ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

 “ชมพู่น้ำดอกไม้”  เค้าเป็นต้นไม้ในวงศ์เดียวกันกับ “รักแรกพบ”  สำหรับต้นนี้ “ชมพู่น้ำดอกไม้” เค้าสามารถติดผลได้ง่ายๆมีผลผลิตให้เรารับประทานกันได้หอมชื่นใจ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

“ชมพู่น้ำดอกไม้” เป็นชมพู่พื้นบ้านพื้นเมืองโบราณที่หาชมไม่ค่อยได้บ่อยนัก ขึ้นเองทั่วไปในป่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลายสายพันธุ์อยู่เหมือนกันครับ เนื่องจากเค้าเป็นพันธุ์ไม้โบราณที่หาได้ไม่บ่อยนักและแทบจะหาทานได้ยากมากๆ ในตลาดผลไม้ทั่วๆไป ผลของเค้าจึงขายกันในราคาค่อนข้างแพง

 

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

ต้นนี้ที่บ้านฟิ’โร่ปลูกมาประมาณ ๑๐ ปี+ นิดหน่อยครับ ใบของเค้าจะยาวเรียวปลายแหลม แตกต่างกับชมพู่ทั่วๆไปที่เราคุ้นตากันใช่ไหมครับ ต่างประเทศเรียกต้นนี้ว่า Rose Apple ครับ ในไทยก็มีหลายชื่อตามท้องถิ่นที่ต่างกัน เช่น ฝรั่งน้ำ, มะซามุด, มะน้ำหอม, มะห้าคอกลอก, ยามูปะนาว่า ฯลฯ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

คำว่าชมพู่ของไทย เชื่อว่าแผลงมาจากคำว่า จัมบู (Jambu) ในภาษามาเลย์นะครับ ซึ่งมาเลย์ก็รับคำนี้มาจากสันสกฤตของอินเดียอีกที ไทยก็รับมาใช้ต่ออีก ยกตัวอย่างซักคำนึงแล้วกัน ที่เราเรียกอินเดียแต่ก่อนว่า ชมพูทวีป ไงครับ ไม่ใช่ทวีปที่มีสีชมพูแต่อย่างใด แต่คือ แผ่นดินที่มีแต่ต้นชมพู่ นั่นเอง (เสริมมาจากท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง กล่าวว่า ชมพูทวีป มีที่มาจากต้นหว้า ไม่ใช่ต้นชมพู่ครับ)

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

ชอบความชื้นมากๆ แต่พอโตแล้วก็อยู่แล้งๆได้ แดดจัด รากไม่ทะลุทะลวงมาก จึงสามารถปลูกให้ร่มเงาใกล้ๆบ้านได้นะครับ เค้าปรับตัวเก่งสุดๆ อากาศสภาวะแบบไหนก็อยู่ได้แทบทั้งหมด อึดมาก แต่เนื้อไม้ไม่ค่อยได้คุณภาพ ไม่นิยมนำมาใช้ทำอะไรครับนอกจากฟืน อิอิ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

ช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แล้งๆแบบนี้เค้าจะให้ผลดกสุดครับ ตอนนี้ก็เริ่มแทงช่อกันเต็มเลย แต่จริงๆก็ทยอยออกกันทั้งปี ต่างประเทศก็จะให้ดอกผลกันไม่เหมือนกัน เดี๋ยวก็ดกหน้าหนาว หน้าฝน แล้วแต่ท้องที่เลยครับ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

ดอกจะบานอยู่ ๒-๓ วันรอเวลาการผสมเกสรจากแมลงแล้วก็จะโรยไป การติดผลไม่ยากนักแต่ก็ไม่ดกเท่าชมพู่สายพันธุ์ที่เราคุ้นเคยกันครับ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

เวลามีดอกจะมีพวกผึ้งหรือแมลงภู่มาตอมหึ่งๆบินฉวัดเฉวียนให้เราหวาดเสียว เล่นๆ ภูมิปัญญาชาวบ้านสำหรับการช่วยผสมเกสรก็คือ นำนมชงของน้องหนู หรือนมข้นหวานก็ได้มาละลายน้ำเจือจางแล้วนำมาฉีดที่ดอกแบบบางเบา เพื่อช่วยล่อให้แมลมาผสมเกสรได้นะครับ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

ของไทยจะเหลืองอ่อนๆแบบนี้ ส่วนของมาเลย์จะแดงทั้งลูก นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพันธุ์จนกลิ่นแรงขึ้นและเนื้อหวานขึ้นด้วย แต่จริงๆของไทยก็แดงได้ ถ้าโดนแดดนะครับ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

ผลใช้เป็นยาสมุนไพรในการทำยาหอมบำรุงหัวใจ เปลือกต้นและเมล็ดก็กล่าวว่าใช้บรรเทาอาการท้องเสียหรือเบาหวานได้ โดยมีการค้นคบ สารแทนนิน จากเปลือกซึ่งสามารถต่อต้านเชื้อ Bacteria ได้หลายชนิดครับ นอกจากนั้นเปลือกยังนำมาสกัดเป็นสารให้สีน้ำตาลได้ด้วยนะครับ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

นี่แหละครับ หันให้ดูข้างที่โดนแดดและไม่โดนแดดก็จะเป็นแบบนี้ ผลกลมไม่เหมือนจมูกเหมือนชมพู่ทั่วๆไป สมมุติฐานของการตั้งชื่อ “ชมพู่น้ำดอกไม้” ก็คงมาจากกลิ่นของเค้าครับ เพราะมีผลที่รับประทานได้ มีกลิ่นหอมถึงไม่แรงมากแต่กลิ่นแตกต่างกับผลไม้ทั่วไปที่มีกลิ่นหอม สมัยโบราณน่าจะนำมารับประทานเพื่อให้มีกลิ่นปากที่หอมจากภูมิปัญญารอบบ้านใน สมัยโบราณ จะเอาน้ำอบมากลั้วคอก็คงไม่ Work {-.-}?

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

ผลแก่จัดๆจะมีสีชมพูระเรื่อๆ กลิ่นหอมคล้ายๆดอกยี่หุบ ตอนแรกคิดว่าเหมือนดอกแมกโนเลียดอกใหญ่ผสมดอกกุหลาบ แต่สุดท้ายก็คล้ายดอกยี่หุบแต่แรงกว่า ๓.๕๒๑ เท่าบางคนก็บอกว่าเหมือนดอกนมแมว เลยมีอีกชื่อว่า “ชมพู่นมแมว” แต่ดมแล้วกลิ่นเค้าไม่คล้ายนมแมวเลย แล้วแต่จมูกผู้ดมแหละครับ กว่าจะสุกทานได้ก็ใช้เวลาประมาณ ๓ เดือนครับ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

รสชาติหวานๆแห้งๆ ชมพู่ทั่วๆไปอร่อยกว่า เนื้อชมพู่ชนิดนี้หอม แต่ไม่หวานมาก ที่สงสัยคือบางคนกล่าวว่าเมื่อวัดความหวานด้วย Brix Refractometer แล้ว วัดได้ ๑๖ องศาบริกซ์ (น้ำอ้อยมาตรฐานมีความหวานในช่วง ๑๓-๑๗ องศาบริกซ์) ซึ่งมันหวานมากๆ เลยคิดว่าหรือเราทานตอนที่ยังแก่ไม่จัดกันแน่นะ?

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

ลักษณะเด่นของชมพู่อีกอย่างก็คือ พอเราเพาะเมล็ดเค้า เค้าจะแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้วแต่ละเสี่ยงก็คือต้นนึง หนึ่งเมล็ดสามารถขึ้นได้ถึง ๘ ต้นเลย เลือกต้นที่แข็งแรงสุดดูดีมีอนาคตไว้เพียงต้นเดียวครับ ต้นที่เหลือที่แข่งกันโตขึ้นมาจากเม็ดเดียวกันให้ตัดทิ้งไปเลย เม็ดนี้มาจากผลที่ยังไม่แก่มากครับ เม็ดเลยยังไม่เป็นสีน้ำตาลเข้ม

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด, ตอนกิ่ง, ปักชำ เมล็ดงอกง่ายมากและโตเร็วมากๆอีกด้วย ที่เพาะไว้แป๊บเดียว สูงมาก เคยคุยกับชาวสวน เค้าบอกว่าใช้เวลาประมาณ ๒-๔ ปีก็เริ่มให้ดอกให้ผลแล้วครับเร็วดี ต้นนี้แมคแอบไปเล่นกีฬากระโดดสูงลักลอบเก็บผลของต้นแถวๆบ้านมาเพาะ ขึ้นทุกเม็ดครับ เพาะใส่ถ้วยพลาสติกเล็กๆสบายๆครับ

ชมพู่น้ำดอกไม้ – Syzygium jambos

นอกจากทานผลกรอบสดๆแล้ว ยังมีการนำไปแช่อิ่ม ทำแยม ทำน้ำเชื่อมผลไม้ หรือจะทำเป็นผักในอาหารคาวเลยก็มีครับ เมนูเหล่านี้เสิร์ชในเวปไซต์ต่างประเทศมีแยะเลย รูปนี้เอามาบิ (บิทำไมครับฟิ’โร่?) เทียบกับ Magnolia coco หรือ “ยี่หุบ” ของเรานั่นเอง

ถ้าเพื่อนๆผ่านตลาดต้นไม้แล้วเจอ “ชมพู่น้ำดอกไม้” ก็ลองหิ้วกลับมาเลี้ยงดูกันบ้างนะครับ มีอีกสายพันธุ์ที่หายากไม่แพ้กันหรืออาจจะยากกว่า “ชมพู่น้ำดอกไม้” ก็คือ “ชมพู่สาแหรก” ซึ่งผลคล้ายกับ “ชมพู่มะเหมี่ยว” แต่คนละต้นกัน ก็ลองหิ้วกลับบ้านมาอนุรักษ์กันได้นะครับ ถึงรสชาติจะสู้ชมพู่สายพันธุ์ใหม่ๆที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์วางขายให้เลือก ซื้อกันทั่วไปไม่ได้ก็ตาม แต่ด้วยความที่หายาก, คนไม่นิยมปลูกพบเจอได้ไม่บ่อยนี่แหละครับเลยทำให้ราคาสวนทางกันมากๆ

16 ก.ย. 54 เวลา 22:25 6,523 3 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...