้ รสหวานอมเปรี้ยว  มีปริมาณกรดต่ำ กลิ่นหอมแรง เนื้อกรอบ สีเนื้อเหลืองอมส้มสม่ำเสมอ ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ภูเก็ต และสวี 17.7% และ 23.2% ตามลำดับ สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย

         สับปะรด พันธุ์เพชรบุรี เป็นพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Queen เช่นเดียวกับพันธุ์ภูเก็ต สวีหรือตราดสีทอง มีทรงพุ่มปานกลาง ใบค่อนข้างสั้น หนามลักษณะเป็นตะขอม้วนขึ้นไปหาปลายใบ มีช่อดอกแบบรวม (Spike) ดอกเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน กลีบดอกสีน้ำเงินปนม่วง มีลักษณะผลรวม ทรงเจดีย์ คือด้านล่างของผลใหญ่ บริเวณปลายจะคอดเล็ก ตาบริเวณปลายผลติดกับจุกไม่พัฒนา2 - 3 รอบ ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักเฉลี่ย 1.00 กก. ผลกว้างเฉลี่ย 11.9 ซม. ผลยาวเฉลี่ย 19.0 ซม. ตาค่อนข้างใหญ่และนูนเล็กน้อย  โดยมีอายุการเก็บเกี่ยวราว 126 วัน มีสีเปลือกผลแก่สีเขียว ผลสุกสีเหลืองอมส้ม (Yog 17 A-B)  สีเหลืองอมส้ม (Yog 16 A-B)

         สับปะรดพันธุ์เพชรบุรีเดิมเป็นพันธุ์ของประเทศไต้หวันในชื่อพันธุ์ Tainan 41 ในปี 2530 โดยนายสณทรรศน์ นันทะไชย เป็นผู้นำพันธุ์มาจากบริษัทส่งออกสับปะรดในรูปของ สับปะรดพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากการคัดเลือกสายต้น ( clone ) หรือการผสมพันธุ์ หลังจากได้รับจุกมาแล้วส่วนหนึ่งนำไปเพิ่มปริมาณหน่อโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อ เยื่อ

         นายสมชาย ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มตลาดสับปะรดว่า สับปะรดเป็นพืชที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากจะนิยมบริโภคสดแล้ว ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด สับปะรดแช่แข็ง สับปะรดกวน สับปะรดอบแห้ง และอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง เปลือกใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบใช้ทำเส้นใยและกระดาษ ซึ่งแต่ละปีจะทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างมาก

         ทางกรม วิชาการเกษตร  มุ่งสร้างการรับรู้สับปะรดพันธุ์ใหม่ดังกล่าวผ่านรูปแบบการทำกิจกรรมด้าน ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจัดนิทรรศการผลงานวิชาการของหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร   นิทรรศการของภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกร  มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทฤษฎีใหม่ เทคโนโลยีการผลิต และการแปรรูปสับปะรดครบวงจร  รวมถึงการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร

         ในโอกาสที่กรมวิชาการเกษตรได้รับการสถาปนาครบรอบ 36 ปีเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง โอกาสนี้ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 5 จึงได้จัดงานมหัศจรรย์พันธุ์สับปะรดเพชรบุรี 36 ปีกรมวิชาการเกษตรในวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรีถนนบายพาสชะอำ-ปราณบุรี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  เพื่อประชาสัมพันธ์สับปะรดพันธุ์ ”เพชรบุรี”

16 ก.ย. 54 เวลา 22:29 11,865 25 240
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...