มายา ตอน เมืองลับแลแต่บรรพกาล

เมืองลับแลแต่บรรพกาล

ครั้งหนึ่งขณะที่มิชชันนารีกลุ่มหนึ่งกำลังท่องไพรลึกที่มีแต่ป่าดงดิบราวกับป่าอะเมซอน พลันเมื่อหลุดจากทิวไม้หนาทึบ สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าคือตึกหินโบราณขนาดใหญ่สูงเทียมฟ้า คล้ายกับผุดขึ้นมาจากพื้นดินอันแสนกันดาร

การค้นพบอันยิ่งใหญ่อุบัติขึ้นทันใด เวลาคล้ายจะหยุดนิ่งตะลึงงันไปด้วยความน่าทึ่งของ “ปราสาทน้อยแห่งชิเช็นอิทซ่า (El Castillo)” ซึ่งเป็นฉายาที่ฝรั่งชาวชาติสเปนให้เรียกมันเมื่อแรกพบ แม้เป็นเพียงซาก แต่ก็เป็นซากที่สมบูรณ์จนน่าตกตะลึง ประกาศถึงอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ที่สุดของชาวมายา

ชิเช็นอิทซ่า (Chichen itza) กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวผจญภัยยอดนิยมของชาวอเมริกัน เพราะถือว่าใกล้บ้าน มีป่าเยอะ ให้ความรู้สึกคล้ายกับได้ท่องไปในเมืองลึกลับและอาถรรพ์ของพงไพร แต่สำหรับนักโบราณคดีแล้ว มันคือความมหัศจรรย์แห่งศักยภาพมนุษย์ที่สุดกำหนดได้ เพราะการสร้างอาคารหินขนาดใหญ่กลางป่าทึบ ในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องมือโลหะสักชิ้น บนพื้นที่ซึ่งไม่มีแม้แหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ และสิ่งก่อสร้างนั้นก็ยังออกมาใหญ่โตมหึมาอย่างเหลือเชื่อ มันจะเป็นไปได้อย่างไร ?

ต่อไปนี้คือ “ปริศนา” แห่งชิเช็นอิทซ่า ที่ชาวมายาทิ้งไว้

เมืองลับแลแต่บรรพกาล

หากเงยหน้าขึ้นไปยังยอดวิหารโบราณทรงพีระมิด จะพบกับวิวที่ให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมมายา แต่ในทางกลับกัน การได้ขึ้นไปยืนบนยอดพีระมิดแล้วมองลงมาเบื้องล่าง จะให้ความรู้สึกอลังการราวกับเป็นเจ้าโลก รอบข้างมีแต่ป่าดงดิบเขียวครึ้มตัดกับหมู่วิหารตึกที่สร้างจากหินปูนสีขาวสะอาดตา แต่อันที่จริงแล้วของดั้งเดิมนั้นฉาบไว้ด้วยปูนขาวทาสีแดง ซึ่งทำให้ไม่สะท้อนแสงให้แสบตา

การที่วิหารสร้างด้วยหินปูนนั้นเป็นเรื่องไม่น่าแปลกแต่อย่างใด เพราะนั่นเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายที่สุดในผืนดินละแวกนั้น แค่ขุดลงไปข้างใต้ไม่ถึงฟุตก็จะพบดินดานแข็งสีขาวซึ่งเป็นหินปูนแล้ว แต่ที่น่าแปลกคือเครื่องมือที่ใช้ขุดต่างหาก

เพราะชาวมายารุ่งเรืองขึ้นในช่วง 2,500 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นมนุษย์ยังไม่รู้จักวิธีการทำเครื่องมือโลหะ หรือการถลุงและหล่อโลหะมาใช้ในงานใด ๆ ดังนั้นอุปกรณ์ทั้งหลายทั้งปวงจึงมีแต่ค้อนหิวและสิ่วหินเท่านั้น ที่จะใช้สกัดก้อนอิฐออกมาประกอบเป็นพีระมิดได้ ยังไงก็ฟังดูยังง่ายอยู่ ไม่น่าจะเกินวิสัยมนุษย์ที่จะทำ

แต่หากพิจารณาดูถึงความจริงประการถัดมาซึ่งก็ถือ การที่จะสร้างเมืองใหญ่โตที่จุคนได้นับแสน ๆ คนนี้ จะต้องมีคนงานมากระดับหมู่บ้านย่อม ๆ และเมื่อมีแรงงานมาก ความต้องการในด้านสาธารณูปโภคก็ย่อมมากตามไปด้วย โดยเฉพาะน้ำซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีจนแทบพลิกแผ่นดิน ยังไม่ปรากฏเจอแหล่งน้ำ หรือแม้แต่ร่องรอยของลำธารใด ๆ เลยแม้แต่น้อย

นักภูมิศาสตร์ให้ข้อมูลว่า ชั้นดินปูนขาวที่ดาดอยู่ทั่วทั้งพื้นที่แถบนั้น เป็นตัวดูดน้ำฝนไว้ได้อย่างดี ทำให้แทบไม่เหลือน้ำฝนที่ล้นขึ้นมาได้พอที่จะเป็นลำธารในแถบนั้นได้เลย ข้อเสียของภูมิประเทศลักษณะนี้ จึงน่าจะมีอุปสรรคสำคัญต่อการดำรงชีวิตมาก ไม่ต้องพูดถึงการก่อสร้างเมืองขนาดใหญ่ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

เมื่อพบปัญหาดังนี้แล้ว นักโบราณคดีก็เกิดคิดขึ้นมาว่า ชาวมายานี้ต้องมีระบบการทดน้ำหรือกักเก็บน้ำไว้ใช้ อย่างเช่นฝายหรือเขื่อนเป็นแน่ เพราะแค่เมืองหนึ่งก็มีประชากรถึงราว 60,000 คน ถ้าจะมัวแต่วุ่นวายอยู่กับการรองน้ำฝนไว้ดื่มไว้ใช้คงพากันสูญพันธุ์กันไปตั้งแต่ก่อนที่จะสร้างเมืองเสร็จ

ความพยายามในการค้นหาอ่างเก็บน้ำที่ถูกหลงลืมไปนับพันปีจึงเกิดขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลือจากทางญี่ปุ่น ซึ่งส่งทั้งผู้เชี่ยวชาญและอุทิศห้องแล็บให้ใช้เพื่อตรวจดิน หิน แร่ ในแถบนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งผลที่ได้จากการค้นหาและวิจัยนั้นน่าสนใจมากทีเดียว ทั้งสิ่งที่ตั้งใจค้นพบ และสิ่งที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญ โดยเราจะกล่าวถึงในตอนต่อไป…

—โปรดติดตามตอนต่อไป—

 

ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~

Credit: Indepencil.com
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...