เผยความลับราชตระกูลตุตันคามุน
(ตอนที่ 5 ตอนจบ)
สรุปว่ามาลาเรียคร่าชีวิตยุวกษัตริย์พระองค์นี้หรืออาจจะเป็นไปได้ เพราะโรคอาจไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้เกิดการช็อคของระบบไหลเวียนโลหิต อันนำไปสู่ภาวะตกเลือด ชัก โคม่า และสิ้นพระชมน์ในที่สุด อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนแย้งว่า มาลาเรียอาจเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในยุคนั้น และตุตันคามุนน่าจะทรงมีภูมิคุ้มกันบ้างแล้ว
[เปิดสุสาน ตุตันคามุน]
[ตุตันคามุนนอนอยู่ในโลงพระศพ มีหน้ากากทองคำครอบไว้]
[ตุตันคามุม เมื่อนำหน้ากากออก]
อย่างไรก็ดี พระพลานามัยของตุตันคามุนไม่ได้สมบูรณ์มาตั้งแต่อยูในพระครรภ์ด้วยซ้ำ พระบิดาและพระมารดาของพระองค์ต่างทรงเป็นพี่น้องร่วมสายพระโลหิต อียิปต์ในยุคฟาโรห์ ไม่ใช่สังคมเดียวในประวัติศาสตร์ที่ยอมรับการอภิเษกสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์ร่วมสายพระโลหิต ซึ่งเป็นกุศโลบายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง กระนั้นผลที่ตามมาอาจเป็นอย่างตรายอย่างยิ่ง เพราะพี่น้องที่แต่งงานกันเองมีแนวโน้มจะถ่ายทอดยีนด้อยที่ตรงกัน ทำให้ลูกที่เกิดมามีโอกาสเสี่ยงต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายลักษณะ ฝ่าพระบาทที่ผิดรูปผิดร่างของตุตันคามุนอาจเป็นผลมาจากความบกพร่องดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยว่าพระองค์อาจมีพระอาการเพดานโหว่บางส่วน บางทีพระองค์อาจทรงทนทุกข์ทรมานจากภาวะอื่น ๆ อีกด้วย จนกระทั่งพระโรคมาลาเรียขั้นรุนแรงหรือพระเพลาที่หักจากอุบัติเหตุ กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พระพลานามัยซึ่งไม่สมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่อาจแบกรับพยาธิสภาพได้อีกต่อไป
[ภาพของพระอัฐิบริเวณพระเพลาที่หักของตุตันคามุน]
นอกจากนี้ ยังอาจมีความจริงอันน่าปวดร้าว ซึ่งเป็นผลพวงของธรรมเนียมการอภิเษกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ร่วมสายพระโลหิต ฝังอยู่ในสุสานตุตันคามุนด้วย แม้ข้อมูลที่มีอยู่จะยังไม่สมบูรณ์นัก แต่การศึกษาบ่งชี้ว่า หนึ่งในมัมมี่ทารกในครรภ์ที่พบนั้นเป็นพระธิดาของพระองค์ ส่วนมัมมี่ทารกอีกพระศพหนึ่งนั่นก็อาจเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์ด้วยเช่นกัน
[ซ้าย : หีบชั้นในสุดของหีบพระศพจำลองชุดหนึ่ง ซึ่งพบในสุสานตุตันคามุน มีพระนามของพระนางไทยีจารึกอยู่ ภายในบรรจุปอยพระเกศา ซึ่งอาจเป็นเสมือนของรำลึกถึงพระอัยยิกาผู้เป็นที่รัก
ขวา : นักโบราณดคีพบมัมมี่ทารกในครรภ์อายุอย่างน้อย 7 เดือน ในสุสานตุตันคามุน พร้อมด้วยมัมมี่ทารกอีกร่างที่มีขนาดเล็กและบอบบางยิ่งกว่า ทารกหนึ่งในนั้นหรือทั้งสององค์ อาจเป็นพระธิดาของตุตันคามุน ]
จนถึงขณะนี้ เราได้ข้อมูลบางส่วนจากมัมมี่เพศหญิงสองร่างที่พบในสุสานเควี21 หนึ่งในนั้นคือเควี21เอ ที่น่าจะเป็นพระมารดาของทารกในครรภ์ทั้งสอง ซึ่งก็คืออังเคเซนามุน พระชายาของตุตันคามุนนั่นเอง เราทราบจากประวัติศาสตร์ว่า พระนางเป็นพระธิดาของฟาโรห์อเคนาเตนกับพระนางเนเฟอร์ตีติ ดังนั้นจึงน่าจะเป็นพระภคินี(พี่สาวหรือน้องสาว) ต่างพระมารดากับพระสวามี ผลที่ตามมาของการอภิเษกสมรสกันเองนี้ คือทารกในครรภ์ที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมจนไม่สามารถลืมตาดูโลกได้
[ภาพขยาย มัมมี่ทารกในครรภ์เพศหญิง ที่เชื่อว่าเป็นธิดาขององค์ฟาโรห์ตุตันคามุน]
บางทีนี่อาจเป็นบทอวสานของละครเรื่องนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ในตอนนี้ โดยยุวกษัตริย์และพระราชินีทรงพยายามสร้างรัชทายาทเพื่อสืบราชบัลลังก์อียิปต์ แต่ต้องทรงผิดหวัง ท่ามกลางกองศิลปวัตถุงดงามตระการตาที่ฝังรวมกับพระศพฟาโรห์ตุตันคามุน มีหีบประดับด้วยงาช้างใบน้อยรวมอยู่ด้วย บนหีบมีภาพสลักคู่สมรสผู้ทรงศักดิ์ ตุตันคามุนทรงเอนพระวรกายพิงธารพระกร ขณะที่พระมเหสีทรงยื่นช่อดอกไม้ถวายพระองค์ ในภาพสลักนี้และภาพอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าทั้งสองพระองค์ทรงรักใคร่กับอย่างดูดดื่ม
[ภาพสลักบนหีบประดับงาช้าง เป็นภาพขององค์ฟาโรห์ตุตันคามุน เคียงข้างกับพระมเหสี ข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวกับพระพลานามัย ทำให้เชื่อได้ว่า พระองค์อาจต้องพึ่งธารพระกรในการทรงพระราชดำเนิน]
เราทราบกันว่า หลังการสวรรคตของตุตันคามุน ราชินีแห่งอียิปต์ ซึ่งน่าจะเป็นอังเคเซนามุน ได้ทรงร้องขอต่อกษัตริย์แห่งฮิตไทต์ อริราชศัตรูของอียิปต์ ให้ส่งเจ้าชายมาเพื่ออภิเษกกับพระนาง โดยทรงให้เหตุผลว่า “พระสวามีของหม่อมฉันสิ้นพระชนม์แล้ว และหม่อมฉันไม่มีโอรส” กษัตริย์แห่งฮิตไทต์ส่งพระโอรสองค์หนึ่งมา แต่กลับมีอันเป็นไปก่อนเสด็จถึงอียิปต์ เชื่อว่าพระองค์อาจถูกลอบปลงพระชนม์โดยโฮเรมเฮบ แม่ทัพใหญ่ของกองทัพฟาโรห์ตุตันคามุน ผู้ซึ่งท้ายที่สุดได้ปราบดาภิเษกยึดครองราชบัลลังก์เสียเอง แต่กระนั้นโฮเรมเฮบก็สิ้นพระชนม์โดยไร้รัชทายาท ทำให้ราชบัลลังก์ตกเป็นของขุนศึกอีกนาย
[หลังการค้นพบสุสานเควี21 เมื่อปี 1817 นักโบราณคดีพบมัมมี่สตรีสองร่างในสภาพสมบูรณ์อยู่ภายใน ทว่าต่อมาถูกเหล่าโจรมือดีรุมทึ้ง ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอเบื้องต้นระบุว่า พระศพที่ไร้พระเศียร อาจเป็นพระมารดาของมัมมี่ทารกในครรภ์ หนึ่งในสองร่างที่พบในสุสานตุตันคามุน หากเป็นเช่นนั้นจริง สตรีผู้นี้ก็น่าจะเป็นอังเคเซนามุน พระธิดาของอเคนาเตน และเป็นพระมเหสีเพียงหนึ่งเดียวของตุตันคามุน ]
ฟาโรห์พระองค์ใหม่ทรงพระนามว่า รามเซสที่หนึ่ง ผู้ทรงขึ้นครองราชย์พร้อมสถาปนาราชวงศ์ใหม่ ครั้นล่วงถึงรัชสมัยฟาโรห์รามเซสมหาราชผู้เป็นพระราชนัดดา จักรวรรดิอียิปต์ได้ผงาดขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ทรงทำทุกวิถีทางเพื่อลบร่องรอยของอเคนาเตน ตุตันคามุน และฟาโรห์ “นอกรีต” พระองค์อื่น ๆ แห่งยุคอมาร์นาไปจากหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์ การสืบเสาะค้นหาของเราจึงมุ่งถวายพระเกียรติยศและรื้อฟื้นความทรงจำของราชันย์เหล่านี้มิ ให้ลบเลือนไปตราบนานเท่านาน
—– จบ —–
คลิปด้านล่างและภาพด้านบนจาก http://channel.nationalgeographic.com/
ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~