เจ้าหญิงนิทราถูกข่มขืน

การข่มขืน การทำรุณกรรมเด็ก และการทอดทิ้ง 
เป็นเนื้อหาหลักของข่าวพาดหัวและภาพยนตร์สารคดีในยุคปัจจุบัน 
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ความจริงอันโหดร้ายนี้ก็เป็นแก่นเรื่องของนิทานอมตะ
ที่ประทับใจเราหลายต่อหลายเรื่อง เมื่อแรกที่นิทานเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้น 



ตัวอย่างเช่น เค้าโครงเรื่องเดิม "เจ้าหญิงนิทรา" นั้น
มิได้จบลงด้วยความสุขเมื่อเจ้าหญิงตื่นขึ้นด้วยจุมพิตอันแสนโรแมนติก ตรงกันข้าม 
เธอถูกข่มขืนในขณะหลับใหลจนตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกฝาแฝดชายหญิง
ซึ่งต้องผจญทุรกรรมเช่นเดียวกับแม่ ถูกจับไปแล่เนื้อปรุงเป็นอาหาร
โดยภรรยาใจร้ายของชายที่ข่มขืนแม่ของพวกตน 




ส่วนเรื่องเดิม "หนูน้อยหมวกแดง" นั้นโหดเหี้ยมไม่แพ้กัน 
หลังจากเจ้าหมาป่ากัดกินคุณยายแล้วก็กระโจนเข้าขย้ำหนูน้อยหมวกแดง 
ฉีกเธอออกเป็นชิ้น ๆ แต่เนื่องจากศิลปินผู้วาดภาพประกอบเห็นว่า
ความตายของสองยายหลานคู่นี้โหดร้ายมากเกินไป จึงเสนอให้ดัดแปลงเนื้อเรื่อง
โดยเพิ่มตัวละครนายพรานเข้ามาเพื่อฆ่าเจ้าหมาป่าใหญ่ใจร้าย 
และช่วยชีวิตหนูน้อยผู้น่าสงสารไว้ได้ในนาทีสุดท้าย

ทำไมผู้แต่งนิทานซึ่งเป็นที่นิยมเล่าสืบต่อกันมานับร้อย ๆ ปี
จึงเสนอความไร้ศีลธรรม ความโหดร้ายรุนแรงในเรื่องที่แต่งขึ้นสำหรับเด็ก 

คำตอบหนึ่งพยายามอรรถาธิบายโดยอิงสภาพสังคมในสมัย
พระราชินีอลิซาเบทที่ 1(ค.ศ. 1558-1630) เรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 
โดยชี้ว่าคนในยุคสมัยดังกล่าวมองว่า เด็กก็คือผู้ใหญ่ย่อส่วน 
ดังนั้นจึงไม่ต้องปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นพิเศษแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ 

ครอบครัวในครั้งกระโน้นอยู่เบียดเสียดรวมกันในบ้านซึ่งมีเพียงห้องเดียว 
เด็กจึงนอนดึกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ พวกเขาได้ยินได้ฟังคำพูดหยาบโลนและจดจำไปใช้ 
เด็กไม่ได้ถูกกันออกไปจากเรื่องเพศของผู้ใหญ่ 
พวกเขายังเห็นผู้ใหญ่เมาเหล้าและทำตามโดยลองหัดดื่มดูบ้าง
การลงโทษของบ้านเมืองในเวลานั้นไม่ว่าจะเป็นการโบยตี แขวนคอ 
คว้านไส้พุง หรือจับไส่ขื่อคา ทำกันที่จัตุรัสกลางเมืองท่ามกลางสาธารณชน 
เด็กเมื่อสามสี่ร้อยปีก่อนจึงคุ้นเคยชาชินกับความรุนแรง ความโหดร้าย และความตาย 

นิทานซึ่งถือกำเนิดในเวลาดังกล่าวจึงเป็นส่วนผสมของความนึกฝันอันแสนสนุกสนาน 
กับความจริงอันแสนโหดร้ายของชีวิต 
สำหรับผู้แต่งเอง การเสนอนิทานในลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องปกติ 
และไม่ถือว่าเป็นพิษเป็นภัยต่อเด็กแต่อย่างใด





บุคคุลผู้หนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญทำให้นิทานหลาย ๆ เรื่องที่เรารักเป็นอมตะ คือ 
ชาร์ลส์ แปร์โรลต์ แม้ว่าเขาไม่ได้แต่งนิทานเหล่านี้ขึ้นเองทั้งหมด
เพราะนิทานบางเรื่องเป็นวรรณกรรมปากเปล่า(มุขปาฐะ) 
บางเรื่องมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ก่อนแล้ว 
แต่ด้วยกลวิธีการเขียนและจินตนาการที่แปร์โรลต์สอดใส่เข้าไป 
ทำให้นิทานที่มีอยู่เดิมเป็นอมตะโด่งดังแพร่หลายไปทั่วโลก 

นิทานอมตะ 3 เรื่องที่เขาเขียนขึ้นใหม่จากเค้าโครงเรื่องเดิม 
คือ "เจ้าหญิงนิทรา" "ซินเดอเรลลา" และ "หนูน้อยหมวกแดง"

ชาร์ลส์ แปร์โรลต์ เกิดที่กรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1628 บิดาเป็นนักเขียนมีชื่อคนหนึ่ง 
เขามีประวัติเป็นนักเรียนสอบตก ชอบเปลี่ยนงาน ความไม่พอใจในระบบราชการ
ทำให้เขาหันมาเขียนนิทานที่เขามักเล่าให้ลูก ๆ ฟังก่อนนอน 
และแล้วเขาก็พบว่านี่แหละคืออาชีพที่เหมาะกับเขาที่สุด

ในปี ค.ศ. 1697 หนังสือเล่มสำคัญที่นำชื่อเสียงและความสำเร็จมาสู่ตัวเขา
ได้รับการตีพิมพ์ออกจำหน่ายในกรุงปารีส หนังสือเล่มนี้ชื่อ "นิทานเมื่อวันวาน" 
รวบรวมนิทานไว้ทั้งหมด 8 เรื่องด้วยกัน ปรากฏว่านิทาน 7 ใน 8 เรื่อง
ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แปลเป็นภาษาต่าง ๆ ออกไปทั่วโลก 
และได้กลายเป็นนิทานอมตะประทับใจเด็กทั่วโลกตราบจนทุกวันนี้ 

นิทานทั้ง 7 เรื่องในชื่อฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก คือ 
"The sleeping Beauty in the Wood" 
"Little Red Riding Hood" 
"Cinderella: or, The Little Glass Slipper" 
"Blue Beard" 
"Diamonds and Toads" 
"The Master Cat: or Puss in Boots" และ 
"Hop o'my Thumb"



อัจฉริยภาพของแปร์โรลต์คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า
เสน่ห์ของนิทานอยู่ที่ความเรียบง่าย เขาเติมแต่งเค้าเรื่องเดิมด้วยของวิเศษ 
เวทมนตร์ นางฟ้า และใช้สำนวนภาษาที่ไร้เดียงสาของเด็ก 
ดังนั้นนิทานของเขาจึงให้ความรู้สึกเหมือนเรื่องราวที่เด็กรับฟังมาจากพ่อแม่
แล้วเล่าให้เพื่อนฟังอีกต่อหนึ่ง

Credit: http://www.soccersuck.com/soccer/viewtopic.php?t=465676
#สาระ
NutLeopard
เด็กกองถ่าย
14 ก.ย. 54 เวลา 16:23 14,158 20 220
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...