เมื่อวันที่ 12 ก.ย. น.ส.ปิยวรรณ นิยมวัน นักวิจัยจากกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ในระหว่างปีพ.ศ.2547-2550 คณะวิจัยได้เข้าศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่า ในดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยวิธีการเดินสำรวจ และการวางตาข่าย
ซึ่งผลการสำรวจทำให้พบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิดด้วยกัน คือ จิ้งเหลน และตุ๊กแกป่า โดยได้ตั้งชื่อเบื้องต้นว่า จิ้งเหลนห้วยเชียงดาว ในสกุล Tropidophorus sp. ตุ๊กแกป่าเชียงดาวใน สกุล Cyrtodactylus sp. และกำลังอยู่ในขั้นตอนการตีพิมพ์ชื่อวิทยาศาสตร์อย่างทางการต่อไป ซึ่งการสำรวจพบครั้งนี้เป็นไปด้วยความบังเอิญ
หลัง จากที่จิ้งเหลนรูปร่างหน้าตาประหลาด 4-5 ตัว หลงเข้ามาติดกับดักที่คณะทำงานตั้งไว้บริเวณป่าสนเขา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว หลังจากพิจารณาจากลักษณะรูปร่าง พบว่า มีลำตัวยาว ตัวออกสีน้ำตาลและมีเกล็ดที่บริเวณหัว วัดความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 5 ซ.ม. และหางยาวประมาณ 6 ซ.ม. ดูแปลกและแตกต่างจากจิ้งเหลนในประเทศทั่วไป เมื่อกลับไปเช็กดูและเทียบกับจิ้งเหลนในประเทศใกล้เคียงก็พบว่าไม่ซ้ำกับตัว ไหนเลย จึงน่าเชื่อว่าจะเป็นจิ้งเหลนพันธุ์ใหม่ของโลก
"ส่วน ตุ๊กแกป่าเจอแค่ตัวเดียว พบว่าตุ๊กแกตัวนี้มาติดตาข่ายดักนกแบบผิดธรรมชาติ ทำให้มีเพียงตัวอย่างตัวเดียวเท่านั้น แต่เมื่อนำมาตรวจสอบลักษณะทั่วไปและเทียบเคียงกับสัตว์ในกลุ่มเดียวกัน ก็เห็นความแตกต่างได้ชัด โดยลำตัวจะมีลวดลายสีน้ำตาลสลับกับสีเหลืองเล็กๆ สวยงาม และมีเกล็ด โดยตัวที่เจอมีความยาว 9 ซ.ม. คาดว่าน่าเป็นตัวเต็มวัย" นักวิจัยกล่าว
น.ส.ปิยวรรณกล่าวอีกว่า หลัง จากกลับมาตรวจสอบแล้วมั่นใจว่า สัตว์ทั้งสองชนิด เป็นพันธุ์ใหม่ของโลก คณะทำงานได้พยายามกลับเข้าไปสำรวจหาเพิ่มเติม แต่ก็ไม่สามารถหาตัวได้อีก เนื่องจากสัตว์ทั้งสองชนิดมีสีกลมกลืนกับป่า และอาศัยอยู่ในพื้นดิน ต้นไม้ หาเจอยากมาก จึงไม่ได้จำนวนเพิ่ม